ลำดับข้อเท็จจริง คดีมาตรา 112 ของ ‘ลูกเกด’ ที่ศาลสั่งเปลี่ยนวันนัดเอง จนต้องสืบพยานโดยไม่มีทนาย

52957183240_f720c07db5_h

1-2 มิถุนายน 2566 ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด นักกิจกรรมทางการเมืองที่ผันตัวมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. กับพรรคก้าวไกล เดินทางไปศาลเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดีมาตรา 112 ในฐานะจำเลย ซึ่งตามกำหนดการเดิมคดีนี้จะมีนัดสืบพยานในเดือนมีนาคม 2567 แต่ศาลสั่งให้เลื่อนการพิจารณาขึ้นมาโดยที่ทนายของเธอไม่ว่าง เธอจึงไปพร้อมกับผู้ช่วยทนายความเพื่อไปยื่นเอกสารหลักฐานและคำร้องขอเลื่อนคดี แต่ศาลสั่งไม่ให้เลื่อนคดีและให้สืบพยานฝ่ายโจทก์เลย ส่งผลให้ชลธิชาต้องนั่งฟังการพิจารณาคดีฝ่ายเดียว โดยไม่มีทนายความ และไม่มีโอกาสถามค้านพยานโจทก์
 

ชลธิชาเป็นผู้มีประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนมายาวนาน ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ช่วงการรัฐประหารปี 2557 ชลธิชาเคยถูกดำเนินคดีฐานร่วมชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เคยถูกดำเนินคดีฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และถูกส่งเข้าเรือนจำมาแล้วในปี 2558 ต่อมาเมื่อคนรุ่นใหม่จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แบบ “ทะลุเพดาน” ชลธิชามีบทบาทในการจัดชุมนุมบ้าง และในยุคสมัยที่มีคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ชลธิชาก็ถูกดำเนินคดีสองคดี
 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ชลธิชา ประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี เขต 3 และในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลปรากฏว่า ชลธิชาชนะการเลือกตั้งส.ส. ในระบบแบ่งเขต และได้เป็น “ว่าที่ ส.ส.” การเลื่อนนัดพิจารณาคดีของชลธิชาจากเดือนมีนาคม 2567 ขึ้นมาเป็นเดือนมิถุนายน 2566 ทำให้ชลธิชาต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีระหว่างรอกกต.รับรองสถานะส.ส. 

คดีราษฎรสาสน์ เริ่มด้วยศชอ. แจ้งความ รับไม่ได้ข้อเรียกร้องเรื่องงบประมาณและทรัพย์สิน

สำหรับคดีที่เป็นปัญหา เกิดจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระหว่างจัดกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 กิจกรรมดังกล่าวเชิญชวนให้ประชาชนเขียนจดหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่สิบ เรียกร้องให้มีปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้สองรูปแบบทั้งการเขียนจดหมายด้วยกระดาษแล้วนำไปส่งที่ตู้ไปรษณีย์จำลองที่ถนนราชดำเนินกลางที่จะถูกนำไปยื่นที่สำนักพระราชวังบริเวณท้องสนามหลวงในภายหลัง สำหรับคนที่ไม่สะดวกมาสนามหลวงก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมโดยฝากจดหมายให้คนที่มางานนำมาหย่อนให้ หรือเขียนจดหมายเผยแพร่บนช่องทางออนไลน์ของตัวเอง ซึ่งต่อมาปรากฎว่ามีคนถูกดำเนินคดีจากการเขียนจดหมายเผยแพร่บนโลกออนไลน์แม้ว่าคนที่ร่วมเขียนจดหมายส่วนใหญ่จะเขียนด้วยความสุภาพ ใช้คำราชาศัพท์ รวมถึงมีข้อเรียกร้องที่เรียงร้อยอย่างเป็นเหตุเป็นผลก็ตาม
 

สำหรับตัวของชลธิชาได้รับหมายเรียกที่ออกโดยพ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงค์ รองผู้บังคับการบก.ปอท. ลงวันที่ 18 มกราคม 2564 หมายเรียกดังกล่าวระบุว่านพดล พรหมภาสิต เลขาธิการของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)  เป็นผู้กล่าวหา อ้างว่าข้อความที่ชลธิชาโพสต์หมิ่นประมาทและดูหมิ่นกษัตริย์ฯอยู่สองส่วน ได้แก่ ส่วนที่ว่าด้วยการใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ และการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ และส่วนที่ว่าด้วยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยการรับฟังเสียงโห่ร้องไม่พอใจของราษฎร

ชลธิชาเข้ารายงานตัวที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในวันที่ 25 มกราคม 2564 พนักงานอัยการยื่นฟ้องชลธิชา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในวันที่ 15 มีนาคม 2565 คำฟ้องส่วนหนึ่งระบุว่า ชลธิชาแสดงความเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเด็นต่างๆ เช่น การไปพักอาศัยในต่างประเทศ การโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ที่ฟุ่มเฟือย และการเลื่อนยศตำแหน่งให้กับข้าราชการและพลเรือน เป็นต้น 
 

อัยการระบุด้วยว่าข้อความที่ชลธิชาโพสต์ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเบียดเบียนทรัพยากรของประเทศที่ได้มาด้วยน้ําพักน้ําแรงของราษฏรไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย พระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน เข้ามาแทรกแซงการเมืองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายของบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ทรงเสื่อมเสีย พระเกียรติยศชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธาในพระองค์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ศาลสั่งเปลี่ยนวันนัด โดยไม่ให้โอกาสและไม่มีคำอธิบาย

หลังอัยการยื่นฟ้องคดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ชลธิชา ไปศาลโดยแต่งตั้งทนายความไว้สองคน คือ กฤษฎางค์ นุตจรัส และนรเศรษฐ นาหนองตูม ซึ่งจำเลยและทนายความเดินทางไปศาลในนัดตรวจพยานหลักฐาน หลังทั้งสองฝ่ายยื่นบัญชีระบุพยานและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วก็ต้องตกลงหาวันนัดที่สะดวกร่วมกัน ซึ่งทนายความของจำเลยทั้งสองคนก็รับว่าความให้กับจำเลยในคดีมาตรา 112 และคดีความทางการเมืองอีกจำนวนมาก จนติดนัดสืบพยานยาวข้ามปี 
 

ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับปี 2566 ที่ออกมาเพื่อเร่งรัดให้ศาลพิจารณาคดีโดยเร็ว กำหนดให้ต้องพิจารณาคดีแต่ละคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่หากคู่ความไม่ว่างและหาวันนัดตรงกันไม่ได้ คู่ความก็จะต้องทำคำร้องพิเศษพร้อมเอกสารหลักฐานว่า ไม่สามารถกำหนดวันนัดภายในหนึ่งปีได้เพื่อยื่นต่อศาล และทนายความของชลธิชาก็ได้ทำคำร้องยื่นไปในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 แล้ว โดยระบุถึงคดีความต่างๆ อีกหลายสิบคดีที่ทนายความทั้งสองคนรับผิดชอบอยู่ เป็นเหตุให้ไม่มีเวลาว่างเหลือคนถึงปี 2567 จากนั้นทั้งทนายจำเลย ทั้งพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ศาลจึงตกลงหาวันว่างและกำหนดวันนัดสืบพยานในคดีนี้เป็นช่วงเดือนมีนาคม 2567
 

แต่หลังยื่นคำร้องได้ไม่กี่วันก็มีเจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์มาหานรเศรษฐ ทนายของชลธิชา แจ้งว่าศาลจะขอเปลี่ยนวันนัดพิจารณาคดีที่กำหนดไว้ในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งนรเศรษฐก็ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ศาลทางโทรศัพท์แล้วว่า ไม่สามารถมาตามนัดที่กำหนดเร็วขึ้นได้ เพราะติดว่าความในคดีอื่น และเจ้าหน้าที่ศาลได้จดไว้ในรายงานแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ยังมีหมายจากศาลส่งมายังนรเศรษฐ ลงชื่ออรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 แจ้งว่า ศาลได้มีคำสั่งให้กำหนดวันนัดใหม่เป็นวันที่ 1,2,6 มิถุนายน และ 8,10,11 สิงหาคม 2566 

นรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความของชลธิชาเล่าว่า กรณีการแจ้งขอเปลี่ยนวันนัดเคยเกิดขึ้นมาบ้างแล้วเนื่องจากศาลมีนโยบายเร่งรัดไม่ให้การพิจารณาคดีนานเกินไป เช่น คดีหมายเลขดำที่ อ.2804/64 ที่อานนท์ นำภา เป็นจำเลยในข้อหามาตรา 112 หรือคดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ที่พริษฐ์ ชิรารักษ์ กับพวกรวม 22 คน เป็นจำเลยในข้อหามาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ซึ่งเป็นคดีที่ศาลอาญาเช่นเดียวกัน แต่เมื่อทนายจำเลยไม่ว่างจริงๆ และในวันนัดก็แถลงต่อศาลพร้อมหลักฐาน ศาลก็จะให้เลื่อนไปสืบพยานในวันที่ทนายจำเลยว่างและสามารถมาศาลได้  เมื่อถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ซึ่งศาลมีหมายเรียกไปถึงทนายความ ทนายจำเลยจึงเขียนคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานว่าไม่ว่างมาศาล และให้ผู้ช่วยทนายความนำไปยื่นต่อศาล โดยพนักงานอัยการก็ไม่คัดค้านหากจะสืบพยานคดีนี้ตามวันที่นัดไว้ในเดือนมีนาคม 2567 แต่ปรากฎว่าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดและสั่งให้สืบพยานทันที โดยที่จำเลยไม่มีทนายความมาด้วย จึงไม่มีโอกาสได้ถามค้านพยานฝ่ายโจทก์

เนื่องจากคดีนี้ศาลใช้วิธิพิจารณาแบบบันทึกคำเบิกความพยานด้วยวิดีโอเป็นภาพและเสียง ไม่ต้องจดบันทึกและไม่ต้องอ่านทวนคำเบิกความพยานทั้งหมด ทำให้การสืบพยานฝ่ายโจทก์ที่ไม่มีการถามค้านดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก และสืบพยานโจทก์เสร็จในเวลาสองวัน คือ วันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2566 โดยกระบวนการทั้งหมดชลธิชาไม่มีทนายอยู่ร่วมในกระบวนการเลย

เนื่องจากการสืบพยานของฝ่ายโจทก์เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นศาลจึงให้จำเลยเริ่มการสืบพยานฝ่ายจำเลยต่อในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ซึ่งชลธิชาเดินทางไปศาลโดยไม่มีทนายความไปด้วยเช่นเดิม และแถลงต่อศาลว่า ทนายความติดนัดคดีอื่นไม่สามารถมาศาล พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลตรวจสอบวันนัดในระบบฐานข้อมูลของศาล ศาลจึงทราบว่า ทนายความจำเลยทั้งสองคนติดนัดพิจารณาคดีอื่นที่นัดไว้ก่อนแล้วจริง ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยออกไปเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2566 และได้ออกหมายเรียกให้พยานโจทก์ที่เบิกความไปแล้วกลับมาศาลเพื่อให้ทนายจำเลยได้ถามค้านใหม่

สรุปลำดับเวลา ในคดี ราษฎรสาสน์ของชลธิชา

  • 8 พฤศจิกายน 2563 เกิดกิจกรรมชุมนุม “ราษฎร์สาสน์” ชลธิชา หรือลูกเกด โพสเฟซบุ๊กเป็นจดหมายถึงรัชกาลที่ 10 เรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
  • 18 มกราคม 2564 ชลธิชา เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่บก.ปอท.
  • 12 กุมภาพันธ์ 2565 ชลธิชาประกาศเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกล
  • 15 มีนาคม 2565 พนักงานอัยการยื่นฟ้องชลธิชา ต่อศาลอาญา
  • 27 มิถุนายน 2565 นัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายความจำเลยทั้งสองคนยื่นคำร้องแจ้งว่าติดนัดหลายคดี และกำหนดวันสืบพยานคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2567
  • ถัดมาไม่กี่วัน  เจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์แจ้งว่าจะเลื่อนการนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น ทนายความแจ้งว่าไม่ว่าง เจ้าหน้าที่บันทึกไว้แล้วในสำนวน
  • 5 กรกฎาคม 2565 ศาลอาญาออกหมายเรียก ลงชื่ออรรถการ ฟูเจริญ กำหนดวันสืบพยานใหม่ซึ่งเป็นวันที่ทนายจำเลยแจ้งไว้แล้วว่าไม่ว่าง
  • 14 พฤษภาคม 2566 ชลธิชาชนะการเลือกตั้ง จังหวัดปทุมธานี เขต 3 ได้เป็น ว่าที่ส.ส.
  • 1 – 2 มิถุนายน 2566 จำเลยไปศาลโดยไม่มีทนายความ ขอให้ศาลสืบพยานตามวันนัดเดิม แต่ศาลไม่อนุญาตและสืบพยานไปโดยไม่จำเลยไม่มีทนายความ

ศาลอ้างทำถูกกฎหมาย จำเลยมีทนายความสองคน 

สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ชี้แจงว่า กรณีคดีนี้เดิมมีการกำหนดนัดสืบพยานไว้เป็นช่วงเดือนมีนาคม 2567 แต่ตอนหลังมีเรื่องของการกำหนดกรอบระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม  ซึ่งศาลอาญาเห็นว่า ระยะเวลาที่มีการนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2567 น่าจะเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป เลยกรอบไปนาน จึงมีการปรับปรุงวันนัดใหม่ให้กระชั้นขึ้น หรือเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกินกรอบระยะเวลานานเกินไป เมื่อกำหนดวันนัดใหม่ ก็เลยมีประเด็นที่จำเลยโต้แย้งวันนัดว่า จำเลยไม่ว่าง เพราะทนายติดว่าความคดีที่ศาลอื่น แต่องค์คณะผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนคดีนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ จำเลยมีทนาย 2 คน คือ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม และกฤษฎางค์ นุตจรัส โดยคนที่แถลงเลื่อนว่า ติดว่าความที่ศาลอื่น คือ ทนายนรเศรษฐ์ ส่วนทนายกฤษฎางค์ ไม่ได้ปรากฏว่าติดคดีอะไร จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้ดำเนินการสืบพยานไป
 

ส่วนประเด็นที่การสืบพยานดำเนินไปโดยไม่มีทนายความร่วมด้วยนั้น โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายกำหนดว่า ต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องสืบพยานต่อหน้าทนายจำเลย เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนพิจารณา การที่กฎหมายกำหนดคือเรื่องของจำเลยเป็นหลัก แต่สิทธิในการที่จะต่อสู้คดีในการถามค้าน ก็มี 2 ส่วน คือ ประเด็นแรก ทางศาลถามตัวจำเลยว่าจะซักถามพยานในเชิงถามค้านเองหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ไม่ใช้สิทธิ 
 

สรวิศ กล่าวด้วยว่า ในการสืบพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 มีการอัดเทป หรือวิดีโอไว้ด้วย ซึ่งศาลก็ได้ถามชลธิชาว่า หากทนายจำเลยไม่ว่างในวันดังกล่าว ก็สามารถไปศึกษาจากวิดีโอที่บันทึกไว้ เพื่อขอถามค้านในวันอื่นได้ แต่ปรากฏว่าชลธิชาได้โต้แย้งว่า กระบวนการพิจารณาคดีไม่ชอบและแจ้งต่อศาลว่าไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิในการถามค้าน