พ่อยื่นประกันตะวัน-แฟรงค์ คดีบีบแตรใส่ตำรวจท้ายขบวนเสด็จ ศาลนัดฟังคำสั่งพรุ่งนี้ 13.30 น.

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. สมหมาย ตัวตุลานนท์ พ่อของตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวตะวันและแฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ในคดีมาตรา 116 จากการบีบแตรใส่ตำรวจที่ปิดท้ายขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์​ 2567 เป็นการยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่สาม ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา  13.30 น. ทั้งสองอดอาหารและน้ำเป็นวันที่ 11 แล้ว โดยอาการไม่สู้ดีนัก

ข่าว_ตะวัน-แฟรงก์

สมหมายเล่าอาการของตะวันที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และแฟรงค์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากการเข้าเยี่ยมเมื่อวานนี้ว่า “อาการของแฟรงค์แย่มากแย่สุดๆเลยเพราะว่าเขาเป็นคนผอมอยู่แล้ว แล้วก็ร่างกายของเขามันขาดน้ำด้วยขาดอาหารด้วย เบลอไปหมดพูดไม่ได้ฟุบ ครั้งสุดท้ายเพื่อนเขาบอกว่า ถ้าไม่ส่งไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็ตายที่นี่แหละ ส่วนตะวันที่ผมไปหาช่วงบ่ายนะครับ ร่างกายของตะวันนี้เหลือหนังหุ้มกระดูก แย่มากแล้วก็การพูดจากันเนี่ยมันมีแต่เสียงกระซิบคือแทบจะไม่ได้ยินเลย และก็เขาคือ มันหมดแล้ว ถ้าอีกไม่กี่วันเนี่ยผมไม่แน่ใจว่ามันจะจะสามารถที่จะแก้ไขทันไหมก็เลยคิดว่าวันนี้ ขอความเมตตาจากศาล ขอให้ศาลท่านเมตตาให้ออกมาในการที่รักษาตัวของน้องทั้งสองคน”

พ่อสมหมายเล่าย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุว่า วันดังกล่าวตะวันขออนุญาตไปงานศพของ “ลุงกฤต” ทะลุฟ้า แต่หลังเสร็จงานฌาปนกิจจึงขึ้นทางด่วนไปธุระ และเจอขบวนเสด็จ ในประเด็นเรื่องการไปยุ่งกับขบวนเสด็จโดยตั้งใจนั้นคงจะเป็นไปไม่ได้เพราะไม่ได้มีการทราบเวลาในการออกจากวังที่ประทับ เขาลองคำนวณตามคลิปที่ปรากฏในระยะเวลาประมาณ 31 วินาที โดยปกติรถขบวนเสด็จน่าจะวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งวิ่งห่างออกไปแล้ว และคิดว่า เด็กจะตามทันไปป่วนไหม มันไปป่วนไม่ได้และการบีบแตรป่วนจะบีบแตรป่วนที่ขบวนเสด็จได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะบีบแตรให้แก่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัย หรือบีบแตรที่ตำรวจคอยกันขบวนรถ ซึ่งมันมีอยู่ในคลิป และมีไอโอที่บอกว่า ไปจอดไปเบียด ไปแทรก ถ้าทำขนาดนั้นผมว่า ตำรวจมีปืนอยู่แล้ว ตายไปแล้ว ณ วันนั้นและถ้าหากทำผิดจริงตำรวจจับ ณ วันนั้น ไม่อย่างนั้นตำรวจโดนมาตรา 157 โดยวันแรกที่เห็นคลิปก็มีการต่อว่าเขาไปแล้วแต่ก็ไม่นึกว่าเรื่องมันจะเกิดขึ้นร้ายแรงขนาดนี้

ด้านสายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ระบุว่า ก่อนการจับกุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ตำรวจสน.ดินแดงออกหมายเรียกตะวันและแฟรงค์สองครั้ง โดยเป็นคดีร่วมกันก่อความเดือดร้อนรำคาญ ไม่มีข้อหามาตรา 116  แต่เนื่องจากมีความกระชั้นชิดจึงขอเลื่อนออกไป หมายเรียกครั้งที่สองออกมาระบุความผิดฐานเดียวกัน จากนั้นทราบว่า ตำรวจไปยื่นคำร้องขอศาลออกหมายจับทั้งสองต่อศาลแขวงดุสิต แต่ศาลยกคำร้องระบุทำนองว่า  เป็นการเรียกที่กระชั้นชิด หลังจากนั้นจึงทราบว่า ตำรวจขอศาลอาญาให้ออกหมายจับทั้งสอง โดยครั้งนี้มีข้อหาตามมาตรา 116 

“ในมุมสายน้ำ สายน้ำมองว่า ตอนแรกมันไม่ได้คิดว่า จะเป็นเรื่องใหญ่อะไรขนาดนี้ และอยู่ดีๆมันดันเป็นเรื่องขึ้นมาและมีเรื่องที่พารากอน มีศปปส.มาทำร้าย ซึ่งสายน้ำเป็นห่วงพวกมันว่าจะเป็นยังไงต่อ แต่ไม่คิดว่า จะถึงขั้นออกหมายจับ ทั้งที่ [แต่แรก] มันเป็นคดีที่ปรับได้โดยซ้ำ…ตอนแรกมันมีข่าวว่านักข่าวโดนจับและหลังจากนั้นมันมีข่าวว่าสายน้ำจะโดนจับ มันก็เครียดว่า สายน้ำจะโดนหรือเปล่า สรุปสายน้ำได้ประกันแต่มันไม่ได้”

“เจอตะวันล่าสุดวันทีส่งไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ มันผอมมากๆ ถ้าเอากันตรงๆสายน้ำอยู่กับมันในช่วงที่อดอาหารรอบที่แล้วที่ศาลฎีกา รอบนี้มันดูแย่กว่านั้นอีก ส่วนแฟรงค์ด้วยความที่มันเป็นคนตัวเล็กอยู่แล้ว จริงๆมันน้ำหนักน้อยกว่าตะวันด้วยซ้ำ ยิ่งอดอาหารมันยิ่งผอมหน้าตอบ วันศุกร์มีเพื่อนอีกคนเข้าเยี่ยม เขาบอกว่า เยี่ยมอยู่ดีๆมันฟุบไปเลยเกือบตกวีลแชร์…ร่างกายมันไม่ได้หายดีหรอก คนที่อดอาหารมา ตะวันรอบที่สามแล้ว จริงๆเขาบอกว่า รอบที่แล้วที่มันดูฟื้นได้เพราะอาจจะอายุมันน้อยอยู่ร่างกายมันเลยรักษาตัวได้ไว”

ในคำร้องขอปล่อยตัวของตะวัน  สมหมายในฐานะบิดาเขียนด้วยลายมือว่า “ศาลที่เคารพ ขณะนี้ลูกสาวของผม นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งถูกสั่งให้อยู่ใต้ความควบคุมของเรือนจำ ป่วยหนัก ขอให้ศาลปล่อยลูกผมออกมาเพื่อให้สามารถรักษาชีวิตของลูกไว้ด้วยครับ” 

“วันนี้เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันที่พุทธศาสนิกชน ทำบุญปล่อยนก ปล่อยปลา ได้ทำการอดอาหาร และน้ำจนมีอาการวิกฤตอยู่ขณะนี้ ทำให้เขาสามารถเสียชีวิตในเวลาอันใกล้ ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมเมื่อวาน (23/2/67) เขามีอาการซีด ผอมและทรมานมาก ข้าพเจ้าขอให้ศาลท่านโปรดเมตตาในการช่วยชีวิตบุตรีของข้าพเจ้า อีกทั้งจะให้เขากลับตัว กลับใจ ทำในสิ่งที่ดีดีเพื่อลบล้างสิ่งไม่ดีในอดีต อนึ่งขอให้ศาลท่านโปรดเมตตา น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ บุตรีของข้าพเจ้าเพื่อให้ออกมาสู้คดีอย่างยุติธรรม ข้าพเจ้าให้สัญญาว่า จะดูแล น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ บุตรีของข้าพเจ้าไม่ให้มีความประพฤติที่ไม่สมควรอีก และจะนำบุตรีของข้าพเจ้ามาตามนัดของเจ้าหน้าที่และศาลอย่างเคร่งครัด”

ส่วนของณัฐนนท์ สมหมายในฐานะผู้ปกครองเขียนด้วยลายมือว่า “ศาลที่เคารพ ขณะนี้นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ผู้ซึ่งเป็นพนักงานของข้าพเจ้า และได้อยู่กับข้าพเจ้า เปรียบเสมือนเป็นบุตรอีกคนของข้าพเจ้าอยู่ใต้ความควบคุมของเรือนจำ ป่วยหนัก ขอให้ศาลปล่อยตัวนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตรให้ผมสามารถรักษาชีวิตของเขาได้”

“วันนี้เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันที่พุทธศาสนิกชน ได้ทำบุญปล่อยนก ปล่อยปลา การที่นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ได้ทำการอดอาหารและอาการในขณะนี้มีวิกฤติทำให้อาจทำให้เสียชีวิตได้ในไม่ช้า จึงขอความกรุณาจากศาลให้ท่านปล่อยตัวในนายณัฐนนท์ให้เขาได้ประพฤติตัวและแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด และทำความดีให้คืนสังคมในครั้งต่อไป ข้าพเจ้าขอให้สัญญาว่า จะอบรมสั่งสอนให้นายณัฐนนท์ ไม่ให้มีความประพฤติที่ไม่สมควร และจะพามาพบเจ้าหน้าที่และศาลตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด” 

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ