ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องม. 112 ‘นคร’ เหตุพยานโจทก์มีข้อสงสัย เป็นคดีอ่อนไหวต้องระมัดระวังหากลงโทษต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีมาตรา 112 ของ ‘นคร’ ช่างแต่งหน้าจากจังหวัดเชียงราย ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งยกฟ้องและต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 อัยการอุทธรณ์ ใช้เวลาประมาณหกเดือนจึงมีคำพิพากษาอุทธรณ์สั่งให้ยกตามศาลชั้นต้น โดยสรุปว่า 

พยานหลักฐานในคดีนี้คือภาพโพสต์เฟซบุ๊กที่ได้จากการบันทึกภาพหน้าจอของผู้กล่าวหาคือ ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ขณะที่ตำรวจที่ทำการสืบสวนคดีนี้เบิกความรับว่า การโจรกรรมข้อมูลในเครือข่ายสังคมออนไลน์มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบคดีในช่วงดังกล่าวจึงแสวงหาหลักฐานอื่นมาสนับสนุนเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วยการทำหนังสือถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ขอให้ตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการใช้งานของบัญชีเฟซบุ๊ก 13 ราย ซึ่งหมายรวมถึงคดีนี้ด้วย แต่ดีอีไม่สามารถตรวจสอบช้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ตามความหมายของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 3 คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลา ชนิดของบริการ หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ดังนั้นเมื่อดีอีไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีเพียงสำเนาการบันทึกภาพหน้าจอ ซึ่งยังมีเหตุให้ต้องสงสัย

จำเลยให้การต่อสู้ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยมีเฟซบุ๊กสามบัญชี โดยบัญชีที่สองที่จำเลยใช้งานและเกี่ยวข้องกับคดีนี้ จำเลยสมันครใช้งานโดยใช้โน้ตบุ๊กของเพื่อนคนหนึ่งและเมื่อเปิดแล้วไม่ได้ทำการลงชื่อออกจากโน้ตบุ๊กดังกล่าวอันอาจมีบุคคลใดใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย ทั้งนี้เมื่อจำเลยทราบข่าวว่า อาจถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้กระทำความผิดจึงได้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอันเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง สอดคล้องกับการสืบสวนของตำรวจสองนายได้แก่ ร.ต.อ.อมรและร.ต.อ.สายัณห์ที่ยืนยันว่า การใช้งานเฟซบุ๊กของจำเลยทั้งสามบัญชีนั้นไม่มีข้อความหรือรูปภาพที่เกี่ยวข้องหรือพาดพิงในทำนองดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ด้านเพื่อนของจำเลยที่โจทก์อ้างเป็นพยานก็ยืนยันเช่นเดียวกับที่เคยให้ไว้ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนว่า ไม่เคยเห็นโพสต์ที่เป็นเหตุในคดีนี้ในเฟซบุ๊กของจำเลย 

คดีนี้มีความอ่อนไหว กระทบกระเทือนต่อจิตใจของสาธารณชนและเกี่ยวข้องกับความมั่นคง จะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ในการลงโทษจะต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยเสียก่อน ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความชัดเจนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 จำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด ลำพังจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กไม่สามารถอนุมานได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ จึงยังมีความสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

‘นคร’  เป็นชาวจังหวัดเชียงราย ขณะที่ถูกกล่าวหาเขายังมีสถานะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่มาของคดีนี้สืบเนื่องจากการที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำข้อมูลส่วนตัวอย่างข้อมูลตามบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของ ‘นคร’ ไปรายงานข่าว  ในทำนองที่ว่า มีการโพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จากนั้นเพื่อนของ ‘นคร’ จึงส่งข่าวดังกล่าวมาให้ เขาจึงแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการไปลงบันทึกประจำวันไว้ว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและโทรศัพท์ไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องดังกล่าวขอให้ลบข่าวที่มีข้อมูลส่วนตัวของเขาทั้งหมด วันถัดมาครอบครัวโทรศัพท์มาแสดงความเป็นกังวลเรื่องนี้และพยายามติดต่อให้ลบข่าวทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งท้ายสุดก็มีการลบข่าวดังกล่าวไป ต่อมาศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า จำเลยแชร์ข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ต่อมาพนักงานสอบสวนเรียก ‘นคร’ ไปเป็นพยานหนึ่งครั้ง เขาจึงได้เดินทางไปให้ปากคำเพียงลำพัง โดยไม่มีทนายความให้คำปรึกษาติดตามไปด้วย และจากนั้นจึงเรียก ‘นคร’ ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีโพสต์ที่กล่าวหาสองโพสต์คือ การแชร์ “Thai Atheist เพจคนไม่เชื่อพระเจ้า V2” ที่โพสต์ข้อความว่า “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรีตามจริงที่โรงเรียนไม่เคยสอน ร.1 ฆ่าเพื่อน ชิงบัลลังก์ ร.2 ตามเก็บลูกหลานพระเจ้าตากตายหมดเกลี้ยง” และการแชร์จากเพจ KonthaiUK เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และการแปรพระราชฐานในเยอรมนี พร้อมข้อความประกอบว่า “แชร์ไปอ่านเป็นวิทยาทานอย่างหนึ่ง”

ในนัดรับทราบข้อกล่าวหา ‘นคร’ ที่แสดงความบริสุทธิ์มาตามนัดทุกนัดซื้อตั๋วเครื่องบินจากเชียงรายไปกลับในราคา 5,000 บาทมากรุงเทพฯและเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนที่สภ. บางแก้ว สมุทรปราการด้วยหวังว่า จะได้กลับเชียงราย หากวันดังกล่าวยื่นขอฝากขังและศาลอนุญาตให้ฝากขัง เขาต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 9 วันจึงจะได้รับการประกันตัว ในชั้นศาลเขายังคงปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับโพสต์ดังกล่าวมาตลอด ด้วยคดีความที่เป็นเหมือนโซ่ตรวนสร้างความไม่แน่นอนให้แก่ชีวิตของเขาทำให้ ‘นคร’ ตัดสินใจย้ายจากเชียงรายมาอยู่กรุงเทพฯก่อนระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด