ทัศนีย์เล่าคดีจดหมายประชามติในยุคทหารครองเมืองไม่อนุญาตให้ ‘คิดต่าง’

6 กุมภาพันธ์ 2567 ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตสส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่เล่าถึงประสบการณ์ความเป็น “เหยื่อ” ในคดีการเมืองช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ในงาน Drink and Talk : เมื่อความรุนแรงโดยรัฐล้นศาล ‘นิรโทษกรรม’ ทางออกกระบวนการยุติธรรมไทย ทัศนีย์ถูกกล่าวหาว่า เป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และก่อให้เกิดความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ จากการส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นอำนาจของสว.  จากเหตุนี้ทำให้เธอ คนในครอบครัวและทีมงานต้องถูกจับกุมร่วม 15 คน บางคนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายแต่อย่างใด ต้องเข้าเรือนจำระหว่างชั้นสอบสวนเกือบเดือน สู้คดีในศาลทหารและพลเรือนร่วมสี่ปี ท้ายสุดศาลยกฟ้อง 

คดีจดหมายประชามติเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกในยุคคสช. จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองจำนวนมาก หากคุณเห็นด้วยว่า คดีความเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นธรรม ร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนได้ที่นี่

ทัศนีย์เล่าคดีจดหมายประชามติในยุคทหารครองเมืองไม่อนุญาตให้ ‘คิดต่าง’

เริ่มจากจดหมายประชามติ ส่งความเห็นเรื่องสว.ให้คนเชียงใหม่

“กุ้งเป็นเหยื่อทางการเมือง…เป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นเหยื่อทางการเมืองหลังรัฐประหาร มันไม่มีอะไรมากเลยคือการเมืองคิดว่ามันเป็นแค่ความคิดเห็นที่แตกต่างในระบอบประชาธิปไตยของเรา ก็เกิดมาเป็นมนุษย์ มันไม่สามารถบังคับให้คนเราคิดเหมือนกันได้หมด แล้วเราก็จะไปคิดเหมือนผู้มีอำนาจมันก็เป็นไปไม่ได้ ยิ่งผู้มีอำนาจทำรัฐประหารมา ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย”

“ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเขาต้องร่างรัฐธรรมนูญก่อน ก่อนร่างรัฐธรรมนูญเขามีการทำประชามติ กุ้งเป็นเหยื่อคดีเรื่องประชามติ คือแสดงออกทางการเมืองแสดงออกทางความคิดเห็น ซึ่งไม่ได้เป็นคำพูดด้วยซ้ำมันเป็นเพียงแค่การกระทำซึ่งการกระทำ ซึ่งการกระทำที่กุ้งทำ ข่าวเสนอมาบางคนอาจจะตกใจบอกว่าปลอมแปลงร่างรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆแล้ว สิ่งที่กุ้งทำคือกุ้งแสดงความคิดเห็นผ่านจดหมายฉบับนึงเท่านั้นเองในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญที่พี่น้องประชาชนควรจะได้รับรู้ โดยเฉพาะเรื่องที่มาของสว.และบทบาทของสว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แค่นั้นความมันเป็นการแสดงความคิดเห็นแค่กระดาษหนึ่งแผ่น ให้ทุกคนลองนึกภาพเหตุการณ์ กระดาษหนึ่งแผ่นกุ้งส่งทางไปรษณีย์ กุ้งคิดว่า ส่งไปรษณีย์ไม่ผิดเพราะคิดง่ายๆเลยว่า ทำไมคณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเอกสารให้เราทำทางไปรษณีย์ กุ้งก็ทำความคิดเห็นกุ้งส่งไปให้พี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของกุ้งว่า มีความคิดยังไงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้นเอง แต่หลังจากที่จดหมายออกไปคาดว่ายังไม่ถึงพี่น้องประชาชนมากพอสมควรเลย ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่มาก”

“ฝ่ายความมั่นคงทั้งหมดเข้ามารุมเกี่ยวกับเรื่องการส่งจดหมายฉบับนี้ ตั้งข้อหาเสียใหญ่โต ล้อมจับกุ้งและครอบครัว เหมือนเป็นอาชญากรสงครามเชื่อไหมคะว่าน้องสาวกุ้งเป็นผู้หญิงเป็นทันตแพทย์แต่ถูกล้อมที่หน้าบ้าน ปิดซอยเลยผู้คนแถวบ้านตกใจกันหมดว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะมีทั้งทหารตำรวจและฝ่ายปกครอง 40-50 คน ล้อมซอยไว้เลย ส่วนที่ทำงานนั้นเอาทหารเอาตำรวจมาค้นออฟฟิศจนน่ากลัวแล้วออกข่าวให้ใหญ่โต…ทำเหมือนเป็นคนก่อการร้ายที่ก่ออาชญากรรม ทำถึงขนาดนั้นเลย ตั้งข้อหา กุ้งไม่เคยได้ยินข้อหาคืออั้งยี่ ซ่องโจร เมื่อก่อนได้ยินเหมือนในละครซึ่งเขาไม่น่าจะใช้กันแล้ว แต่ว่ามาเริ่มเห็นมาเริ่มใช้ อยู่ดีๆตั้งข้อหาคือมีมาตรา 116 พ.ร.บ.ประชามติฯ อั้งยี่และซ่องโจร เขาใช้มาตรา 44 ในการควบคุมตัวก่อน คือหมายความว่าการที่จะไปล้อมจับน้องกุ้ง กุ้งได้ส่งสัญญาณบอกผบ.ตร.แล้วว่า กุ้งจะขอเข้าไปมอบตัว เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิดทั้งนั้น กุ้งนัดผบ.ตร.แล้วก็ไปมอบตัวในวันนั้น ก่อนที่กุ้งจะไปมอบตัว คืนนั้นเขาใช้กำลังล้อมที่จะจับน้องสาวกุ้งที่บ้าน ที่บ้านก็เจรจาว่า เดี๋ยวตอนเช้าจะพาน้องไปที่ค่ายมทบ. 33 พาน้องกับคณะไป” 

ทัศนีย์อธิบายว่า ในการจับกุมคดีจดหมายประชามตินี้ เจ้าหน้าที่รัฐมีการจับกุมในลักษณะหว่านแห ทั้งคนในครอบครัวและคณะทำงานของเธอ รวมถึงคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย  “ที่น่าสงสัยที่สุดคือมันพยายามจับคนจำนวนมากแม้กระทั่งผู้ไม่รู้เห็นอะไรทั้งนั้นเพียงแต่ไปซื้อซอง  คือกุ้งไปซื้อซองจดหมายที่แม็คโคร แน่นอนมันต้องใช้ที่อยู่บริษัทแล้วมีพี่ทีมงานอีกคนหนึ่ง บังเอิญวันนั้นตอนเย็นเขากลับบ้าน เขาไปซื้อของใช้ส่วนตัว[ด้วย]…พี่คนนั้นเขาอายุ 60-70 ไปแล้วแต่ว่าไม่รู้เป็นอะไรตำรวจฝ่ายความมั่นคงก็รวบตัวเขาไปด้วย…แม้กระทั่งเจ้าของโรงพิมพ์ แค่จดหมายแสดงความคิดเห็นก็ต้องไปจับเขา มันยิ่งน่าตลกใหญ่ที่ว่าผู้ไม่รู้เห็นเลย คือเขาเช็คโทรศัพท์ เราใช้โทรศัพท์กับใครมากหน่อยเขาก็จับคนนั้นมาร่วมคดีด้วย ซึ่งคนที่ถูกจับไปหลายคนก็งงว่าอยู่ดีๆ ตัวเองถูกจับได้ไง อยู่ดีๆ นั่งเฉยๆอยู่ที่บ้านมีคดีติดตัวได้ยังไง เราต้องสู้คดีกว่าจะพ้นคดีในปี 2563 เริ่มตั้งแต่ปี 2559”

ชีวิตหลังกรงขัง และการบำบัดทางจิตเวช

ทัศนีย์เล่าถึงประเด็นความรู้สึกของเธอหลังถูกจับกุมต้องไปอยู่ในค่ายทหารหนึ่งสัปดาห์และขึ้นศาลทหารเชียงใหม่ จากนั้นทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ตำรวจเจ้าของสำนวนคัดค้าน ศาลทหารยกคำร้องไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพราะว่ากลัวจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน 

“ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าพยานเขาเป็นใครบ้างหลักฐานอะไรบ้าง ไม่รู้จริงๆเลย แต่ตำรวจก็คัดค้านการประกันตัว แน่นอนเขาเอาผู้ชายแยกไปอยู่กับผู้ชาย ผู้หญิงแยกไปอยู่ผู้หญิง แต่กุ้งขอเล่าในฐานะจำเลยที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำว่าความรู้สึกเป็นยังไง ก่อนอื่นต้องบอกว่า ตอนนั้นที่ถูกจับ สถานะตอนนั้นยังเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในฐานะนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ ยังโดนขนาดนี้คือเข้าไปในเรือนจำ คือเรางงเลยว่า สิทธิความเป็นมนุษย์เราอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้เลยจริงๆ คือไม่ว่าจะเรื่องการค้นตัวที่ทำตามระเบียบใส่ชุดนักโทษ ถ่ายรูปนักโทษ ทำเหมือนเราเป็นนักโทษหมดเลยแล้วเข้าไปอยู่กับนักโทษจริงๆ เราเข้าไปอยู่กับนักโทษจริงๆเลย ศาลไม่ตัดสินเราสักนิดนึงเลย ไม่ได้ตัดสินว่าเรามีความผิดหรือยังแต่เอาเราไปอยู่กับนักโทษ ซึ่งนักโทษในนั้นมีตั้งแต่ค้ายาเสพติดฆ่าคนตาย ก่ออาชญากรรมแรง ๆทั้งนั้นเราเข้าไปอยู่กับเขา”

“คดีที่เราไม่ได้ทำ เราไม่รู้จักคดีพวกนี้ด้วยซ้ำ อั้งยี่ซ่องโจรแต่ยัดเราเพื่อเข้ามา นี่คือจิตใจที่จำเลยแต่ละคนที่ถูกคุมขังโดยที่ศาลยังใม่ได้ลงโทษเข้าไปอยู่ในเรือนจำในห้องที่เป็นสี่เหลี่ยม มีลูกกรง เรานอนเราก็ต้องนอนแบบนักโทษก็จะมีผ้าปูให้เราสามผืนและมีผ้าห่มและหมอนเล็กๆ ตอนนั้นยังโชคดีหน่อยทียังมีห้องเหลือในเรือนจำที่ให้เฉพาะกลุ่มนักโทษทางการเมืองแต่ทราบมาว่า ผู้ชายได้ไปอยู่กับนักโทษในห้องเล็กๆ 40-50 คน ไปอยู่อย่างนั้นสามอาทิตย์” 

“ขอเล่าบรรยากาศที่ครอบครัวที่ต้องมาหาเรา เราคุยกันผ่านลูกกรง พ่อแม่อายุ 70 80 ต้องมาหาเราทุกวันผ่านลูกกรง แล้วกุ้งคิดว่า เด็กๆเยาวชนอีกหลายคน พ่อแม่เขาต้องมีสภาพจิตใจนั้น ซึ่งวันนี้เด็กหลายคนก็ยังอยู่ในสภาพจิตใจแบบนี้ คือสภาพที่เราเอามือจับไปได้ที่ลูกกรงเท่านั้นแล้วกว่าจะประกันตัว ของกุ้งอยู่สองผลัด 20 กว่าวัน พ่อแม่ต้องลำบากทุกวันสภาพจิตใจแต่ละคนเนี่ยไม่ต้องพูดถึง ถ้าไม่มีกินยาเนี่ยนอนกันไม่หลับ ออกมาจากเรือนจำแต่ละคน ทุกคนเข้าขั้นต้องหาหมอจิตเวชเพื่อบำบัดเพราะว่าภาพมันจะจำ”

จดหมายประชามติที่ทหารแจงไม่ได้ว่าข้อหาที่ฟ้องสัมพันธ์กับการกระทำใด

ทัศนีย์เล่าถึงกระบวนการสู้คดีที่มีค่าใช้จ่าย ทนายความที่ต้องเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เมื่อเดินทางมาถึงศาลมีการเลื่อนนัดหมาย จนเธอจำได้ว่า มีครั้งหนึ่งหลังศาลทหารเลื่อนนัดคดี เธอจึงวิ่งออกไปเพื่อถามอัยการศาลทหารก่อนว่า การแจ้งข้อหาเช่นนี้มันผิดอะไรการกระทำไหนเข้ามาตราไหน “ถามอัยการศาลทหารว่า ขอมาอธิบายก่อนว่า คุณแจ้งอย่างนี้มันผิดอะไร การกระทำไหนเข้ามาตราไหนที่ผิด เชื่อไหมคะ คำตอบบอกว่า ขอร้องอย่าถามผมเลย เขาให้คำตอบได้แค่นี้ กุ้งคิดว่า คดีทางการเมืองแต่ละคน ทุกคนเยาวชนแต่ละคนประชาชนที่อยู่ในนั้นแต่ละคน มันก็หาคำตอบไม่ได้ว่า ข้อหาที่เราผิดเนี่ยเกิดจากการกระทำอะไรนอกจากความคิดเห็นต่าง ซึ่งเราก็มาเป็นมนุษย์ มนุษย์มีความเห็นต่างกันทุกคน ความรู้สึกต้นทุนที่ทุกคนต้องเสีย ต้นทุนค่าใช้จ่าย ต้นทุนทางด้านจิตใจ ต้นทุนทางด้านสังคม เราซึ่งไม่เคยมีความผิดแต่เราต้องไปอยู่ในเรือนจำสังคมจะมองเรายังไง”

“กุ้งอยากจะฉายภาพให้ทุกคนได้คิดว่า ทำไมถึงต้องมีการนิรโทษกรรมประชาชนที่เหลืออยู่ตอนนี้ มั่นใจว่าตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันนี้ยังมีประชาชนที่ค้างอยู่เป็นจำนวนนับเป็นพันๆคน แต่ภาพที่กุ้งเล่า จิตใจที่กุ้งเล่า กุ้งยังดีอย่างหนึ่ง…กุ้งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เราสามารถดำเนินการเองได้ กุ้งมีต้นทุนทางครอบครัวที่ยังมีความเข้าใจกุ้ง ไม่ทำให้ครอบครัวแตกสลาย กุ้งยังมีต้นทุนทางสังคมที่พอเข้าใจว่า การกระทำของเราเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ก็มีสังคมอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจการกระทำ บางคนยังมาล้อเล่นเรา…ติดคุกมาเป็นไงบ้าง คนพูดๆได้ คนฟังมันอีกแบบหนึ่ง ความรู้สึกมันอีกแบบหนึ่งจริงๆ อยากจะเล่าบรรยากาศจำเลยในคดีการเมืองที่ผลสุดท้ายศาลตัดสินว่า ยกคำร้องไม่มีความผิด แต่การกระทำที่ถูกทำมาใครจะเยียวยาเรา แล้วเยียวยามันได้ไหม จิตใจได้ไหม มันไม่สามารถเยียวยากันได้ เพราะฉะนั้นมีนักโทษอีกหลายคนจริงๆ ถ้าเราไม่ช่วยกัน ถ้าพี่น้องประชาชนไม่ช่วยกันเขาจะอยู่ในภาวะจิตใจเขาจะบั่นทอนลงเรื่อยๆ ”