สรุปประเด็นสำคัญ : คำสั่งหัวหน้า คสช. เหมือน/ต่าง กับกฎหมายความมั่นคงอื่นอย่างไร

หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ทำให้ประชาชนต่างถกเถียงกันว่า สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้เหมือนหรือแตกต่างจากกฎอัยการศึก รวมถึงกฎหมายความมั่นคงอื่นๆ อย่างไร

ดังนั้น ไอลอว์ จึงขอสรุปสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว และแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน ประกอบด้วย “อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน” “อัตราโทษ” “ความรับผิดของเจ้าหน้าที่” และ “ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

++ อำนาจหน้าที่ของ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ++

คำสั่งฉบับดังกล่าวกำหนดให้ หัวหน้า คสช. สามารถแต่งตั้ง “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” อันได้แก่ ทหารที่มียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป (ทหารชั้นสัญญาบัตร) และให้มีผู้ช่วยพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยคือทหารที่มียศต่ำกว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยลงมา 

โดย “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” และ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” จะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามกฎหมาย และพนักงานสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา

“เจ้าพนักงานฯ” มีหน้าที่ป้องกันและปราบปราม คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ความมั่นคง อาวุธฯ และคดีที่ผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.

เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ดําเนินการป้องกันและปราบปราม การกระทําอันเป็นความผิดดังนี้

– ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ (มาตรา 107-112)

– ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (มาตรา 113 – 118)

– ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธ เครื่องกระสุนปืน ฯลฯ ที่ใช้เฉพาะในการสงคราม

– ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือ หัวหน้า คสช.

อำนาจใหม่ของทหาร “เรียกคนรายงานตัว” “เข้าร่วมการสอบสวน” แต่ตรวจค้นจับกุมต้องมีหมายศาล

คำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดให้ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” มีอำนาจออกคําสั่ง “เรียกให้บุคคลมารายงานตัว” หรือมาให้ถ้อยคำ เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และสามารถ “เข้าร่วมในการสอบสวน” ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน พนักงานสอบสวนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจใหม่ที่เพิ่มให้กับเจ้าพนักงานฯ 

ทั้งนี้ การจับกุมตัวบุคคลและตรวจค้นไม่สามารถทำได้อย่างอิสระเทียบเท่ากฎอัยการศึก เช่น การจับกุมตัวบุคคลต้องเป็นผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า และการจะเข้าไปตรวจค้น ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล เคหสถาน หรือยานพาหนะ ต้องมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีความผิด และต้องอยู่ในภาวะเร่งด่วนที่ไม่อาจขอหมายศาลได้ทันเพราะจะทำให้ล่าช้าเกินไป หากเป็นการจับกุมในกรณีทั่วไปที่ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือการค้นที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วน เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจทำได้เอง ต้องขอหมายศาลก่อน

สิ่งที่ไม่แตกต่างจากกฎอัยการศึกคือ “ปิดกั้นสื่อ” เพราะ เจ้าพนักงานฯ ก็มีอำนาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความทําให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้ 

ไม่มีการกำหนดอำนาจเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว และตรวจค้นข่าวสาร

ประเด็นที่ขาดหายไปเมื่อเทียบกับกฎอัยการศึก เช่น อำนาจห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กําหนด หรือการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งเป็นสิ่งที่ คสช. เคยใช้ในช่วงต้นของการรัฐประหาร นอกจากนี้การตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกัน ที่เป็นอำนาจในกฎอัยการศึกก็ไม่ปรากฏในคำสั่งฉบับนี้

++อัตราโทษใหม่ตามประกาศหัวหน้า คสช. 3/2558 ++

ตามที่หัวหน้า คสช. ออกประกาศฉบับใหม่นั้น มีประเด็นเกี่ยวกับอัตราโทษใหม่ ซึ่งมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ดังนี้

ข้อ 9 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถือเป็นการเพิ่มอัตราโทษ จากเดิมผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ส่วนข้อ 10 ของประกาศหัวหน้า คสช. ความว่า ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพิ่มอัตราโทษ เช่นกัน จากเดิมในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ระบุว่าผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ 11 บุคคลที่ถูกควบคุมตัว แล้วถูกปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไข หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งลดลงกึ่งหนึ่งจากอัตราโทษเดิมในประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 และ 40/2557 ที่ระบุว่าผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามเงื่อนไขการปล่อยตัว มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ความในข้อ 12 ของประกาศดังกล่าวมีอยู่ว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะความผิดเดียวกันในประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง พบว่า อัตราโทษลดลงกึ่งหนึ่ง ซึ่งกำหนดโทษไว้ว่า จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

นอกจากนี้ ประกาศหัวหน้า คสช. ข้อ 12 ยังเพิ่มเติมข้อยกเว้นการชุมนุมทางการเมืองว่า สามารถทำได้หากได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

++ ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ++

เปลี่ยนบทจำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ใหม่ ลอกแบบจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 กำหนดข้อจำกัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ใหม่ ตามข้อ 13 และ 14 

“ข้อ ๑๓ การกระทําตามคําสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดปกครอง

ข้อ ๑๔ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่า กรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”

หลักการในข้อ 13 และ ข้อ 14 ลอกแบบมาจากมาตรา 16 และ 17 ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อย่างเห็นได้ชัด 

โดยสถานการณ์ปกติ กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งให้ประชาชนกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คำสั่งนั้นมีฐานะเป็น “คำสั่งทางปกครอง” ซึ่งการออกคำสั่งต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 (วิ.ปฏิบัติ) ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขการออกคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจจนละเมิดสิทธิของประชาชนมากเกินไป เช่น ต้องระบุเหตุผล ต้องให้โอกาสประชาชนโต้แย้ง ต้องให้ประชาชนมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา และหากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งใดย่อมมีสิทธิยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครองได้

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย เช่น ทำลายทรัพย์สินของประชาชน หรือทำร้ายประชาชนได้รับบาดเจ็บ ในกรณีทั่วไปประชาชนสามารถฟ้องร้องหน่วยงานให้รับผิดได้ โดยฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และอาจฟ้องร้องให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางอาญา โดยฟ้องร้องที่ศาลอาญาได้ หากการกระทำของเจ้าหน้าที่เข้าข่ายความผิดทางวินัยก็ต้องถูกลงโทษทางวินัยไปตามกฎระเบียบ

ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 13 การกระทำใดๆ หรือการออกคำสั่งใดๆ ของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย สามารถทำได้โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย วิ.ปฏิบัติอีกต่อไป และหากประชาชนไม่พอใจก็ไม่สามารถไปฟ้องต่อศาลปกครองได้ 

++ ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจในคำสั่งหัวหน้า คสช.++ 

ชุมนุมทางการเมือง อาจไม่ถูกลงโทษหากให้เจ้าหน้าที่อบรม 7 วัน

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 กำหนดให้ผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามหากผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยไม่เกินเจ็ดวัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข เช่น การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ความผิดจากการชุมนุมให้ถือว่าเลิกกัน

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

คำสั่งข้อ 12 นี้คล้ายกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 21 ที่กำหนดว่า หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนพบว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นภายในราชอาณาจักร

ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดก็ได้ เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดแล้วจะไม่มีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหาได้

อำนาจในการควบคุมตัวไม่ต้องขอหมายศาล

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 6 เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

คำสั่งข้อ 6 คล้ายคลึงกับ มาตรา 12 ของ พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ในการควบคุมตัวบุคคลพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ต้องขออนุญาตต่อศาล หากศาลอนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจคุมตัวได้ไม่เกินเจ็ดวัน หากต้องการควบคุมตัวต่อต้องขออนุญาตจากศาลเพื่อขยายเวลาควบคุมตัวต่อเพิ่มอีกเจ็ดวัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกินสามสิบวัน

ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องจัดทํารายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลนั้นเสนอต่อศาล และจัดสําเนารายงานเพื่อให้ญาติของบุคคลนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่ควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้