Con for All ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%

ส่งเสียงถึง ครม. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%

คำถามประชามติคือก้าวแรกที่ต้องแข็งแรง เพื่อให้กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นของประชาชน

แต่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติของรัฐบาลกลับตั้งคำถามที่ปิดกั้น โดย “ล็อคสเปค” ห้ามแก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) สวนทางกลับข้อเสนอของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้คำถามประชามติรับรองการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง สสร. 100%

คำถามคณะกรรมการฯ ที่นำโดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาทั้งในทางปฏิบัติและทางกฎหมาย ในทางปฏิบัติ อาจจะทำให้ผลการทำประชามติไม่ผ่านเสียงกึ่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นการบีบบังคับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับตั้งคำถามแบบมีเงื่อนไข ให้รวมกับผู้ที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อออกไปลงคะแนนไม่เห็นชอบกับประชามติ ทำให้วาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องแท้งไป สังคมไทยก็อาจจะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไปอีกหลายปี

ในทางกฎหมาย ข้อห้ามไม่ให้แก้ไขหมวด 2 อาจจะเป็นการสร้างปัญหาในการแก้ไขประเด็นอื่นในรัฐธรรมนูญด้วย เช่น มาตรา 12 กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งองคมนตรีเอาไว้ อาทิ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี หากในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดปัญหาทันทีเพราะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้คุณสมบัติขององคมนตรีให้สอดคล้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่เหลือได้

แต่ก็ใช่ว่าคำถามของคณะกรรมการฯ จะเป็นที่สิ้นสุด เพราะเป็นเพียงข้อเสนอที่อ้างว่าได้ทำการศึกษามาแล้วเท่านั้น ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสุดท้ายว่าจะทำประชามติหรือไม่และด้วยคำถามแบบใดยังคงเป็นคณะรัฐมนตรี ที่มีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน โดยเฉพาะคำถาม “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ของประชาชนที่ใช้กลไกตามกฎหมายเข้าชื่อเสนอ เพราะหากผลลัพธ์การทำประชามติออกมาทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องสะดุดลง คณะรัฐมนตรีของเศรษฐาก็หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไปไม่ได้


จนกว่าที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ทำประชามติ ประชาชนก็ยังสามารถทำได้ดังนี้

เชิญชวนประชาชนร่วมกันช่วยส่งเสียงถึงคณะรัฐมนตรี ให้ตั้งคำถามประชามติที่ถูกต้องตามหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และคำถามที่จะทำให้กระบวนการได้รับความเห็นชอบ จนกว่าที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ทำประชามติ ประชาชนก็ยังสามารถทำได้ดังนี้

1. ติดตามข่าวสารการพิจารณาการทำประชามติของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

2. ส่งเสียงในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มสังคมหรือช่องทางออนไลน์ ว่าไม่เห็นด้วยกับคำถามล็อคสเปกของรัฐบาล

3. ร่วมลงชื่อออนไลน์ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม คัดค้านคำถามประชามติของรัฐบาล https://chng.it/rP6nS74Ytz

4. ส่งเสียงถึงผู้แทนราษฎรในเขตของตนเอง โดยเฉพาะที่สังกัดพรรครัฐบาล ให้รับทราบถึงอารมณ์ความรู้สึกของสังคมที่อยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่ต้องการกระบวนการที่ปิดกั้นความหลากหลาย

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ