112 ALERT! เปิดแฟ้ม “ภัคภิญญา” แชร์ 6 ข้อความ-เดินทางไกลถึงนราธิวาส ก่อนพิพากษา

สถิติคดีมาตรา 112 ที่พุ่งสูงตั้งแต่ปี 2563 จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคดีจาก “การแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์” และเนื่องจากมาตรานี้อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นข้อความ สามารถเดินไปกล่าวโทษที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้เลย ส่วนผู้ต้องหาไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด ก็ต้องเดินทางเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีในพื้นที่ที่มีคนไปแจ้งความ

กรณีแบบนี้ไม่ใช่เพียง “ช่องว่าง” ของกฎหมายในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คดีความทางไกลเกิดขึ้นมากมายอย่างเป็นระบบ โดยมีกลุ่มบุคคลที่ “จงใจ” ใช้ช่องทางตามกฎหมายในประเด็นนี้เพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต้องเดินทางไกลเพื่อไปต่อสู้คดีความ

หนึ่งในนั้น คือ คดีของ “ภัคภิญญา” หรือแบมบู บรรณารักษ์ห้องสมุดชาวกรุงเทพฯ ที่ถูก “พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน” นักฟ้องมือฉมังชาวนราธิวาสจากเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) แจ้งความดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สืบเนื่องจากการ “แชร์” โพสเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองบนเฟซบุ๊กจำนวน 6 โพสต์ เป็นเหตุให้ภัคภิญญาต้องเดินทางไกลกว่า 1,200 กิโล ไป-กลับกทม. เพื่อไปตามนัดศาลแต่ละครั้ง

ก่อนที่นาฬิกาของคำพิพากษาจะเดินไปถึงในวันพรุ่งนี้ (19 ตุลาคม 2565) ไอลอว์ชวนผู้อ่านมาร่วมเดินทาง (ไม่) ไกลผ่านการ์ตูนช่องน่ารักๆ เพื่อทำความเข้าใจคดีของ “ภัคภิญญา” ให้มากขึ้น

(1) “ภัคภิญญา” เป็นใคร? ทำไมถูกฟ้อง ม.112 ?

จำเลย : ภัคภิญญา หรือแบมบู

เป็นคนกรุงเทพฯ ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และมีอาชีพเสริมเป็นนักร้องและนางแบบ ภัคภิญญาอายุ 31 ปีในวันที่ถูกกล่าวหา เป็นคนที่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมือง และเข้าร่วมการชุมนุมบ้างเป็นครั้งคราว

ผู้กล่าวหา : พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน

เป็นผู้ไปแจ้งความริเริ่มคดีที่สภ.สุไหงโกลก ตัวเขาเองเบิกความต่อศาลว่า เขาครูสอนภาษาอังกฤษ อาศัยอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พสิษฐ์เคลื่อนไหวในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) โดยนอกจากคดีนี้แล้ว เขายังเป็นผู้ริเริ่มคดีมาตรา 112 มือฉมังคนหนึ่งของประเทศไทย ด้วยสถิติจำนวนมากถึง 8 คดี ที่นราธิวาสทั้งหมด โดยตำรวจที่สภ.สุไหงโก-ลก เคยบอกทนายความว่า ยังมีคดีลักษณะเดียวกันอีกมากที่พสิษฐ์มาริเริ่มคดีไว้

คำฟ้องของพนักงานอัยการ ระบุว่าระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 – 10 เมษายน 2564 ภัคภิญญาได้โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายการความผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จำนวน 6 ข้อความ ดังนี้

1.แชร์โพสต์จากเพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งเป็นภาพตำรวจควบคุมฝูงชนฉีดน้ำ โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “ถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี่เปิดให้เข้าได้เลยนะพ่อเค้าบอกว่ารักทุกคน เราเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ!!”

2.แชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค ที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป !!!”

3. แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กชื่อ คุณมาซาร์ท เชอร์รี่บอย ที่มีข้อความว่า “ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน” โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “รับสิ้นปีเลยมะ”

4. แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กของ อานนท์ นำภา ที่มีข้อความว่า “อุ้มหายบ่อยๆ จะทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลำบาก พวกทำไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่” โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “5555 ว้ายยยย”

5. แชร์โพสต์จากเพจราษฎร ซึ่งเป็นภาพและข้อความเรียกร้องให้คนไทยได้รับวัคซีนโควิด19 โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “เอเชียได้รับวัคซีนกันพร้อมหน้า ไทยมัวชักช้า เพราะรอประทับตราน้ำพระทัยเจ้า”  

6. แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊ก Theraphat Charoensuk ที่มีข้อความว่า “เพื่อคนๆ เดียวมาเจ็ดปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมาสิบห้าปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้างนอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่สิบห้าตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง” โดยจำเลยเขียนแคปชั่นว่า “ฆ่าคนกว่าหกสิบล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ”

(2) ย้อนดูทริป “สุไหงโก-ลกจำเป็น”  

ลำดับเหตุการณ์

15 ตุลาคม 2564 เดินทางไกลครั้งที่หนึ่ง

ภัคภิญญาได้รับหมายเรียก จึงเดินทางจากกรุงเทพไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก พร้อมทนาย โดยเธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังภัคภิญญาแบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส จากนั้นทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันตัวด้วยวงเงินจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และในเย็นวันเดียวกัน ศาลจังหวัดนราธิวาสก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัว 

5 มกราคม 2565 เดินทางไกลครั้งที่สอง

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ภัคภิญญาจึงต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปรายงานตัวในคดีนี้อีกครั้ง ก่อนศาลจะให้ประกันตัวเป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

9 มีนาคม 2565 เดินทางไกลครั้งที่สาม

นัดตรวจพยานหลักฐาน

17-19 สิงหาคม 2565 เดินทางไกลครั้งที่สี่

นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยการสืบพยานวันแรกเป็นการสืบพยานปากผู้กล่าวหา คือ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน คนเดียวเต็มวัน และวันที่สองเป็นพยานที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์ มีทั้งคนที่ทำงานเป็นปลัดอำเภอ และนักภาษาศาสตร์ รวมทั้งพนักงานสอบสวน ซึ่งแต่ละคนก็ให้ความเห็นแตกต่างกันไป โดยเห็นว่าหลายข้อความที่ฟ้องมาไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์และไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112 

ขณะที่ดลภาค สุวรรณปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ หนึ่งในพยานฝ่ายจำเลย เบิกความอธิบายให้ศาลเห็นว่า หลักฐานที่ผู้กล่าวหาถ่ายภาพหน้าจอมาส่งศาลนั้นไม่น่าเชื่อถือและสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

(3) เหมือนถูก “กลั่นแกล้ง” ให้เดินทางไกล

เนื่องจากพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นชาวจังหวัดนราธิวาส และไปแจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก นั่นจึงทำให้ภัคภิญญาต้อง #เดินทางไกล ในทุกครั้งที่มีนัดคดีและออกค่าใช้จ่ายด้วยเงินทุนของตัวเอง

“ครั้งแรกที่ได้หมายเรียกก็ประหลาดใจนิดนึงว่าคดี 112 จะมาถึงตัวเราด้วย พอดูชื่อคนแจ้งความก็พบว่าไม่รู้จักกัน แล้วพอมาดูสาเหตุที่แจ้งความก็พบว่า เพราะเราเห็นต่างกับกลุ่มของเขาในเรื่องการเมือง ทั้งๆ ที่เราไม่เคยไปว่าไปยุ่งกับเขาเลย เราแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ของเรา แต่ถูกกลั่นแกล้งในกระบวนการแบบนี้”

“เราเป็นคนกรุงเทพฯ แต่โดนหมายที่สุไหงโก-ลก คนแจ้งอยู่ที่สุไหงโกลก พอเห็นหมายเราก็ โอ้.. เล่นกันแบบนี้เลยเนอะ เหมือนตั้งใจให้เราเดินทางไปไกลๆ”

ภัคภิญญาให้สัมภาษณ์กับไอลอว์ในวันสุดท้ายของการสืบพยานว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่เธอต้องเดินทางมายังอำเภอสุไหงโกลก และเนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องตัวเลือกการเดินทาง ทำให้การมานัดคดีแต่ละครั้ง เธอจะต้องแบ่งเวลาชีวิตเพิ่มอย่างน้อย “2 วัน” เพื่อใช้สำหรับเดินทางไป-กลับ

“ที่โกลกไม่มีเครื่องบินไปลง เราต้องไปลงที่นราธิวาสก่อน แล้วนั่งรถต่อไปอีกชั่วโมงกว่าเพื่อไปถึงตรงนั้น เครื่องบินจะมีรอบเดียว และรถมี 2-3 รอบต่อวัน แปลว่าทุกอย่างมันจำกัดหมดเลย ทำให้การมาทำธุระเรื่องนี้หนึ่งครั้ง ต้องมาขั้นต่ำ 3 วัน เพราะมันต้องใช้เวลาเดินทาง 1 วัน – ทำธุระ 1 วัน และเดินทางกลับอีก 1 วัน มันเลี่ยงไม่ได้เลยกับจำนวนวันแบบนี้ ตัวเราคนเดียวไม่ลำบากมาก แต่ถ้าคิดถึงคนอื่นที่โดนแกล้งแบบนี้ก็เห็นใจ”

“ครั้งนี้มาสืบพยาน 3 วัน ก็ต้องบวกเพิ่มอีก 2 เป็น 5 วัน.. มันเสียหายตรงที่อาชีพเราทำงานบริการ งานประเภทนี้เขาก็จะไม่ค่อยอยากให้ลาเท่าไหร่ และการลาก็จะมีข้อจำกัดเยอะ เช่น ลาทับกับคนอื่นไม่ได้ แล้วความถี่ที่เราต้องมาคือ 2-3 เดือนครั้ง ครั้งหนึ่งใช้อย่างน้อย 3 วัน มันก็ค่อนข้างเป็นปัญหา” ภัคภิญญาเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังโดนฟ้องคดี

เมื่อถามถึงความคาดหวังต่อคำพิพากษา สาวบรรณารักษ์เลือกตอบคำถามพร้อมรอยยิ้มและน้ำเสียงที่ยังสดใส โดยเธอกล่าวว่า คงจะต้องไป ‘วัดกันหน้างาน’ และรู้สึก ‘กึ่งลุ้นกึ่งตื่นเต้น’ ว่าผลจะออกมาคดเคี้ยวไปในทิศทางที่เกินความคาดหมายหรือไม่

“จะบอกว่าตื่นเต้น.. แต่จริงๆ ก็ไม่เชิงลุ้น เพราะมันเหมือนต้องวัดกันหน้างาน เราอยากรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมันจะเบี้ยวไปได้ถึงขนาดไหน เพราะว่าคนที่ทำงานด้วยความยุติธรรมก็ยังมี แต่คนที่พยายามจะปิดคดีให้มันจบๆ ไปก็ยังมี เราก็เลยอยากรู้ว่ามันจะเบี้ยวได้มากกว่านี้อีกไหมนะ เพราะว่าการสืบพยานมันก็ผ่านไปแล้ว เราก็ประเมินได้แล้วล่ะว่ามันจะไปในทิศทางไหน.. มาลุ้นกันค่ะ”