RECAP 112: ชวนรู้จักสิทธิโชค ไรเดอร์ส่งอาหารจุดประเด็น #แบนFoodpanda

(1) ย้อนกลับไปในการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ผู้ชุมนุมต้องการเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลผ่านแยกผ่านฟ้า แต่ตำรวจตั้งแถวปิดและใช้กำลังให้ผู้ชุมนุมถอย หลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นทับซ้อนกัน ไม่ว่าจะสื่อถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นขาโดยไม่มีการแจ้งเตือน ภาพใบหน้าโชกเลือดของเด็กหนุ่มที่ถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยาง การฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาขับไล่ผู้ชุมนุมให้ไปทางถนนนครสวรรค์ คล้อยหลังที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไป

ช่วงเย็นมีเหตุเพลิงไหม้บริเวณใกล้กับแยกผ่านฟ้าอย่างน้อยสามจุด หนึ่งในนั้นคือ ใต้ฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10

(2) สิทธิโชค ชายอายุ 25 ปี ประกอบอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวเห็นเหตุการณ์ไฟลุกไหม้ จึงคว้าน้ำดื่มไปพรมดับเพลิง แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า เขาถูกข้อหาวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ต้องโทษหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  

(3) สิทธิโชค ทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ภัย ช่วยเหลือประชาชนทั้งการดับเพลิงและจับสัตว์เลื้อยคลานที่เข้าบ้านพักของประชาชน การทำงานขับรถมอเตอร์ไซด์ตระเวนส่งอาหารท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดนี้ ทำให้เขาต้องเตรียมน้ำดื่มหวานๆ เพื่อบรรเทาความกระหายระหว่างวัน โดยก่อนเริ่มรับออเดอร์แรกของแต่ละวัน เขาจะซื้อบิ๊กโคล่าสีม่วงกลิ่นองุ่นและผสมกับน้ำเปล่าไว้ เขาบอกว่า เหตุที่ต้องผสมน้ำเปล่าเพราะบิ๊กโคล่ามีแก๊สเยอะเกินไปสำหรับเขา หากดื่มแบบไม่ผสมเขามักจะปวดท้อง

(4) วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 สิทธิโชคออกไปทำงานตามปกติ โดยซื้อบิ๊กโคล่ากับน้ำเปล่าและเก็บไว้ที่กล่องสีชมพูของ Foodpanda ที่ท้ายรถของเขาเหมือนเช่นทุกวัน จากนั้นก็ขับรถส่งอาหารเรื่อยมาจนถึงบริเวณแยกท่าพระ ก่อนที่จะขับกลับมาในเมืองเพื่อรอออเดอร์ต่อไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

(5) ระหว่างทางที่รถติดมาก สิทธิโชคเห็นว่ามีการชุมนุมอยู่จึงขับเลยไปที่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ (สะพานผ่านฟ้า) เมื่อจอดดูก็พบว่ามีเพลิงไหม้กองหุ่นฟาง เขาจึงเข้าไปหยิบน้ำดื่มที่ผู้ชุมนุมแจกจ่ายพรมๆ ช่วยระงับเพลิง เขาเล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานอาสาสมัครตั้งแต่อายุ 20 ปี เขามีทริคดับเพลิงในสถานการณ์ที่มีน้ำจำกัด คือ ใช้กุญแจรถเจาะฝาให้เป็นรูแล้วพรมๆ ไป

(6) สิทธิโชคสังเกตเห็นไฟที่ฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็นเหตุในคดีนี้ จึงไปคว้าน้ำบิ๊กโคล่าที่ผสมน้ำเปล่าท้ายรถมาพรมดับเพลิงบริเวณดังกล่าว เขาบอกว่า การพรมน้ำจะพรมบริเวณที่ยังไม่ไหม้ชื้น พอไฟลามมาถึงจะได้ไม่ลุกลาม ระหว่างนี้ มีตำรวจมาเรียกให้เขาลงมาและบอกว่า “จะให้รถจีโน่มาดับ” แต่ตอนที่เขาลงมาตามคำขอของตำรวจนั้นไฟก็มอดลงแล้ว เขาจึงออกไปรับออเดอร์ส่งอาหารตามปกติและเดินทางกลับบ้านพัก 

(7) เย็นวันดังกล่าว ในโลกทวิตเตอร์มีการเผยแพร่ภาพเบาะแสผู้ก่อเหตุที่ระบุว่า “เผาพระบรมฉายาลักษณ์” โดยภาพสิทธิโชคยืนอยู่บริเวณรถจักรยานยนต์ด้านหลังมีกล่องส่งอาหารสีชมพูของ Foodpanda ต่อมาแอดมินของแอคเคาท์ Foodpanda ได้ทวีตตอบในประเด็นดังกล่าวว่า

“ทางเราจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที ขอเรียนให้ทราบว่า ทางฟู้ดแพนด้ามีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่ค่ะ”

จนทำให้เกิดกระแสแฮชแท็ก #แบนFoodpanda และตามด้วยแถลงการณ์การขออภัยจากบริษัทในวันถัดมา

(8) ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ตำรวจก็ติดตามสะกดรอยเขาไปที่บ้านพักและตรวจสอบพบว่า มีเจ้าบ้านคือ ธาราเทพ ซึ่งตำรวจมีการติดตามอยู่ก่อนแล้ว โดยธาราเทพชอบไลฟ์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่บ่อยๆ ตำรวจจึงไล่ดูเฟรนด์ลิสต์ของธาราเทพจนเจอบุคคลที่คาดว่าจะเป็นคนก่อเหตุ ซึ่งก็คือสิทธิโชคนั่นเอง

(9) ภายหลังตำรวจรวบรวมทำรายงานการสืบสวนและส่งให้พนักงานสอบสวน ก็นำไปสู่การออกหมายจับสิทธิโชคอย่างรวดเร็วในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 โดยคดีนี้สิทธิโชคถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 วางเพลิงเผาทรัพย์และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

(10) สิทธิโชคได้รับการปล่อยตัวระหว่างการสอบสวนเรื่อยมาจนถึงชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ระหว่างการสืบพยานพบว่า จุดที่มีเพลิงไหม้อันเป็นเหตุกล่าวหาตามมาตรา 112 คือ ผ้าประดิษฐานใต้ซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ใช่พระบรมฉายาลักษณ์

(11) เขายืนยันว่า ในวันเกิดเหตุ สิ่งที่เขาพรมลงดับไฟนั้นคือ “น้ำบิ๊กโคล่าผสมน้ำเปล่า” เพื่อช่วยดับเพลิง ไม่ใช่น้ำมันหรือสารไวไฟชนิดอื่น และตอนที่ตำรวจมาเรียกเขาให้ออกมาจากบริเวณซุ้ม ไฟก็ดับลงแล้ว

(12) พยานโจทก์ ปากตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานกลางที่ตรวจผ้าประดิษฐานระบุว่า ไม่พบน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสารเคมีไวไฟที่ผ้าดังกล่าว เหตุที่ไม่พบอาจด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงมีคุณสมบัติระเหยได้ง่าย อาจจะระเหยไปหมดก่อนที่จะถูกส่งมาให้พยานตรวจสอบ ขณะที่เอกสารส่งตรวจจากพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 หลังวันเกิดเหตุกว่าสิบวัน โดยพนักงานสอบสวนระบุเหตุที่ส่งตรวจล่าช้า เนื่องจาก สน.นางเลิ้งมีคดีความจำนวนมาก

(13) สิทธิโชคเป็นจำเลยอีกคนที่นับถอยหลังสู่คำพิพากษา โดยศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษามาตรา 112 คดีนี้ในวันที่ 17 มกราคม 2566