บริษัท NSO Group ผู้ผลิตเพกาซัส และรัฐบาลที่ซื้อมาใช้ ถูกฟ้องมาแล้วทั่วโลก

ระดับความร้ายแรงของสปายแวร์เพกาซัสไม่ใช่เรื่องที่ผู้เสียหายจะเมินเฉยได้ นับตั้งแต่มีการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการใช้สปายแวร์เข้าไปล้วงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนทั่วโลก บริษัท NSO Group ในฐานะผู้คิดค้นและขายเพกาซัส และรัฐบาลประเทศต่างๆ ในฐานะผู้ที่ซื้อมาใช้งานละเมิดสิทธิประชาชน ก็ต้องเจอเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ถาโถมเข้ามาเป็นพายุ โดยมีทั้งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการเจาะโทรศัพท์และการฟ้องร้องจากผู้เสียหาย ซึ่งจนถึงปลายปี 2565 มีอย่างน้อย 11 ประเทศ โดยเป็นคดีความต่อ NSO Group อย่างน้อย 11 ครั้ง และรัฐบาลอีกอย่างน้อย 7 ครั้ง

ตัวอย่างการต่อสู้ของผู้เสียหาย เพื่อหาข้อเท็จจริงและหาความรับผิดชอบที่น่าสนใจมีดังนี้

คนใกล้ชิด Khashoggi ฟ้องรัฐบาลซาอุในอิสราเอล เอี่ยวคดีฆาตกรรมโหด

ในเดือนธันวาคม 2561 Omar Abdulaziz ยื่นฟ้อง NSO Group ต่อศาลอิสราเอล เรียกร้องค่าเสียหาย 600,000 เชเกล หรือมากกว่า 6 ล้านบาท โดยกล่าวหาว่าบริษัทผู้ผลิตเพกาซัสช่วยให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียเจาะโทรศัพท์ของตน และล้วงข้อมูลการพูดคุยระหว่าง Abdulaziz กับ Jamal Khashoggi นักข่าวจากสำนักข่าว Washington Post ที่ถูกฆ่าหั่นศพอย่างโหดเหี้ยมในสถานทูตซาอุดิอาระเบียในเมืองอิสตันบูลประเทศตุรกี เมื่อปลายปี 2018 โดย Abdulaziz เป็นคนใกล้ชิดกับ Khashoggi และถูกตรวจพบว่าโทรศัพท์ของตนถูกสปายแวร์เพกาซัสเจาะในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการฆาตกรรม ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าเพกาซัสนั้นมีส่วนในการสังหาร Khashoggi

ก่อนหน้านี้ NSO Group อ้างว่าเพกาซัสถูกใช้เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับอาชาญากรรมและการก่อการร้ายเท่านั้น รวมถึงหากมีสัญญาณว่าจะมีการใช้ปสายแวร์ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง บริษัทก็จะหยุดให้บริการทันที และเคยปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้สปายแวร์กับโทรศัพท์ของ Khashoggi

ในเดือนมิถุนายน 2563 ศาลอิสราเอลยกคำร้องฝ่ายจำเลยที่ขอให้ศาลยกฟ้องโดยอ้างว่าฝ่ายโจทก์เจตนาฟ้องคดีโดยไม่สุจริต และตัดสินให้ NSO Group ต้องจ่ายค่าทนายความให้กับ Abdulaziz เป็นจำนวน 23,000 เชเกล หรือกว่า 230,000 บาท และดำเนินคดีต่อในส่วนเนื้อหาของการใช้สปายแวร์และการละเมิดสิทธิ โดยทนายความของ Abdulaziz มองว่า ที่ผ่านมาบริษัท NSO ไม่ยอมเข้าต่อสู้คดีในเนื้อหาแต่ใช้แทคติกการถ่วงเวลา อย่างไรก็ดีทาง NSO ก็ยืนยันจะอุทธรณ์คำร้องนี้ต่อ

นักกิจกรรมซาอุฟ้องรัฐบาลซาอุในอังกฤษ

ในเดือนพฤศจิกายน 2562 นักกิจกรรมชาวซาอุดิอาระเบีย Ghanem Almasarir ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลซาอุดิอาระเบียต่อศาลแพ่งอังกฤษ Almasarir อาศัยอยู่ในอังกฤษมานานนับสิบปี และเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียมาโดยตลอด ยื่นฟ้องว่ารัฐบาลซาอุดิอาระเบียใช้สปายแวร์เพกาซัสเจาะโทรศัพท์และขโมยข้อมูลส่วนตัวไป Almasarir เริ่มสังเกตว่าโทรศัพท์ของตนไม่สามารถอับเดตได้ และมีการอาการร้อนและแบตเตอรี่หมดไวจนผิดปกติ ต่อมา การตรวจสอบทางเทคนิคโดย Citizen Lab ในปี 2561 ยืนยันว่าเพกาซัสถูกส่งเข้าโทรศัพท์ของนักกิจกรรมชาวซาอุดิอาระเบียจริง ผ่านการส่งข้อความและลิงค์ที่เมื่อคลิกแล้วจะนำไปสู่เพกาซัส

คดีนี้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียต่อสู้คดีโดยอ้างว่า มีกฎหมายเรื่องการคุ้มกันและไม่สามารถดำเนินคดีนี้ในแผ่นดินอังกฤษได้ อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม 2565 ศาลของอังกฤษก็ยกคำร้องให้ยกฟ้องของฝ่ายจำเลย โดยเห็นว่า กรณีนี้เข้าข่ายข้อยกเว้นให้ดำเนินคดีในอังกฤษได้เพราะเป็นกรณีรัฐบาลต่างชาติกระทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล (any act by a foreign state that causes personal injury) และฝ่ายผู้เสียหายได้นำเสนอหลักฐานตามสมควร คดีนี้จึงกำลังเดินหน้าต่อไป

WhatsApp ฟ้อง NSO Group ในสหรัฐ

นอกจากคดีที่มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว หรือบุคคลสาธารณะเป็นผู้ริเริ่มแล้ว บริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเพกาซัสก็ตัดสินใจฟ้องบริษัท NSO Group ด้วยเช่นกัน ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 WhatsApp และ Facebook ซึ่งเป็นบริษัทแม่ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Meta) ยื่นฟ้อง NSO Group และบริษัทในเครือ Q Cyber Technologies ต่อศาลในแคลิฟอร์เนียในสหรัฐ โดยกล่าวหาว่าจำเลยใช้เซิฟเวอร์ของ WhatsApp ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐในการส่งมัลแวร์ไปสู่โทรศัพท์มือถือกว่า 1,400 เครื่อง

NSO Group ต่อสู้คดีนี้โดยเลือกที่จะไม่สู้ในเชิงเนื้อหาว่าคำกล่าวหาของ WhatApps ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ต่อสู้ในประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาล NSO Group อ้างว่าตนเองได้รับการคุ้มกันตามกฎหมายเนื่องจากตนปฏิบัติในฐานะตัวแทนของรัฐอิสราเอล ดังนั้น ในเมื่อกฎหมายในสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้อำนาจศาลในการดำเนินคดีกับรัฐต่างชาติ ก็ย่อมดำเนินคดีกับ NSO Group ไม่ได้ไปด้วย นอกจากนี้ บริษัทจากอิสราเอลยังอ้างว่าตนเพียงทำหน้าที่ขายเพกาซัสให้กับลูกค้าเท่านั้น ไม่มีส่วนในการเจาะโทรศัพท์เป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ศาลสหรัฐเห็นว่าข้อโต้แย้งของ NSO Group นั้นฟังไม่ขึ้น ในเดือนสิงหาคม 2564 ศาลอุธรณ์ยกคำร้องให้ยกฟ้องของฝ่ายจำเลย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเพกาซัสก็ไม่รอช้า จัดการอุธรณ์ต่อไปในศาลสูงสุดของสหรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2565 ศาลสูงสุดของสหรัฐขอความเห็นจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐว่า NSO Group ได้รับความคุ้มกันหรือไม่ คดีนี้จึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจศาลและยังไม่ได้เริ่มการต่อสู้ในเนื้อหาของการละเมิดสิทธิ

EU ตั้งคณะกรรมการสอบเพกาซัส

การเปิดโปงเพกาซัสกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสหภาพยุโรป โดยมีประชาชนและนักการเมืองในหลายประเทศสมาชิกที่ตกเป็นเหยื่อของสปายแวร์จากอิสราเอล ในเดือนเมษายน 2565 รัฐสภายุโรปจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการใช้สปายแวร์เพกาซัสและสปายแวร์ประเภทอื่นๆ รวมถึงวิเคราะห์ว่าการใช้สปายแวร์เหล่านี้ละเมิดกฎหมายของสหภาพยุโรปและสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างไร คณะกรรมการสอบสวนของสหภาพยุโรปยังได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเพกาซัสมาอย่างยาวนาน เช่น Citizen Lab Amnesty International และ Forbidden Stories โดยมีกำหนดจะส่งรายงานในอีกหนึ่งปีหลังจากนี้

ประธานคณะกรรมการสอบสวนกล่าวในระหว่างการนำเสนอร่างรายงานเกี่ยวกับเพกาซัสว่าสปายแวร์ของ NSO Group นั้นเป็น “ภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตย”

นอกจากนี้ยังมีคดีความที่ผู้เสียหายยื่นฟ้อง NSO Group ในอีกหลายประเทศ เช่น สเปน ฝรั่งเศส ฮังการี โปแลนด์ อาเซอร์ไบจาน อินเดีย สหราชอาณาจักร เม็กซิโก ฯลฯ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่