ผู้ใดอยู่ในเรือนจำ : ผู้ต้องขังคดี 112 ในเดือนพฤศจิกายน 2566

เดือนพฤศจิกายน 2566 ครบรอบสามปีที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำกลับมาใช้ดำเนินคดีอย่างจริงจังอีกครั้ง หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่า รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงจะบังคับใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” ดำเนินการต่อผู้ชุมนุม นำมาซึ่งยุคสมัยแห่งการดำเนินคดีความทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คดีมาตรา 112 พุ่งสูงกว่า 281 คดี ในระยะเวลาประมาณสามปี

ในรอบเดือนพฤศจิกายน 2566 มีผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 อย่างน้อย 17 คนที่อยู่ในเรีอนจำหรือสถานพินิจ (กรณีคดีเยาวชน) ในแต่ละชั้นกระบวนการยุติธรรมแตกต่างกันไป โดยมีอย่างน้อยสามคน ที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำตามคำพิพากษาของศาล ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกา คือ

1) สมบัติ ทองย้อย : รับโทษจำคุก 4 ปีจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ประสงค์ฎีกา

2) “เมธิน” : ทหารเกณฑ์ผู้ถูกคุมขังใน เรือนจำ มทบ.11 รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

17 ที่ยังอยู่ในเรือนจำในเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้แก่

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : อัญชัญ

ที่มาของคดี : อัญชัญ อดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งและประกอบธุรกิจขายตรงบนอินเทอร์เน็ต ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากการแชร์และอัพโหลดคลิปเสียงของ “บรรพต” เข้าสู่เว็บไซต์ยูทูบ รวมทั้งหมด 29 ครั้ง ในช่วงระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ถึง 24 มกราคม 2558

วันที่ 25 มกราคม 2558 อัญชัญ ถูกทหารนอกเครื่องแบบ 5 นาย และทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธปืนอีก 5 นาย จับกุมที่บ้านพัก มีเพื่อนของอัญชัญอยู่ที่บ้านหลายคนขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมและตรวจค้นบ้านพัก

ในตอนแรก คดีของอัญชัญ ถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ เนื่องจาก คสช. ออกประกาศให้ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ มาตรา 107-112 หมวดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 113-118 และความผิดตามคำสั่งและประกาศของคสช. ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร แต่ต่อมาปี 2562 หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง ให้โอนคดีพลเรือนกลับมาพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม คดีจึงอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลอาญา

คดีนี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาเมื่อ 19 มกราคม 2564 พิพากษาว่า อัญชัญมีความผิดจากการแชร์และอัพโหลดเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (1) (3) และ (5) ลงโทษจำคุกรวม 87 ปี (กรรมละ 3 ปี จำนวน 29 กรรม) แต่อัญชัญรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 29 ปี กับ 174 เดือน ทั้งนี้ระหว่างการอ่านคำพิพากษา ศาลไม่ได้อ่านว่าเนื้อหาที่อัญชัญแชร์และเป็นความผิดคืออะไร ศาลเพียงแต่อ่านว่าจำเลยกระทำความผิดในวันเวลาใดและเนื้อหาดังกล่าวจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าอะไร

หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความของอัญชัญและพี่ชายของอัญชัญยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและสลากออมสินมูลค่า 1 ล้านบาทประกันตัวอัญชัญระหว่างอุทธรณ์คดี แต่ศาลอาญาให้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย

วันที่ถูกคุมขัง : 19 มกราคม 2564

หตุผลที่ถูกคุมขัง : ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวของอัญชัญ โดยให้เหตุผลว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจําเลยให้การรับสารภาพ อีกทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทํานํามาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนผู้จงรักภักดี และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 29 ปี 174 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจําเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : ทัณฑสถานหญิงกลาง

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 1,040 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

***หมายเหตุ : ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น อัญชัญถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 1,372 วันนับตั้งแต่ถูกจับและเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 จนถึง 2 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเธอได้รับการประกันตัวออกมาเพื่อต่อสู้คดี

อ่านเรื่องราวของอัญชัญ ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/875

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “เมธิน”

ที่มาของคดี : “เมธิน” ทหารเกณฑ์ประจำการอยู่ที่กองพันทหารแห่งหนึ่ง ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากรณีพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ขณะโต้เถียงกับคู่กรณีที่ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนกลางดึก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 คู่กรณีนำคลิปวิดีโอขณะที่มีปากเสียงกับ “เมธิน” ไปแจ้งความที่ สภ.บางบัวทอง ต่อมา “เมธิน” ก็ถูกต้นสังกัดเรียกตัวกลับส่งไปธำรงวินัย ที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) ถึง 30 วัน หลังจากนั้นสภ.บางบัวทอง ก็จับกุมตามหมายจับและยื่นขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ และศาลได้อนุญาตให้ฝากขังเมธินที่เรือนจำ มทบ.11 “เมธิน” ถูกขังนานกว่า 4 เดือน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ “เมธิน” ตัดสินใจรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงอ่านคำพิพากษาทันที โดยพิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ “เมธิน” ไม่ประสงค์ยื่นอุทธรณ์คดี

วันที่ถูกคุมขัง : 11 สิงหาคม 2565

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำ มทบ.11

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 471 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “วุฒิ”

ที่มาของคดี : “วุฒิ” ประชาชนอายุ 50 ปี ประกอบอาชีพเป็นช่างเชื่อมอิสระ ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

คดีนี้เริ่มจาก สุรวัชร สังขฤกษ์ เป็นผู้กล่าวหา “วุฒิ” ต่อ สน. นิมิตรใหม่ ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก “วุฒิ” ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมา 27 มีนาคม 2566 พนักงานอัยการ ฟ้อง “วุฒิ” ต่อศาลอาญามีนบุรี สืบเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2564 ถึง 15 พฤศจิกายน 2564 รวมจำนวน 12 ข้อความ มีลักษณะหลายกรรมต่างกัน ในคำฟ้องบรรยายว่า โพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ชี้นำประชาชนที่เข้ามาคอมเมนต์ให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นบุคคลไม่ดี ลดคุณค่าความน่าเชื่อถือและความนับถือลง

วันที่ถูกคุมขัง : 27 มีนาคม 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : หลังจากถูกสั่งฟ้อง “วุฒิ” ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท แต่ศาลอาญามีนบุรี มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน เพราะการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นการกระทำหลายครั้งต่อเนื่องกัน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษมีนบุรี

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 243 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : เวหา แสนชนชนะศึก


ที่มาของคดี : เวหา แสนชนชนะศึก อายุ 39 ปี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ ชื่อ “III ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” @abigblackdogis เล่าประสบการณ์การถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา ในช่วงวันที่ 4-5 สิงหาคม 2564 รวมทั้งหมดแยกเป็น 3 กระทง

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ยื่นฟ้องเวหาต่อศาลอาญา และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา ระบุว่าเวหามีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยลงโทษ 3 กระทงตามฟ้องเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายหลายบท แต่จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และให้การรับสารภาพ จึงลดโทษจำคุกเหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

วันที่ถูกคุมขัง : 18 พฤษภาคม 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเวหาระหว่างอุทธรณ์คดี เนื่องจากศาลชั้นต้นลงโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 191 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : ทีปกร

ที่มาของคดี : ทีปกร หมอนวดอิสระ อายุ 38 ปี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการแชร์คลิปจากยูทูบมายัง

เฟซบุ๊ก และโพสต์ข้อความประกอบที่มีลักษณะตั้งคำถามว่า กษัตริย์มีไว้ทำไม

คดีนี้ ริเริ่มโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบอำนาจให้แจ้งความดำเนินคดี ในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ช่วง 6 โมงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบจาก สน.นิมิตรใหม่ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประมาณ 10 นาย ค้นบ้านพักของทีปกรพร้อมหมายค้น โดยไม่มีทนายความร่วมกระบวนการ

ต่อมา 15 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องทีปกรต่อศาลอาญา และเมื่อ 19 มิถุนายน 2566 ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ใจความว่า ทีปกรมีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการกระทำเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท จะต้องลงโทษบทหนักที่สุด ตามมาตรา 112 จึงลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

วันที่ถูกคุมขัง : 19 มิถุนายน 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 21 มิถุนายน 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทีปกรระหว่างอุทธรณ์คดี เนื่องจากข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 159 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : วารุณี

ที่มาของคดี : วารุณี ประชาชนทั่วไปชาวพิษณุโลก อายุ 30 ปี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา มาตรา 206 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ภาพดังกล่าวมีลักษณะตัดต่อเครื่องทรงพระแก้วมรกต เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI

ผู้กล่าวหาคดีนี้ คือ นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เมื่อ 2 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมวารุณีตามหมายจับถึงที่บ้านพักในจังหวัดพิษณุโลก 

ต่อมา 24 กุมภาพันธ์ 2565 อัยการยื่นฟ้องวารุณีต่อศาลอาญา

28 มิถุนายน 2566 ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ใจความว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 206 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุดคือมาตรา 112 จำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน พร้อมริบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของกลาง

วันที่ถูกคุมขัง : 28 มิถุนายน 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 30 มิถุนายน 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววารุณี เนื่องจากข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : ทัณฑสถานหญิงกลาง

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 150 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “วัฒน์”

ที่มาของคดี : “วัฒน์” ช่างตัดผม อายุ 29 ปี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) คดีนี้เริ่มจาก ปิติ สมันตรัฐ เป็นผู้ไปร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

พนักงานอัยการฟ้อง “วัฒน์” ต่อศาลอาญา ในคำฟ้องมีใจความว่า จำเลยหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีใจความว่า จำเลยเคารพนับถือเพียงรัชกาลที่ 9 แม้จะเคยอ่านข้อมูลเรื่องสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และเห็นว่ารัชกาลที่ 9 ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชน แต่จำเลยไม่เห็นว่ารัชกาลที่ 10 ได้ทรงงาน จึงไม่จำเป็นต้องเคารพ

17 กรกฎาคม 2566 ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ใจความว่าจำเลยกระทำผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การกระทำเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงลงโทษบทหนัก คือ มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

วันที่ถูกคุมขัง : 17 กรกฎาคม 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 20 กรกฎาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประตัว “วัฒน์” เนื่องจาก ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 131 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

ที่มาของคดี : “เก็ท” โสภณ นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อ 22 เมษายน 2565 ในวาระครบรอบ 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มมังกรปฏิวัติ จัดกิจกรรมทัวร์มูเตลูขอแฟน ทริปหนึ่งวันเที่ยวตามสถานที่สำคัญย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ทัวร์เส้นทางสายประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้าย ขณะที่กลุ่มทัวร์เดินมาถึงบริเวณซอยสำราญราษฎร์ ที่จะมุ่งหน้าต่อไปทางถนนมหาชัย ก็พบเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนราว 20 นาย ยืนตั้งแถวและถือโล่ สกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินต่อ ผู้ชุมนุมที่เหลือย้อนกลับไปที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นโสภณ ปราศรัยผ่านโทรโข่งขนาดเล็ก จากเกาะกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สองวันถัดมา 24 เมษายน 2565 อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ และเมื่อ 17 มิถุนายน 2565 อัยการยื่นฟ้องโสภณต่อศาลอาญา

24 สิงหาคม 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา ใจความว่า ข้อความปราศรัยของจำเลยเป็นการเปรียบเทียบว่า ต่อให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินีทำบุญ พระบารมีก็ไม่สูงขึ้น ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินีทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง จำเลยกระทำความผิด มาตรา 112 และจำเลยทำกิจกรรมและปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีกกระทง เนื่องจากการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน

[***หมายเหตุ : ความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 วรรคแรก กำหนดโทษปรับไว้เพียงไม่เกิน 200 บาท]

วันที่ถูกคุมขัง : 24 สิงหาคม 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 27 สิงหาคม 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ เนื่องจากจำเลยปราศรัยด้วยข้อความที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 93 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : อุดม

ที่มาของคดี : อุดม คนงานโรงงานจากจังหวัดปราจีนบุรี อายุ 35 ปี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กรวม 7 ข้อความ คดีนี้เริ่มจากพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ครูสอนภาษาอังกฤษอาศัยอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และสมาชิกเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) ไปแจ้งความที่สภ.สุไหงโก-ลก ทำให้อุดม ต้องเดินทางด้วยรถไฟจากปราจีนบุรีไปยังนราธิวาสเพื่อต่อสู้คดี

เมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดอ่านคำพิพากษา โดยสรุป คือ ยกฟ้อง 4 กรรมจากโพสต์ 4 ข้อความที่โพสต์ เนื่องจากมาตรา 112 คุ้มครองบุคคล 4 ตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่รวมพระมหากษัตริย์ในอดีต และยกฟ้องอีก 1 กรรม จากโพสต์ 1 ข้อความ เนื่องจากโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด ส่วนอีก 2 ข้อความ ตีความได้ว่าสื่อถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน มีความผิดมาตรา 112 จำนวน 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ในชั้นอุทธรณ์ 30 สิงหาคม 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าผิดใน 2 ข้อความ ลงโทษจำคุก 4 ปี

วันที่ถูกคุมขัง : 30 สิงหาคม 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 31 สิงหาคม 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำสั่งศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอุดม เนื่องจากพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างฎีกาคำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 87 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : สมบัติ ทองย้อย

ที่มาของคดี : สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการโพสต์ข้อความเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2563 ว่า “กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 และโพสต์อีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น

เมื่อ 28 เมษายน 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำพิพากษา ใจความว่า การกระทำของจำเลยให้เห็นถึงเจตนาของจําเลยที่ต้องการจะดูถูก ด้อยค่าพระมหากษัตริย์ อันเข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นแล้ว และเห็นว่าผิดตามฟ้องในความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 112 ลงโทษจําคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจําคุก 6 ปี

ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อ 13 กันยายน 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีความผิดในทั้งสองกระทงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่พิพากษาลดโทษ เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา

วันที่ถูกคุมขัง : 13 กันยายน 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : สมบัติตัดสินใจจะรับโทษจำคุก 4 ปีจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ประสงค์ฎีกา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 73 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

อ่านเรื่องราวของสมบัติ ทองย้อย ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/1045

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “ภัทรชัย”

ที่มาของคดี : “ภัทรชัย” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมชุมนุมและทำให้เกิดเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณทางลงด่วนดินแดง ถนนวิภาวดี เมื่อ 12 กันยายน 2564 ซึ่งขณะนั้น “ภัทรชัย” ยังเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี หลังจากนั้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา กับ “ภัทรชัย” ได้แก่

1. หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

2. ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามมาตรา 215

3. ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 216

4. ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217

5. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ

6. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

วันที่ถูกคุมขัง : 17 กันยายน 2566 (ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : ยังไม่ทราบรายละเอียด

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ยังไม่ทราบรายละเอียด

สถานที่คุมขัง : สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (บ้านเมตตา)

อยู่ในสถานพินิจมาแล้ว : 69 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : อานนท์ นำภา

ที่มาของคดี : อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ อีก 9 ข้อหา สืบเนื่องจากการปราศรัยในการชุมนุม 14 ตุลาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การชุมนุมดังกล่าว มีข้อเรียกร้องเพื่อขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในวันดังกล่าวมีการระดมคนใส่เสื้อสีเหลืองจำนวนหลายพันคนมาตั้งแถวรับเสด็จบริเวณเดียวกับที่นัดหมายชุมนุม ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างตลอดทั้งวัน จนกระทั่งช่วงบ่ายผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปทางถนนนครสวรรค์ เกิดเหตุการณ์ขบวนเสด็จวิ่งผ่านม็อบ ทำให้การชุมนุมวันนั้นเกิดภาพจำที่ไม่ดีระหว่างผู้ชุมนุมกับสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อ 26 กันยายน 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา ใจความว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยความผิดใน 2 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และลงโทษปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา ส่วนอีก 7 ข้อหา ยกฟ้อง

วันที่ถูกคุมขัง : 26 กันยายน 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 30 กันยายน 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ เนื่องจาก การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 60 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

อ่านเรื่องราวของอานนท์ นำภา ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/1205

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : วีรภาพ วงษ์สมาน

ที่มาของคดี : วีรภาพ วงษ์สมาน ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามมาตรา 215 มูลเหตุของคดีมาจากการพ่นสีสเปรย์ข้อความใจความว่า ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ บริเวณแยกดินแดง ในการชุมนุมเมื่อ 13 กันยายน 2564

28 กันยายน 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา ใจความว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนข้อหาอื่นให้ยก

วันที่ถูกคุมขัง : 28 กันยายน 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 30 กันยายน 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววีรภาพ ด้วยเหตุผลว่า

การกระทำของจำเลยมีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 58 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “ภูมิ หัวลำโพง”


ที่มาของคดี : “ภูมิ หัวลำโพง” ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน มาตรา 136 ความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามมาตรา 215 และข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว สิริชัย นาถึง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ที่หน้าสภ.คลองหลวง ขณะเกิดเหตุ “ภูมิ” อายุ 17 ปี จึงถูกดำเนินคดีในฐานะเยาวชนแยกออกมา

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 อัยการฟ้อง “ภูมิ” ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ด้วยสี่ข้อหาข้างต้น ระบุว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด มีการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ดไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือป้ายชื่อ สภ.คลองหลวง

เมื่อ 18 ตุลาคม 2566 วันนัดหมายสืบพยาน “ภูมิ” ขอถอนคำให้การจากเดิมที่ปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ศาลเรียกเขามาสอบถามเรื่องประวัติครอบครัวและการศึกษา “ภูมิ” แถลงว่ายินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด หลังจากนั้นศาลจึงอ่านคำวินิจฉัย ใจความว่า คดีนี้ยังไม่สมควรมีคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่กับบิดามารดา มีเพียงยายเลี้ยงดู จำเลยไม่ได้เรียนหนังสือ เคยกระทำความผิดทางอาญารวมทั้งหมด 8 คดี จึงใช้มาตรการพิเศษตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ส่งตัวไปสถานพินิจฯ กำหนดเงื่อนไขให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย 2 หลักสูตร ให้อยู่สถานพินิจ 1 ปี ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ รายงานความประพฤติจำเลยให้ศาลทราบทุก 3 เดือน

วันที่ถูกคุมขัง : 18 ตุลาคม 2566

สถานที่คุมขัง : สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (บ้านเมตตา)

อยู่ในสถานพินิจมาแล้ว : 38 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “กัลยา”


ที่มาของคดี : “กัลยา” พนักงานเอกชน อาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ผู้กล่าหาคดีนี้ คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ครูสอนภาษาอังกฤษอาศัยอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และสมาชิกเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) ซึ่งไปแจ้งความที่สภ.สุไหงโก-ลก ส่งผลให้ “กัลยา” ต้องเดินทางไกลเมื่อมีนัดหมายคดีทั้งในชั้นตำรวจและชั้นศาล

เมื่อ 2 สิงหาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษา ใจความว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 14 (3) ลงโทษกระทงละ 3 ปี 2 กระทง รวมลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อ 20 ตุลาคม 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุกตามศาลชั้นต้น โดยให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา

วันที่ถูกคุมขัง : 20 ตุลาคม 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 22 ตุลาคม 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวกัลยา เนื่องจากพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ระหว่างฎีกาคำพิพากษา

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 36 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) 

อ่านเรื่องราวของ “กัลยา” ได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/998

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “แม็กกี้”

ที่มาของคดี : “แม็กกี้” ประชาชนทั่วไปชาวยโสธร อายุ 26 ปี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และ (5)

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 “แม็กกี้” ถูกตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบ เข้าประกบตัวขณะที่เดินเล่นที่อินเตอร์เชนจ์อโศก หลังจากนั้นตำรวจนำตัว “แม็กกี้” ไป สน.ทองหล่อ เพื่อทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มูลเหตุของคดี เกิดจากการทวีตข้อความในทวิตเตอร์ ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 ในบันทึกจับกุมบรรยายใจความว่า ตำรวจทำการสืบสวนติดตามผู้ใช้ทวิตเตอร์มีพฤติการณ์การกระทำความผิดด้วยการโพสต์ข้อความ รูปภาพบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และจากการตรวจสอบทางเทคนิคพบว่าเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวคือผู้ต้องหาในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ยังมีการตรวจสอบสถานที่ที่บัญชีดังกล่าวโพสต์ เปรียบเทียบกับภาพจากกล้องวงจรปิดด้วย

“แม็กกี้” ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทองหล่อ 2 คืน จนบ่ายวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ตำรวจนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยขอคัดค้านการประกันตัว อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง

วันที่ถูกคุมขัง : 22 ตุลาคม 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 22 ตุลาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัวตามคำขอของผู้ต้องหา ให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ในชั้นนี้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ชั้นสอบสวน

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 34 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

ชื่อผู้ถูกคุมขัง : “เจมส์”-ณัฐกานต์ ใจอารีย์


ที่มาของคดี : ณัฐกานต์ นักกิจกรรม อายุ 36 ปี ปี ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2566 ณัฐกานต์ถูกจับกุมตามหมายจับศาลจังหวัดพัทลุง ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 และพาตัวไปที่ สน.ตลิ่งชัน โดยตำรวจให้ข้อมูลว่า สมาชิกกลุ่มประชาภัคพิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหาคดีนี้ไว้ที่ สภ.เมืองพัทลุง

ณัฐกานต์ถูกคุมตัวไว้ที่ สน.ตลิ่งชัน วันต่อมา 7 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.50 น. ถูกนำตัวไปถึงสภ. เมืองพัทลุง และถูกคุมตัวไว้ 1 คืน ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

วันที่ถูกคุมขัง : 9 พฤศจิกายน 2566

เหตุผลที่ถูกคุมขัง : 9 พฤศจิกายน 2566 พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลจังหวัดพัทลุงเป็นเวลา 12 วัน ด้านณัฐกานต์คัดค้านการฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้พักอยู่บ้านตามทะเบียนบ้าน จึงไม่ได้รับหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง และระหว่างถูกจับกุมก็ได้ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ด้านทนายจึงยื่นประกันตัว ต่อมาศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอาจไปกระทำในลักษณะเดิมอีก

ชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี : ชั้นสอบสวน

เรือนจำที่ถูกคุมขัง : เรือนจำกลางพัทลุง

อยู่ในเรือนจำมาแล้ว : 16 วัน (นับถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566