สรุปผลคำพิพากษาคดี 112 เดือนพฤศจิกายน 2566


เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านพ้นไปมีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เป็นจำนวนอย่างแปดคดี แต่มีหนึ่งคดี คือ “ปุญญพัฒน์” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายนยังมีอีกถึงเจ็ดคดีที่มีผลคำพิพากษาออกมา สรุปผลคำพิพากษาเป็นอย่างไรบ้าง


1 พฤศจิกายน 2566 “กิจจา”

ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก เขาให้การรับสารภาพกับศาล ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกห้าปี ลดโทษให้เหลือ สองปีหกเดือน ต่อมาในศาลอุทธรณ์เปลี่ยนคำพิพากษาเป็นลงโทษ สามปี และจากที่รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ หนึ่งปีหกเดือน ไม่รอลงอาญา ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

6 พฤศจิกายน 2566 เพชร ธนกร ณ ศาลเยาวชนกลาง

คดีนี้มีต้นเหตุมาจากคำปราศรัยใน #ม็อบ6ธันวา ในปี 2563 บริเวณวงเวียนใหญ่ ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไทย คดีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกำหนดโทษจำคุก สองปี ไม่รอลงอาญาและเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนกำหนดขั้นต่ำ หนึ่งปีหกเดือน ขั้นสูงไม่เกินสามปี

ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษ เป็นให้รอการลงโทษจำคุกสองปี และให้คุมประพฤติจำเลยไปตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ ห้ามจำเลยกระทำผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก

7 พฤศจิกายน “พอล” ศาลจังหวัดกำแพงเพชร

คดีนี้มาจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก สามข้อความ (ฟ้องเป็นกระทงเดียวกัน) “พอล” ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก สามปี ลดโทษให้เหลือ หนึ่งปีหกเดือน แต่เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสำนึก ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอกำหนดโทษไว้ สองปี ต้องรายงานตัวต่อคุมประพฤติ สี่ครั้ง และทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง

8 พฤศจิกายน 2566 ณัฐชนน ไพโรจน์ ศาลจังหวัดธัญบุรี

คดีหนังสือปกแดง จำเลยถูกกล่าวหาว่าครอบครองหนังสือ “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหาคม” เนื้อหาในหนังสือประกอบไปด้วยคำปราศรัยของผู้ที่ต้องการ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า เนื้อหาในหนังสือผิดตามมาตรา 112 และจำเลยครอบครองหนังสือดังกล่าวจึงผิดตามมาตรา 112

ศาลเห็นว่า แม้เนื้อหาในหนังสือจะผิดตามมาตรา 112 แต่ไม่มีคำปราศรัยของจำเลยในหนังสือ ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดพิมพ์ อีกทั้งยังไม่ปราฏหลักฐานว่าจำเลยผลิตหรือครอบครองดังกล่าว ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบหนังสือของกลางทั้งหมด

20 พฤศจิกายน 2566 “หอมแดง” ศาลอาญารัชดา

จำเลยถูกกล่าวหาจากการแชร์คลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊ก ซึ่งข้อความจากวิดีโอต้นทางมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ จำเลยให้การสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก สามปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การสารภาพจึงลดโทษเหลือ หนึ่งปีหกเดือน โดยไม่รอลงอาญา

28 พฤศจิกายน 2566 “นคร” ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

“นคร” (นามสมมติ) จำเลยจากจังหวัดเชียงรายที่ต้องเดินทางมาไกลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองถึงจังหวัดสมุทรปราการ ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊ก ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาอัยการอุทธรณ์ เป็นเหตุให้ในวันดังกล่าวจำเลยต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่า คดีนี้มีความอ่อนไหว กระทบกระเทือนต่อจิตใจของสาธารณชนและเกี่ยวข้องกับความมั่นคง จะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ในการลงโทษจะต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยเสียก่อน ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความชัดเจน จำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด ลำพังจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กไม่สามารถอนุมานได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ จึงยังมีความสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

30 พฤศจิกายน “โชติช่วง” ศาลจังหวัดนนทบุรี

“โชติช่วง” (นามสมมติ) ชาวนนทบุรีที่ถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ตามมาตรา 217 และฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่หนักที่สุด คือ มาตรา 112 ให้จำคุกสามปี และให้ริบขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่ใช้ก่อเหตุ โดยไม่รอการลงโทษ


สรุปได้ว่าในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้มีทั้งเรื่องที่น่าดีใจและเสียใจ มีคดีที่พิพากษาลงโทษจำคุก สามคดี รอลงอาญา สองคดี และยกฟ้อง สองคดี ทั้งนี้ยังเหลืออีกหนึ่งเดือนก่อนจะหมดปี ในเดือนธันวาคม 2566 ยังมีนัดฟังคำพิพากษาจำนวนไม่น้อยเช่นกัน สามารถติดตามและให้กำลังใจโดยการผูกโบว์ขาวร่วมเป็นกำลังใจยืนเคียงข้างการพิพากษาร่วมกันได้ทุกวันที่มีการพิพากษาคดี 112