ถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ ตำรวจให้พิมพ์ลายนิ้วมือได้เฉพาะคดีที่จำเป็น

14 พฤศจิกายน 2566 ศาลแขวงปทุมวันนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน จากการปฏิเสธ “ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ” ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือได้เฉพาะเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเท่านั้น เมื่อเป็นคดีที่ไม่มีความจำเป็นจำเลยปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ก็ไม่มีความผิด ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับนี้เป็นที่สุดแล้ว

เหตุแห่งคดีนี้เริ่มจากยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองและถูกตำรวจตั้งข้อหาฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยิ่งชีพจึงตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทางอาญาหลายคดี และเมื่อยิ่งชีพไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนที่สน.ลุมพินี้ ในคดีแรกก็ได้ให้ความร่วมมือและยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ประกอบการสอบสวน แต่เมื่อยิ่งชีพไปรายงานตัวที่สน.ลุมพินี แห่งเดิม กับพนักงานสอบสวนคนเดิมในคดีต่อๆ มาอีกสามคดี ยิ่งชีพสอบถามสาเหตุที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือซ้ำ และพนักงานสอบสวนให้คำอธิบายไม่ได้ ยิ่งชีพจึงปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ

ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี ตั้งข้อหาต่อยิ่งชีพ เพิ่มฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 จากการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือสามครั้ง เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาอีกสามคดี และพนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวัน โดยศาลแขวงปทุมวันพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ให้ยกฟ้องโดยระบุว่า แม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ในคดีนี้การให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้เป็นประโยชน์ในการสอบสวนคดี เพราะจำเลยรับว่า ร่วมชุมนุมและเป็นบุคคลตามภาพถ่ายแล้ว

พนักงานอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงวันที่ 10 สิงหาคม 2566 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 29204/2566 โดยพิพากษายกฟ้อง ระบุเหตุผล ดังนี้

แม้อาจเป็นการ “ตีตรา” แต่ก็ยังต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ

แม้การพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนทำให้ผู้ต้องหาปรากฏนิ้วมือสีดำทั้ง 10 นิ้วกลับบ้านไป ลบไม่ออกในเวลาอันสั้น และทำให้คนอื่นที่พบเห็นรับรู้ว่าคนนิ้วดำดังกล่าวคือบุคคลที่ผ่านกระบวนการในฐานะผู้ต้องหาหรือเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามาแล้ว เกิดความไม่ไว้วางใจและอาจดูหมิ่นเหยียดหยามคนนิ้วดำดังที่จำเลยนำสืบก็ตาม แต่เมื่อเกิดคดีอาญาขึ้นก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดมาให้ได้มากที่สุดเพื่อทราบข้อเท็จจริงต่างๆ อันเกี่ยวกับคดีความผิดที่เกิดขึ้น ทั้งเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ซึ่งลายพิมพ์นิ้วมือนอกจากจะพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาคนนั้นเกี่ยวข้องหรืออยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว ก็ยังอาจช่วยพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาคนนั้นไม่เกี่ยวข้องหรือไม่อยู่ในที่เกิดเหตุได้ด้วย 

พิมพ์ลายนิ้วมือ ต้องทำเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีเท่านั้น

คำว่า “ ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้” ตามมาตรา 131 ก็ดี  “เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมพยานหลักฐาน” ตามมาตรามาตรา 132 ก็ดี ย่อมหมายถึงพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับคดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเท่านั้น

เมื่อคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวเป็นคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่สั่งให้จำเลยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาให้พิมพ์ลายนิ้วมือ คำสั่งดังกล่าวจะเป็นคำสั่งโดยชอบก็ต้องหมายถึง เป็นไปเพื่อใช้ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหา 

แต่ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความว่า  ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในคดีอื่นที่ถูกกล่าวหามาแล้ว พนักงานสอบสวนมิได้ใช้ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยแต่อย่างใด จำเลยก็อ้างว่าจำเลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเพราะจำเลยเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรหรือจำเป็นให้ต้องพิมพ์ลายนิ้วมืออีก โดยเหตุผลว่าหากพนักงานสอบสวนต้องการตรวจสอบว่าจำเลยเคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อนหรือไม่อย่างไร ก็สามารถขอข้อมูลจากพนักงานสอบสวนในคดีก่อนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องสั่งหรือบังคับให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมืออีก

พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำประวัติอาชญากร ฟังไม่ขึ้น

ศาลเองก็ไม่เชื่อว่าหากไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลยแล้วทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการกระทำความผิดของจำเลยได้  เพราะแม้แต่ในคดีอื่นจำนวนมากที่ศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยในคดีนั้นๆ พนักงานคุมประพฤติก็สามารถระบุประวัติการกระทำความผิดของจำเลยนั้นๆ ได้โดยละเอียดโดยที่พนักงานคุมประพฤติมิได้สั่งให้จำเลยนั้นๆ พิมพ์ลายนิ้วมือก่อนแต่อย่างใด

ฉะนั้นเหตุที่โจทก์อ้างว่าต้องให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเพราะจำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบว่าจำเลยเคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อนหรือไม่ กับเหตุที่โจทก์อ้างว่าการให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นขั้นตอนหนึ่งในการสอบสวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้พนักงานสอบสวนกระทำ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยวัตถุประสงค์ที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือจำเลยนั้นเป็นวิธีการในการจัดเก็บประวัติบุคคลในแต่ละคดีเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร จึงฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้การจัดจัดเก็บประวัติบุคคลในแต่ละคดีเข้าสู่ระบบระบบฐานข้อมูลกองทะเบียนประวัติอาชญากรก็สามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาหรือจำเลยเสียก่อน  ไม่ปรากฏหลักฐานของโจทก์ที่แสดงให้เห็นว่าคดีใดที่ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากรได้

เทคโนโลยีก้าวหน้าแล้ว หน่วยงานอื่นใช้วิธีเก็บลายนิ้วมือแบบใหม่แล้ว

ที่โจทก์อ้างว่าแม้จะมีพระราชบัญญัติการบริหารและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 ประกาศใช้บังคับแล้ว แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการใด การดำเนินการคงมีเพียงการให้พิมพ์ลายนิ้วมือเท่านั้น เท่ากับโจทก์อ้างว่ากฎหมายยังไม่มีผลบังคับแก่โจทก์จนกว่าจะสามารถจัดซื้อเครื่องมือหรือคิดค้นวิธีการได้เสียก่อน แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็ไม่มีบทเฉพาะกาลให้มีผลบังคับใช้ต่อเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเครื่องมือหรือวิธีการใดตามที่โจทก์อ้างเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ 

นอกจากนี้ในปัจจุบันด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเช่นลายพิมพ์นิ้วมือมีความสำคัญยิ่ง หลายหน่วยงานของราชการที่ต้องการพิมพ์ลายนิ้วมือก็มิได้ใช้วิธีการพิมพ์นิ้วมืออย่างเช่นที่พนักงานสอบสวนกระทำแล้ว อาทิ การทำหนังสือเดินทางที่กรมการกงสุลต้องการข้อมูลลายนิ้วมือก็มิได้ให้ผู้ต้องการทำหนังสือเดินทางใช้นิ้วมือจิ้มหมึกดำแล้วพิมพ์ลายนิ้วมืออีกต่อไป หากแต่ใช้วิธีเก็บลายนิ้วมือเข้าสู่ระบบข้อมูลโดยตรง หลายหน่วยงานของราชการและเอกชนก็ดำเนินการเช่นนี้

การพิมพ์ลายนิ้วมือในลักษณะดังเช่นที่พนักงานสอบสวนกระทำอาจเป็นเหตุให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลและมีคนนำไปใช้ประโยชน์ในทางทุจริตได้  โดยอาจมีคนแอบถ่ายภาพหรือสแกนลายพิมพ์นิ้วมือแล้วนำไปใช้กับโทรศัพท์มือถือของผู้ที่เป็นเหยื่อ หรือใช้ลายพิมพ์นิ้วมือที่คัดลอกดังกล่าวเป็นรหัสเปิดเครื่องมือเครื่องใช้หรือเปิดระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเหยื่อ หรืออาจใช้ลายพิมพ์นิ้วมือที่คัดลอกดังกล่าวเป็นรหัสเปิดประตูบ้าน เปิดประตูห้องพัก หรือประตูสำนักงานของเหยื่อที่ใช้ลายพิมพ์นิ้วมือเป็นรหัสได้

ไม่เชื่อว่าจะฟ้องคดีไม่ได้ ถ้าไม่มีลายพิมพ์นิ้วมือ

ฉะนั้น พนักงานสอบสวนควรสั่งให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 และมาตรา 132 เท่านั้น กรณีที่ลายพิมพ์นิ้วมือ ไม่จำเป็นแก่คดี ที่จำเลยตกเป็นผู้ต้องหานั้น พนักงานสอบสวนจะสั่งให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือโดยจำเลยไม่ยินยอมหาได้ไม่

หากพนักงานสอบสวนเห็นว่าการที่ผู้ต้องหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือจะทำให้พนักงานสอบสวนต้องถูกตำหนิตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พนักงานสอบสวนก็ชอบที่ระบุเหตุผลและรายละเอียดในเรื่องที่ผู้ต้องหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือรวมในสำนวนไว้และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อดำเนินการต่อไป หรือหากพนักงานสอบสวนเกรงว่าพนักงานอัยการจะไม่รับฟ้องคดีให้เพราะเหตุจำเลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนก็ชอบที่จะระบุเหตุผลและรายละเอียดในเรื่องนี้รวมในสำนวนไว้แล้วส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป หากพนักงานอัยการไม่ดำเนินการฟ้องคดีให้ดังที่พนักงานสอบสวนอ้าง พนักงานอัยการย่อมต้องระบุเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมายไว้ และมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแล้วดำเนินการอันเป็นลำดับต่อไป

และหากเกิดความเสียหายแก่ระบบยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร ผู้มีส่วนได้เสียย่อมสามารถดำเนินการตามกฏหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ไม่เชื่อว่าพนักงานอัยการจะไม่ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาเพราะเหตุจำเลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากหากพนักงานอัยการไม่ฟ้องจำเลยเพราะเหตุจำเลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือโจทก์ก็ย่อมสามารถนำพนักงานอัยการมาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ได้ว่ามีมีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือหรือนำคำสั่งของพนักงานอัยการมาแสดงต่อศาลได้ แต่โจทก์หาได้นำมาแสดงต่อศาลไม่

เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 และมาตรามาตรา 132 การจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ส่วนเหตุที่จำเลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเพราะทำให้นิ้วดำหรือทำให้มีปัญหาทางสุขภาพอนามัยหรือไม่นั้น ไม่เป็นสาระแก่คดี อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หลังอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาที่จะยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีนี้ โดยระบุว่าต้องเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำความเห็นว่าจะยื่นฎีกาต่อหรือไม่ แต่หลังสิ้นสุดระยะเวลาที่ต้องยื่นฎีกาแล้ว พนักงานอัยการไม่ได้ยื่นฎีกา และไม่ขอขยายระยะเวลาต่อ ทำให้คดีนี้ถึงที่สุดที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับนี้ และเป็นการวางบรรทัดฐานอำนาจของตำรวจที่จะสั่งให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือ และภาระของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ