ศูนย์ทนายความมุสลิมชี้ ทางการต้องยกมาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง พร้อมทั้งให้มีระบบตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหาการซ้อมทรมารรีดเอาคำสารภาพ ซึ่งใช้ไม่ได้ผลในชั้นศาล แต่รังแต่จะถ่างช่องว่างระหว่างรัฐกับชาวบ้านให้กว้างขึ้น
อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี กล่าวว่า คดีความมั่นคงที่ฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีประจักษ์พยาน มีแต่คำรับสารภาพของจำเลยจากในชั้นสอบสวน ซึ่งในหลายคดีเป็นคำสารภาพที่ได้มาระหว่างขั้นตอนการซักถามในช่วงที่ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่มีน้ำหนักและไม่พึงนำไปใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดี จากตัวเลขของคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าศาลยกฟ้องไปแล้วถึงร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
“ตอนที่เกิดเหตุและตอนที่มีการจับกุมใหม่ๆ เจ้าหน้าที่จะนำคนที่ถูกจับไปแถลงข่าว แสดงให้เห็นว่านี่คือตัวจริง ให้สังคมและประชาชนรับรู้และมีความเชื่ออย่างนั้น ซึ่งเป็นการสร้างกระแสอย่างหนึ่ง แต่เมื่อถึงชั้นศาลกลับปรากฏว่า ไม่มีหลักฐานอะไรเลย มีเพียงผลการซักถามอย่างเดียว เมื่อศาลไม่เชื่อในหลักฐานก็มักยกฟ้องและปล่อยตัวไป”
“แต่แน่นอน การจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนเหล่านั้นในใจคนในสังคมนั้นยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี”
“วันนี้หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นว่า ปัญหาจริงๆ มาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ข้างล่าง ข้างบนไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการดำเนินคดี แต่เมื่อข้างล่างที่เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่บกพร่องก็ส่งผลกระทบถึงข้างบนด้วย ดังนั้น อัยการจึงมีนโยบายว่า คดีความมั่นคงต้องมีพยานหลักฐานถึงจะดำเนินคดีและผลักดันเรื่องไปถึงชั้นศาลได้ หากมีแต่คำรับสารภาพหรือคำซัดทอดของพยาน หรือมีแต่พยานบอกเล่า และใช้ความรู้สึก อัยการจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ซึ่งที่ผ่านมา คดีลักษณะนี้มีประมาณ 80%”
แม้ว่าในหลายๆ กรณีจะลงเอยด้วยการทีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ฟ้อง แต่ปรากฏการณ์นี้ดูจะยังไม่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมกล่าวว่า เขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีระบบการทำงานของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษไปดำเนินการเช่นนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาที่วนเวียนไม่จบสิ้น เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยออกแถลงการณ์เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล 26 มิถุนายนที่ผ่านมา
ข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ฉบับนี้ระบุให้มีการยุบศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ โดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการทรมานหรือปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างไร้มนุษยธรรม และในกรณีที่พบว่ามีการกระทำความผิดตามที่มีเรื่องร้องเรียนจริง ทางรัฐบาลและกองทัพต้องดำเนินการลงโทษทางวินัยและทางอาญาเพื่อเป็นการป้องปรามและยุติการซ้อมทรมาน แถลงการณ์ระบุอีกด้วยว่า ที่ผ่านมาการร้องเรียนของผู้เสียหายมักไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ เหยื่อและญาติมักถูกคุกคามทำให้พวกเขาหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ
นายอนุกูลชี้ด้วยว่า แม้ทางเจ้าหน้าที่จะยังเชื่อมั่นว่า ศูนย์ซักถามจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหา เช่นสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลในการสืบสวนหาตัวสมาชิกในเครือข่ายผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏแต่ประการใดว่า ผลของการซักถามทำให้สามารถโยงใยไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้จริง ปัญหาที่ทราบกันก็คือว่า การที่บางคนมีชื่อจัดตั้ง มีนามแฝง และรู้กันเฉพาะในส่วนของหน้าที่ที่ทำ เมื่อถูกจับมาแม้จะถูกซ้อมหนักแค่ไหนก็บอกไม่ได้เพราะไม่รู้ ข้อมูลที่ได้มาจึงเป็นเพียง “เงา” ที่ไม่อาจบ่งบอกอะไรหรือไม่อาจจับต้องได้
“ผมมองว่าวิธีบีบเค้นเป็นวิธีที่ยากจะได้ผล ที่สำคัญหากเขาไม่เคยก่อเหตุใดๆ แต่อยู่ในพื้นที่แล้วถูกกดันและบังคับ เมื่อถูกนำตัวมาบีบเค้น ความรู้สึกที่เขาอยากจะช่วยเหลือรัฐก็จะหมดไป ความรู้สึกของคนที่ถูกซ้อมและถูกทรมานจะกลายเป็นความเกลียดชังเจ้าหน้าที่ ความรู้สึกอันนี้จะขยายไปถึงญาติด้วย”
เขาชี้ว่าสิ่งนี้จะยิ่งทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนพร้อมกับระบุถึงความจำเป็นในอันที่จะต้องปรับปรุงระบบวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้เพื่อไม่ให้กระบวนการดังกล่าวกลายเป็นการสร้างปัญหาหรือขยายระดับของปัญหาให้ใหญ่ขึ้น ข้อแรกคือความโปร่งใสในการทำงานของพวกเขา
“ปัญหาคือจะมีกระบวนการตรวจสอบคนทำงานข้างในได้อย่างไร แม้จะเปิดศูนย์ฯ ให้หลายหน่วยงานรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปดูสถานที่และสิ่งแวดล้อมภายในแล้ว แต่วิธีทำงานภายในศูนย์นั้นไม่เคยมีใครได้เห็น”
ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมยังตั้งคำถามอีกว่า “การตรวจสอบอิสรภาพของมนุษย์ไม่ควรถูกจำกัด เราน่าจะสามารถแก้ไขพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวในศูนย์ซักถามได้ บางชุดก็ทำงานได้ดี แต่ชุดควบคุมที่ทำให้เกิดกรณีของนายสุไลมาน แนซา ที่ข่าวกล่าวว่าผูกคอตายในห้องควบคุมตัวของศูนย์ซักถามก็เคยมีข่าวว่ามีปัญหามาก่อนหน้านี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวหากเป็นการฆ่าตัวตายจริงก็ต้องหาสาเหตุต่อว่าทำไมถึงฆ่าตัวตาย และใครจะรับผิดชอบชีวิตเขาอย่างไร”
“ศูนย์ซักถามควรจะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา มันไม่ควรจะเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง”
นายอนุกูลกล่าวอีกว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมไม่ได้มองว่า ปริมาณคดีที่ศาลยกฟัองถือเป็นความสำเร็จของศูนย์ฯ แต่ถือว่าความสำเร็จในการทำงานคือการที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมคนร้ายที่วางแผนและอยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ได้เพราะเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมต้องจับคนที่ทำผิดจริงๆ มาลงโทษ และต้องแยกคนที่ทำผิดจริงกับคนที่มีเพียงแนวความคิดเท่านั้น
“ถ้าไม่มีกระบวนการคัดแยกตรงนี้ก็คงจะมีเรื่องราวกันไม่สิ้นสุด เพราะกระบวนการดำเนินคดีมีการใช้ความรุนแรงผสมผสานอยู่ด้วย ในมุมมองของศูนย์ฯ มันเป็นการใช้ความรุนแรงในระบบก็ว่าได้”
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวใหม่ในเรื่องนี้คือ ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดตั้งคณะทำงานในพื้นที่เพื่อประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับืทางศูนย์ทนายความมุสลิมในเรื่องนี้
นายอนุกูลกล่าวว่า ในขณะนี้ สถิติการร้องเรียนจากชาวบ้านยังคงที่ ส่วนจำนวนคดีที่ลดลงเป็นเพราะอานิสงค์ของนโยบายของอัยการที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ยังมีคดีที่ต้องสะสางและมีการนัดหมายไต่สวนในศาลยาวไปจนถึงปี 2554 ปัญหาในเรื่องของการขอประกันตัวยากทำให้มีคนถูกคุมขังอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในเรื่องของการขอประกันตัวนี้ จะเห็นว่าหลายคดีแม้จะยกฟ้องในศาลชั้นต้น แต่ก็ให้คุมขังระหว่างการอุทธรณ์ ทำให้จำนวนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงมีสูง จากตัวเลขล่าสุดของผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงในเรือนจำสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งสิ้น 514 คน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงชายแดนใต้ เพื่อดำเนินการเรื่องการขอประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว หากผู้ต้องขังขาดหลักทรัพย์ก็มีกองทุนยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือ
“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้อัยการสูงสุดเรียกสำนวนคดีต่างๆ ที่มีมาดูใหม่ ถ้าคดีไม่มีหลักฐานให้ถอนฟ้อง ผมจะชื่นชมอัยการสูงสุดเป็นอย่างมาก รวมทั้งน่าจะมีการพิจารณามาตรการเยียวยาหลังการถอนฟ้องใหม่ด้วย”
นายอนุกูลยังฝากความคาดหวังต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนต่อเรื่องราวของคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ด้วยการช่วยนำเสนอข้อมูลในลักษณะอุทธาหรณ์ บทเรียน และข้อเตือนใจให้สังคมรับรู้
“การที่นำตัวเขามาแถลงข่าวคือถูกสังคมลงโทษแล้ว แต่ในทางกฎหมาย เขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่างกรณีการแถลงข่าวเอาคนที่ถูกกล่าวหาว่ายิงคยแล้วถูกจัลที่อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ ถูกน้องชายผู้ตายที่ทำงานในเรีอนจำซ้อม ซึ่งเป็นผลเสียจากการแถลงข่าว การนำคนมาแถลงข่าวในขณะที่พวกเขายังไม่ถูกตัดสินเป็นการลดเกียรติของเขา แต่เจ้าหน้าที่ได้ผลงาน”
“อยากให้สื่อติดตามคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นและรายงานเป็นระยะ อย่าให้หายไปจากความสนใจเหมือนกรณีตากใบที่หายไปถึง 5 ปี เมื่อมาเสนอข่าวกันอีกครั้งมันเลยเหมือนสึนามิถล่ม”
สถิติที่ทางศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียน ประเด็นร้องเรียน สถานะเรี่องร้องเรียน และคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางศูนย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มกราคม 2553 ประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนอันดับแรกคือ เรื่องของการถูกออกหมายจับ ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนจากจ.ยะลา 58 คดี จ.นราธิวาส 81 คดี จ.สงขลา 21 คดี คดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์ฯ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำนวน 22 คดี และสถานะเรื่องร้องเรียนของคดี ได้ประสานให้ได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายพิเศษ 40 คดี อยู่ระวห่างการติดตามต่อเนื่องในการฝากขัง 59 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 60 คดี คดีพิพากษาเสร็จสิ้น 31 คดี คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ 1 คดี และได้รับการประกันตัว 6 คดี
ที่มาภาพ: sandeep thukral