วันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 17.00 น. ที่หน้าศาลอาญา Thumb rights องค์กรที่ทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิทางการเมืองจัดเสวนา“คนบีบแตรแปลว่า อาชญากร?” โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ นักกิจกรรมและเพื่อนของผู้ต้องขังทางการเมือง พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นการพูดคุยในเรื่องคดีการเมืองและผู้ต้องขังทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีบีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จของตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์และแฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ผู้ร่วมเสวนาชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่ถูก ‘ขยาย’ขึ้นและต่อเนื่องถึงตำรวจที่ตั้งข้อหาหนักเกินจริง และซ้ำด้วยศาลที่ไม่ให้ประกันตัว ทั้งหมดต่างเรียกร้องต่อผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและผู้บริหารประเทศให้เคารพสิทธิการประกันตัว
สถานการณ์จนถึงวันนี้มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองไม่น้อยกว่า 42 คน ในจำนวนนี้ 29 คนคดียังไม่ถึงที่สุดและมีสี่คนที่กำลังอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ได้แก่ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ตะวัน แฟรงค์และบัสบาส-มงคล ถิระโคตร
เมื่อถูกคุมขังอาวุธสุดท้ายคือร่างกาย ตะวัน-แฟรงค์ยังเดินหน้าอดอาหาร
สายน้ำเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีของตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์และแฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ยืนยันว่า วันดังกล่าวทั้งสองไม่ได้ทราบมาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จและจากภาพเหตุการณ์ของตะวันทั้งไลฟ์และวิดีโอจากกล้องหน้ารถด้านหน้าของรถตะวันมีเพียงตำรวจที่อยู่ด้านหน้าเท่านั้น วันดังกล่าวช่วงเย็นตะวันและแฟรงค์ไปร่วมงานฌาปนกิจของลุงกฤต ทะลุฟ้า ซึ่งเลิกค่อนข้างช้าและจากนั้นจึงแยกกันที่งานศพ “ผมก็ได้เห็นคลิปที่ไลฟ์สดพร้อมกับหลายๆคนในช่วงเย็นของวันนั้นแล้วก็จริงๆตอนแรกก็เห็นแล้วผมก็ผ่านไปก็ไม่ได้รู้สึกว่าอะไร จนกระทั่งหลายวันต่อมากลายเป็นว่ามีกระแสที่เป็นประเด็นขึ้นมา จะมีการถอนประกันตะวันแล้วก็มีการขู่ฆ่าตะวันในการเอาทะเบียนรถตะวันออกมาปล่อย ซึ่งตอนนั้นผมก็ตกใจเหมือนกันว่าทำไมมันกลายเป็นเรื่องขนาดนี้ได้แล้วก็หลังจากนั้นไม่นานก็มีหมายเรียกของสน.ดินแดงเป็นหมายเรียกคดีลหุโทษ ก่อความเดือดร้อนรำคาญ”
ซึ่งการออกหมายเรียกดังกล่าวเป็นการเรียกให้ไปพบในระยะเวลากระชั้นชิดจึงขอเลื่อนออกไป จนกระทั่งพนักงานสอบสวนของสน.ดินแดงไปขอศาลแขวงดุสิตออกหมายจับ แต่ศาลปฏิเสธไม่ออกหมายจับให้ จากนั้นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 จึงมาขอศาลอาญาออกหมายจับในคดีมาตรา 116 สายน้ำออกตัวว่า ไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์แต่มีข้อเท็จจริงบางส่วนที่พอจะยืนยันได้คือ “หนึ่ง ตะวันไม่รู้ว่าวันนั้นจะมีขบวนเสด็จ อย่างที่สองคือ วันนั้นตะวันไม่ได้ตั้งใจไปเพื่อเจอขบวนเสด็จ คือจริงๆแล้วหลายคนที่เดินทางใช้รถใช้ถนน ผมว่าเชื่อว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตต้องเคยเจอขบวนเสด็จอยู่แล้ว มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเจอขบวนเสด็จบนท้องถนน การที่ตะวันไปเจอขบวนเสด็จแล้วก็มีการออกมาอ้างว่าตะวันจงใจไปป่วน ผมว่าเป็นไปไม่ได้ คือวันนั้นที่งานศพมันเลิกช้ากว่าเวลาที่กำหนดด้วยซ้ำแล้วก็กว่าจะเดินทางเข้าเมืองมันไม่มีทางกะ/คาดการณ์ได้เลยว่าจะเสร็จกี่โมงแล้วเดินทางเข้าไปถึงตรงนั้นกี่โมง”
“หลายๆข่าวที่บอกไปว่าเป็นการป่วนขบวนเสด็จ เป็นการคุกคามขบวนเสด็จ ซึ่งสายน้ำรู้สึกว่าถ้าเราดูคลิปที่ตะวันไลฟ์สดจริงๆหรือว่า ดูคลิปกล้องหน้ารถที่ตะวันเอาออกมาเผยแพร่ไม่มีใครเห็นขบวนเสด็จเลย เห็นแต่รถตำรวจ…สายน้ำก็ดูคลิปวันนั้นสายน้ำก็ยังไม่รู้ว่า เป็นขบวนของใคร อะไร ยังไงเพราะว่า มันได้เห็นตัวขบวน มันเห็นแค่รถตำรวจ”
สายน้ำเล่าถึงสภาพร่างกายของตะวันที่อดอาหารเป็นเวลา 16 วันแล้วที่มีสภาพย่ำแย่กว่าการอดอาหารครั้งก่อน อาจเป็นเพราะว่า อดอาหารมาหลายครั้งแล้ว นอกจากเรื่องการอดอาหารที่ส่งผลต่อร่างกายแล้ว แต่สิ่งหนึ่งคือ เรื่องของสภาพจิตใจ “บางทีมันเหมือนฝันร้ายหรือว่าแม้กระทั่งมีอาการเบลอมีอาการต่างๆ ทำให้รู้สึกว่า การที่ตะวันแล้วก็แฟรงค์ รวมถึงบุ้งแล้วก็บัสบาสเอาร่างกายตัวเองเพื่อแลกกับข้อเรียกร้องของเขา เขายอมทุกอย่างเพื่อจะให้ข้อเรียกร้องของเขาได้ผล สิ่งที่เพื่อนอย่างพวกเราทำได้ก็คือเราก็ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของเขา อย่างแฟรงค์ในช่วงสองสามวันก่อนแฟรงค์ต้องใช้ท่อช่วยหายใจสอดเข้าไปที่จมูก เพื่อเติมออกซิเจนเข้าไปเนื่องจากว่า มีอาการชักเกร็ง แต่ว่าตอนนี้แฟรงค์ปฏิเสธที่จะใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไรถ้าหายใจไม่ออกก็ช่างมัน สายน้ำก็เป็นห่วงเขาทั้งสองคนรวมถึงคนอื่นๆด้วย วันเสาร์อาทิตย์หลายๆคนอาจจะไม่ทราบว่าเป็นวันที่ไม่สามารถเยี่ยมได้แล้วก็เป็นวันที่เคว้งคว้างมากๆสำหรับคนที่อยู่ข้างในยิ่งเขาอดน้ำและอาหารอยู่ เขาจะไม่รับรู้ข่าวจากข้างนอกและเราก็จะไม่ทราบอาการของเขาทั้งสองคนเลยว่าเป็นยังไงบ้าง”
ตำรวจตั้งข้อหาเกินจริง ขอศาลรักษาชีวิตและเคารพสิทธิประกันตัว
พูนสุข กล่าวว่า ในคดีของตะวันและแฟรงค์แรกเริ่มหมายเรียกเป็นข้อหาที่มีโทษปรับไม่ใช่มาตรา 116 เป็นเรื่องการก่อความเดือดร้อนรำคาญ แต่หมายจับที่ออกโดยศาลอาญากลายเป็นมีมาตรา 116 ซึ่งโทษเกินสามปี เมื่อเกินสามปีศาลก็ใช้ดุลพินิจออกหมายจับได้ ทั้งที่จริงๆแล้วไม่จำเป็นเพราะตัวตะวันเองไม่เคยหลบหนี ไม่มีประวัติการหลบหนีใดๆ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันค่อนข้างถูกขยายคือแน่นอนว่าพอเป็นเรื่องขบวนเสด็จ เราเข้าใจว่าเป็นเซนซิทีฟ แต่ว่าเราลองดูเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริงๆ และแม้กระทั่งในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาชัดเจนมากเลยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาตำรวจที่มาแจ้งความตะวันในตอนแรกแจ้งข้อหาก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทกรณีของแฟรงค์ที่อาจจะใช้คำพูดที่เจ้าพนักงานรู้สึกว่ามันเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานก็มีดูหมิ่นเจ้าพนักงานมาด้วยอะไร แต่ว่าบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา[ตอนหลัง]ไปถึงมาตรา 116 คือตำรวจมองว่าเป็นการยุยงปลุกปั่นก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องไปถึงขั้นนั้นเพราะว่าเหตุการณ์จากการโพสต์ด้วยซ้ำ…เอาจริงๆโพสต์นั้นมีคนไม่เห็นด้วยมากกว่า แล้วก็เขาโพสต์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่รู้หรอกว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง…”
“กระบวนการที่มันเกิดขึ้นมีการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินจริงแล้วก็มีการขยายความที่มันเกินกว่าข้อเท็จจริงที่มันมีจริงๆ ที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือว่ากลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมศาลเองไม่ให้ประกัน เจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงก็อาจจะมาเถียงกันในชั้นศาลก็ได้แต่พอถึงในช่วงจังหวะที่ศาลจะให้ประกันหรือไม่ให้ประกันและศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ทั้งๆที่มันพฤติการณ์ไม่รุนแรงและเขาก็ไม่ได้มีพฤติการณ์ในการหลบหนีด้วยซ้ำ ยิ่งความตั้งใจว่าจะก่อเหตุ มันก็เป็นเหตุที่บังเอิญมาประสบเจอกัน ณ ช่วงเวลานั้นพอดี ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไปก่อเหตุ หรือปั่นป่วนหรือก่อความวุ่นวายใดๆ เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีปัญหามากๆในการที่ไม่ให้สิทธิประกันตัวกับนักกิจกรรมในทางการเมือง”
“ตอนนี้มีคนที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง 42 คนด้วยกันในเรือนจำ 42 คนเป็นคนที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา 29 คนด้วยกัน คดีสิ้นสุดแล้ว 13 คน แปลว่า 29 คน เหล่านี้เขายังมีโอกาสต่อสู้คดีตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลสูง ยังมีโอกาสอีกว่าไม่รู้ว่าจะผิดหรือถูกเพราะฉะนั้นจริงๆเขาต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว หัวใจของกฎหมายอาญาก็คือว่าเราสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์เขามีสิทธิที่จะได้รับสิทธิในการประกันตัว แต่ว่าแนวโน้มตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาเราก็จะเห็นว่าจำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 กลับเป็นว่ามีคนที่ยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
“คุยกันที่หน้าศาลอาญาวันนี้ก็คือเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ต่อผู้บริหารประเทศอยู่ ณ ปัจจุบันด้วยว่าต้องจัดการปัญหาในเรื่องได้แล้ว แล้วก็ยิ่งสถานการณ์ที่สี่คนในเรือนจำ ณ ตอนนี้คือ บุ้ง ตะวัน แฟรงค์และบัสบาสที่อดข้าว อดอาหาร อดน้ำอยู่จนต้องเข้าโรงพยาบาล…ก็เป็นสถานการณ์ที่ควรจะต้องให้ความสนใจและเข้ามาจัดการได้แล้ว ก่อนหน้านี้เรามีแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนเรียกร้องให้ปลดปล่อยคดีความทางการเมืองกับนักกิจกรรมกับคนที่ออกมาชุมนุมมาใช้สิทธิเสรีภาพ แต่ว่าจริงๆยังไม่ต้องไปถึงขั้นนั้นก็ได้ สามารถปล่อยโดยกระบวนการทางกฎหมายคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการปล่อยได้เลยโดยไม่ต้องไปแก้ไขกฎหมายใดๆ เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญแล้วเราก็ควรจะต้องรักษาชีวิตคนไว้”
ขอศาลไม่เลือกปฏิบัติและตั้งธงตัดสินผู้เห็นต่างทางการเมือง
พรเพ็ญ ระบุว่า สังคมกำลังตกอยู่ในภาวะวิตกกังวลว่า เราจะสามารถทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้บ้างเพราะว่า สิ่งที่เรากำลังพูดถึงเรื่องการบีบแตร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาขวาง จริงๆการบีบแตรเป็นเรื่องที่เราต้องการแสดงออก ไม่ได้ฆ่าใครให้ตาย ไม่ได้ทำร้ายใครหัวแตกหรือว่าเป็นเรื่องของการทำร้ายคนอื่น ดังนั้นถ้าเรามีมาตรฐานในทางกฎหมายถึงขั้นที่ว่า บีบแตรและเป็นอาชญากรมันน่าเศร้าแล้วเราไม่ภาคภูมิใจเลยเวลาเราไปประชุมที่ต่างประเทศจะต้องไปพูดคุยเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จะบอกว่าเราอายแล้วรู้สึกว่า เราไม่มีตัวตนที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เวลาที่เราจะไปบอกว่า เราเป็นคนไทย ทุกคนมีข้อมูลที่มากกว่าเรามากในระดับเรื่องกระบวนการยุติธรรมว่าทำไมมันถึงเลวร้ายขนาดนี้ และหลายๆครั้ง เราอยากจะบอกเพื่อนๆต่างประเทศด้วยว่าระบบตุลาการของไทยไม่ใช่ระบบสากลที่สามารถเรียกร้องในสิ่งเดียวกันได้
เราเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมไทยมีความเป็นอิสระในทุกมิติ…ตุลาการไทยควรที่จะปฏิบัติกับทุกคนภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีอคติในการตัดสินหรือไม่มีธงในการตัดสินไว้ก่อนว่าบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองจะต้องอยู่ในเรือนจำและมีลักษณะที่เราเห็นเราคิดว่ามันเป็นการกลั่นแกล้ง ถ้าคนในคดีเดียวกันยอมที่จะปฏิบัติตนตามที่ศาลหรือตามที่กระบวนการยุติธรรมเสนอแนะให้ก็จะได้รับการเมตตากรุณา ซึ่งหลายๆครั้งมันเหมือนการแบ่งแยกและปกครองในหมู่ของผู้ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิด้วย ข้อเรียกร้องก็คืออยากจะให้กระบวนการตุลาการเป็นอิสระและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพื่อให้เป็นฐานของกระบวนการประชาธิปไตย
“เราผิดหวังมาหลายครั้งแล้วก็อยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ขอตัวอย่างสักสี่กรณีของคนที่กำลังอดอาหารอยู่ว่าถ้ามีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้ใช้ความเมตตาแล้วก็อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว”