ไมค์ ระยอง : หนูทดลองสะท้อนความบิดเบี้ยวสังคม ขอคนข้างนอกไม่ลืมกัน

วันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 -17.00 น. ไอลอว์จัดกิจกรรม Stand together ส่งใจให้ผู้ต้องหา ก่อนเผชิญคำพิพากษา 112 ในเดือนมี.ค. 67  โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนหลักสามคน ได้แก่ ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ฟังคำพิพากษาคดีปราศรัยใน #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์  วันที่ 25 มี.ค. 67 ปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง ฟังคำพิพากษาคดีเผารูป ร. 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม  วันที่ 26 มี.ค. 67 และไมค์-ภาณุพงศ์ มะณีวงศ์ ฟังคำพิพากษาคดีโพสต์ #ราษฎรสาส์น ถึงร. 10 บนเฟซบุ๊ก วันที่ 28 มี.ค. 67   

เด็กธรรมดาที่ถูกความลำบากเคี่ยวกรำ เติบโตเป็นข้อต่อสวัสดิการสังคม

เขาเล่าย้อนถึงวัยเด็กที่ค่อนข้างลำบาก ต้องต่อสู้และตั้งคำถามเสมอในประเด็นต่างๆ จึงทำให้เขาเป็นเขาในวันนี้ “ความฝันที่เราเคยมี เราเคยฝันว่า อยากเป็นทนายเพราะว่า เรารู้สึกว่า เราไม่ชอบความอยุติธรรม…มันเคยมีผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกเราว่า ถ้าคุณไปว่าความแล้วฝ่ายตรงข้ามเป็นมาเฟียแล้วโดนยิงตายจะทำยังไง เราเลยรู้ว่า แสดงว่าสังคมนี้มันมีอำนาจที่มันมองไม่เห็นอยู่ในสังคมมันถึงมีคนพูดกับเราแบบนี้ เราเลยรู้สึกถ้าวันนั้นเรากลัว หรือถ้าวันนี้เรากลัวเราก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย…”

IMG_0362 2

ก่อนหน้าเข้าสู่วงการนักกิจกรรม เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของจังหวัดระยอง ทำงานกับเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ทำให้ทราบปัญหาของสวัสดิการเยอะมาก “เรียกตัวเองว่า เป็นโซ่ที่คอยเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในการขอเรื่องสวัสดิการต่างๆ ทำมาประมาณเจ็ดแปดปีได้จนเติบโตขึ้นมา” ระหว่างนั้นเขาทำโครงการเรื่องบ้าน อาหาร อาชีพ คือ เป็นการขอสนับสนุนจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อให้สนับสนุนในเรื่องของถุงยังชีพ 100 บ้าน ให้สามารถยังชีพให้ได้หนึ่งเดือน มีการดำเนินแจกไปเรื่อย ๆ 

จนกระทั่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีปัญหาเรื่องการบริหารของรัฐที่ให้ทหารอียิปต์ไปอยู่ที่จังหวัดระยอง ไม่มีการกักตัวและมีการออกไปเดินในที่สาธารณะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจมาตรการควบคุมโควิด 19 ของจังหวัด “วันนั้นมันก็เลยเกิดความอยากถาม ซึ่งจริงๆประเด็นวันนั้นที่ไปไม่ได้ต้องการที่อยากไปเป็นไมค์ในวันนี้ด้วย คือเราในฐานะภาคประชาชนเราแค่อยากหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลในฐานะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น”  เขาถามเรื่องความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและการเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ซึ่งบอกกับตำรวจไว้ล่วงหน้าด้วยซ้ำ แต่ท้ายที่สุดเมื่อถึงวันนัดกลับถูกสกัดกั้นการแสดงออกและมีความรุนแรง

“เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นในเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบอุ้มเรา โดยไม่ได้แจ้งว่า เราผิดข้อหาอะไร ผิดกระบวนการจับกุม ปกติแล้วถ้าเราจะจับกุมจะต้องชี้แจงหรือตั้งข้อกล่าวหาก่อน วันนั้นคือเป็นการอุ้มขึ้นรถแล้วออกไปจากพื้นที่เลย และมีการบอกว่า เดี๋ยวมีข้อกล่าวหาให้เอง เราก็ไม่ทราบจริงๆว่า อะไรขึ้น ทำให้เกิดแฮชแท็คขึ้นมาว่า ตำรวจระยองอุ้มประชาชน มันทำให้เรามี social power ขณะนั้น” หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งแรก จึงเกิดมาเป็น “ไมค์ ระยอง” ขึ้นมา เป็นสมญานามที่พี่ๆป้าๆในขบวนเคลื่อนไหวตั้งให้

หมายจับกับทนายอานนท์และวันคืนในเรือนจำ

ในคลื่นการชุมนุม 2563 ไมค์และอานนท์ นำภาถือเป็นนักกิจกรรมรายแรกๆที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง “วันนั้นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมานั่งข้างๆเลยแล้วบอกว่า ต้องเอาเราขึ้นศาลให้ได้ก็สั่งเลยวันนั้น…ด้วยความที่สำนวนยังไม่เสร็จก็ขอฝากเราไว้กับสน.บางเขนก่อนและย้ายไปห้วยขวาง รอกักขังเพื่อรอขึ้นศาล ครั้งแรกที่เราโดนเรากำลังจะไปเรียน เรากำลังจะไปฟังบรรยายที่รามฯ ก็ลงมาจากหอเพื่อนก็มาสั่งยำขนมจีน เหมือนเด็กจะกินข้าวไปโรงเรียนก็สั่งยำขนมจีน เพื่อนก็ทำยำขนมจีนและเอามาวาง แต่หลังจากวางปุ๊บยังไม่ได้กินเลยก็ถูกห้อมล้อมด้วยในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบประมาณสิบเกือบยี่สิบคน ตอนนั้นยังไม่รู้จักอานนท์อย่างดีเลย รู้จักแต่ว่าเอ้อ คนนี้คือทนายอานนท์”

dsc_1561

ไมค์และอานนท์ถูกฝากขังในเรือนจำมาแล้วห้ารอบพร้อมกัน การคุมขังอานนท์ในรอบล่าสุดตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 เป็นครั้งที่หกของอานนท์ ซึ่งยังรอบที่หกนี้ไม่ได้เข้าไปพร้อมกัน “เวลาเจอหน้าอานนท์ทีไรก็จะบอก เฮ้ยกูปูผ้ารอไว้แล้ว ก็บอกว่า มึงต้องเก็บผ้าออกมา เราเป็นพี่น้องที่สนิทมากกับพี่อานนท์ แล้วก็เราเป็นพี่น้องที่คุยกันได้ทุกเรื่องตั้งแต่หัวยันเท้า พูดง่ายๆแบบนี้เราเป็นหมอนวดประจำตัวอานนท์ในเรือนจำคือ เราผูกพันกันมากๆ แม้กระทั่งแม่น้อย แม่ของพี่อานนท์เองก็รักเราเป็นลูกคนนึง”

“เราจะต้องบอกแบบนี้ว่า ความกลัวมันมีอยู่แล้วในการโดนคดีหรือการเข้าไปในเรือนจำแต่ความที่มันไม่กลัวคือกำลังใจจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง ถามว่า คนรอบข้างเขาเครียดไหม อย่างแม่เราเขาเครียดอยู่แล้วในฐานะแม่ แต่เขาจะไม่เคยแสดงความเครียดหรือความอ่อนแอให้ลูกเห็นเลยเพราะว่า เขาจะถามเราว่า เป็นนักสู้ใช่ไหม คุณสู้ใช่ไหม ครั้งแรกที่เราเข้าเรือนจำคือวันที่ 3 กันยายน 2563 เราถูกตำรวจไปร้องขอถอนประกันกับอานนท์ นำภา เรากับอานนท์ถูกยกห้องพิจารณาคดีโดยไม่ให้นัดกัน แต่เรามีธงในใจอยู่แล้วก็อยากขังฉันก็จะสู้ วันนั้นเราถูกไต่สวนแต่ไม่ได้โดนถอนประกันแต่ให้วางหลักทรัพย์เพิ่ม…เราขออนุญาตศาลว่า ขอโทรหาแม่นิดนึงเผื่อแม่มีเงิน ถามแม่ว่า ฉันจะเข้าคุก เธอจะอยู่ได้ไหม คุยกับแม่คุยกันฉันกับเธอไม่ได้เป็นแม่ลูกผูกจิตคุณแม่ครับอะไรขนาดนั้น แม่เป็นทุกอย่างเพราะว่าแม่กับพ่อเราเลิกกันแล้วเราอยู่กับแม่เสมอ ฉันจะเข้าคุกเธอจะอยู่ได้ไหม แต่ก็เสียงสั่นเครือนะ เพราะว่าเราไม่เคยมีประสบการณ์เข้าคุกเข้าใจไหม มีแต่ภาพจำในหนัง ในภาพยนตร์ตลอดว่า มันคือความโหดร้าย มันคือความน่ากลัว เราก็โทรคุยกับแม่ แม่ก็บอกไหนบอกเป็นนักสู้ไง แค่นี้จะถอยแล้วหรอ สู้ไปเลยเอาให้สุด เราเลยตัดสินใจไม่วางหลักทรัพย์ประกันเพิ่ม มันก็ไปประจวบเหมาะกับอานนท์พอดีที่อานนท์ก็ตัดสินใจแบบนั้นเช่นเดียวกันก็เลยเป็นแพ็คคู่เข้าเรือนจำ”

“ก้าวแรกคือเหม่อคือ เราไม่รู้จริงๆว่าอะไรจะเกิดอะไรในภายภาคหน้า ประตูบานใหญ่ เราถูกตรวจค้นทุกซอกทุกมุม เราถูกละเมิดสิทธิโดยการให้เราแก้ผ้า เราเจ็บปวดมากนะ เรารู้สึกเจ็บปวดเราร้องไห้ในใจ แต่ตาเราแข็งเพื่อที่จะบอกทุกคนว่า กูไม่กลัวมึง แต่ในใจเราร้องไห้เพราะว่า เราไม่เคยแก้ผ้าให้ใครเห็นแล้วเราเป็นผู้ต้องหาออกสื่อ คนก็จะมามุงดูเราว่าหน้าตามึงเป็นแบบนี้หรอ ก็อายอ่ะ มันคือการโดนละเมิดสิทธิที่เรารับรู้ได้ในขั้นแรกเลย” ท้ายที่สุดเขาได้รับการปล่อยตัวภายในเวลาไม่กี่วันโดยตำรวจระบุว่า สอบปากคำเสร็จแล้ว ซึ่งย้อนแย้งกับปัจจุบันที่มีการขอฝากขังโดยอ้างการสอบปากคำและขยายเวลาหลายครั้ง

การไม่ถูกลืมเป็นความสุขที่ทำให้คนในเรือนจำพร้อมสู้ต่อ

ในคำถามเรื่องว่า อยากฝากอะไรถึงคนในเรือนจำที่ถูกฝากขังในเวลานี้ “เราฝากถึงคนข้างนอกดีกว่าว่า คนข้างนอกอย่าลืมเพื่อนอีก 40 กว่าคนที่กำลังสู้อยู่ ณ ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นบุ้ง ตะวัน เก็ท เพื่อนๆอีกหลายคนที่อยู่ข้างไหนไม่ว่าจะสุขสันต์ ไพฑูรย์ อย่าลืมพวกเขาขอให้จำชื่อพวกเขาและคอยติดตามพวกเขา” ไมค์บอกว่า การเขียนจดหมายถึงคนในเรือนจำเป็นสิ่งทีดีอย่างมาก ประสบการณ์ส่วนตัวของเขาในตอนที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เขาได้รับจดหมายซึ่งทำให้มีความสุขทุกครั้งไม่ว่าจดหมายดังกล่าวจะเขียนด้วยลายมือที่อ่านออกหรือไม่ก็ตาม “เรารู้ว่าคนข้างนอกไม่ลืมเรานั่นคือความสุขที่คนข้างในพร้อมที่จะต่อสู้ต่อไป…ผมไม่มีอะไรต้องเตรียมใจ[ก่อนคำพิพากษา] ทุกสิ่งทุกอย่างสังคมจะเป็นคนรู้แล้ว วิจารณ์เองว่าสิ่งเหล่านี้เนี่ยมันยุติธรรมหรือไม่เท่านั้นเลย ผมเปรียบตัวเองเป็นหนูทดลองแล้วกันเพื่อให้สังคมได้เห็นได้ชัดว่าความบิดเบี้ยวมันอยู่ที่สิ่งใดบ้าง”