112 ALERT : เปิดแฟ้มคดี 112 สองคดีของแอมมี่ The Bottom Blues ก่อนศาลพิพากษาจบใน ธ.ค. 66

เดือนธันวาคม 2566 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สองคดีของแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ คดีแรกในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 คดีนี้เขาถูกกล่าวหาว่า เผาพระบรมฉายาลักษณ์ด้านหน้าเรือนจำคลองเปรมเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 และอีกคดีในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เหตุสืบเนื่องจากการร้องเพลงที่หน้าศาลธัญบุรี ขณะรอฟังคำสั่งประกันตัวของสิริชัย นาถึง อดีตสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ชวนรู้จักคดีมาตรา 112 ทั้งสองคดีของแอมมี่

๐ เสียงเพลง สีน้ำเงินกับคืนวันในเรือนจำครั้งแรก

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือที่สังคมรู้จักกันมากกว่าในชื่อของแอมมี่ The Bottom Blues เป็นนักแต่งเพลงและนักร้องนำวง The Bottom Blues แอมมี่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอแบค มีผลงานเพลงทั้งสิ้นสามอัลบั้ม กับอีกเจ็ดซิงเกิล* นอกจากนั้นเขาก็ยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ในคลื่นการชุมนุมปี 2563 เพลง 12345 I LOVE YOU กลายเป็นเพลงที่คุ้นหูในการชุมนุม มีการแปลงเนื้อร้องจาก “12345 I LOVE YOU” เป็น “12345 ไอ้เหี้ยตู่”  

ระหว่างการชุมนุมแนวคิดและข้อเรียกร้องต่างๆของผู้ชุมนุมถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงตามวาระต่างๆ ครั้งหนึ่งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของแอมมี่กลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงเส้นของสันติวิธี วันที่ 28 สิงหาคม 2563 ระหว่างที่ผู้ชุมุนมที่ถูกกล่าวหาจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเดินขบวนไปรายงานตัวที่สน.สำราญราษฎร์ ตำรวจตั้งแถวปิดหน้าสน.สำราญราษฎร์ขอตรวจบัตรประชาชนของผู้ที่ผ่านเข้าไป ต่อมามีการผลักดันแผงเหล็กที่กั้นและแอมมี่สาดสีน้ำเงินใส่ตำรวจระบุว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์  นำสู่ข้อถกเถียงเรื่องของสันติวิธี แบ่งเป็นสองส่วนคือ ด้านหนึ่งมองว่า กระทำต่อตำรวจผู้น้อยไม่มีทางเลือกและอีกด้านหนึ่งมองว่า อยู่ในขอบเขตของสันติวิธี 

แอมมี่ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า สีน้ำเงินเป็นสีที่สื่อถึงสถาบันกษัตริย์ “สีที่เราสาดมันคือ น้ำมนต์ และการโดนน้ำมนต์มันไม่ได้น่ากลัว มันต้องเป็นสิ่งที่ดีสิ คุณต้องไม่กลัว คุณต้องไม่รังเกียจสีน้ำเงินสิ”  ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2563  เขาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎรอีสานที่จัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อรอการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรในวันรุ่งขึ้น แต่ถูกตำรวจสลายการชุมนุมเสียก่อน ระหว่างที่ตำรวจสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมสาดสีน้ำเงินตอบโต้ ความชุลมุนจากการจับกุมที่เกิดขึ้นไม่เพียงตำรวจที่ถูกแต้มด้วยสีน้ำเงิน แต่ผู้ชุมนุมก็ถูกสีน้ำเงินไปด้วย และเมื่อสีน้ำเงินผสมกับฝนที่ตกลงมาทำให้วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยท่วมท้นเจิ่งนองไปด้วยสีน้ำเงิน วันดังกล่าวแอมมี่เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมและถูกฝากขังในเรือนจำรวม 6 วัน ก่อนที่จะได้ประกันตัว 

๐  คดี 112 คดีที่สอง : ร้องเพลงรอเพื่อนหน้าศาลธัญบุรี

เหตุที่ต้องนำคดีที่สองขึ้นมาเล่าก่อนเนื่องจากเป็นคดีที่เกิดเหตุก่อนแต่ถูกแจ้งข้อหาหลังจากคดีที่หนึ่ง คดีนี้สืบเนื่องจากกลางดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 ตำรวจจับกุมตัวฮิวโก้ สิริชัย นาถึง อดีตแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโดยไม่ให้ติดต่อผู้ไว้วางใจ ทำให้เพื่อนๆต้องติดตามตัวเขาอยู่หลายชั่วโมงจนพบตัวในช่วงเวลาประมาณ 1.30 น.ของวันถัดมา นิวถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากการพ่นสีบนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ในพื้นที่คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วันถัดมาพนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปขออำนาจศาลจังหวัดธัญบุรีฝากขังในชั้นสอบสวน ระหว่างรอคำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราว แอมมี่ พร้อมด้วยกลุ่มนักกิจกรรมจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี ราษฎรมูเตลูร้องเพลงรอด้านหน้าศาล

คำฟ้องระบุว่า ระหว่างที่จำเลยทั้งสองกับพวกชุมนุมที่ด้านหน้าศาล ฟ้าเปิดเพลงสดุดีจอมราชาและมีการดัดแปลงเนื้อเพลงเป็นประเด็นเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเงินประกันตัวในคดีมาตรา 112 กับการถวายพระพร และเปิดเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” และดัดแปลงเนื้อหาตั้งคำถามเรื่องการใช้เงินภาษีและการแปรพระราชฐาน ขณะที่แอมมี่ซาวเช็คด้วยเพลง 12345 และฟ้ากับพวกร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” แอมมี่ร้องต่อว่า 6789 และฟ้ากับพวกร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 17 มีนาคม 2564 ฟ้าไปรายงานตัวตามหมายเรียกและถูกฝากขังระหว่างสอบสวน 55 วันก่อนได้รับการประกันตัว กรณีของแอมมี่ พนักงานสอบสวนไปแจ้งข้อกล่าวหาระหว่างที่เขาถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 คดีที่หนึ่งในเรือนจำพิเศษธนบุรีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564

คดีนี้ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 น.

๐ คดี 112 คดีที่หนึ่ง : เผารูปหน้าเรือนจำคลองเปรม

เดือนกุมภาพันธ์ 2564 อัยการทยอยมีคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 โดยวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาและศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยชุดแรกได้แก่ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา สมยศ พฤกษาเกษมสุขและหมอลำแบงค์-ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ขณะที่แอมมี่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้แต่ไม่ได้ถูกกล่าวหาในมาตรา 112 ยังคงไม่ถูกจองจำ หลังจากนั้นนักกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องโดยเบนเข็มจากข้อเรียกร้องสามข้อมาที่การเรียกร้องสิทธิการประกันตัว 

กลางดึกของของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 มีเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม  มีภาพขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้เผยแพร่บนเฟซบุ๊กที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า อยู่ในความดูแลของแอมมี่ ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2564 แอมมี่ถูกจับกุม ตำรวจยื่นคำร้องขอฝากขังแอมมี่ต่อศาลอาญา โดยแม่ของเขายื่นขอประกันตัวในวันที่ 3 และ 4 มีนาคม 2564 ด้วยหลักทรัพย์ 90,000 บาทและ 500,000 บาทตามลำดับ โดยศาลยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หลังศาลยกคำร้องไชยอมรถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีและถูกคุมตัวเรื่อยมาจนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 

ตามคำฟ้องระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณอันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยมนับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นกษัตริย์  

คดีนี้แอมมี่ระบุว่า ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00