เขียนใหม่ไม่ใช่ล้มล้าง! ตอบคำถาม เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ “ไม่ใช่วิธีล้มล้างการปกครอง”

ปัญหาที่ร้อนแรงที่สุดหลังการเลือกตั้งคือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งมาจากการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สร้างปัญหาในการเลือกตั้ง การบริหารแผ่นดิน ไปจนถึงมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสังคมในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก 
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงว่า “จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไรดี” นั้นถูกแบ่งออกเป็นสองความคิดเห็นใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่สนับสนุนการเขียนใหม่ทั้งฉบับ ต้องแก้ไขได้ในทุกหมวดทุกมาตรา และกลุ่มที่สนับสนุนให้ละเว้นการเขียนใหม่หรือการแก้ไขในรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ไว้ดังเดิม คำกล่าวอ้างสำคัญ คือ กังวลว่าจะเกิดความพยายามในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองของรัฐไทย ทั้งจากการเป็นรัฐเดี่ยวอันแบ่งแยกมิได้ และการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อย่างไรก็ตาม การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยเฉพาะในสาระสำคัญหลายประการของหมวด 1 และหมวด 2 นั้นไม่สามารถถูกตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครองได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นอยู่ภายใต้ มาตรา 255 ซึ่งขวางการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไว้แล้ว รวมทั้งในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหมวด 1 และหมวด 2 ยังเคยถูกแก้ไขตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน” หลังผ่านการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วอีกด้วย

รัฐธรรมนูญระบุชัดร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนระบอบและรูปแบบรัฐไม่ได้

ในปี 2563 มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น ข้อเสนอสำคัญคือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้ความเข้าใจผิดนี้กระจายต่อไปอีก แม้ว่าตามตัวบทของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีมาตราใดที่กำหนดว่าห้ามแก้ไขหมวดดังกล่าวก็ตาม 
ความหวาดกลัวว่า การแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์เป็นประมุข หรือจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ทว่ารัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ระบุว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้”
การแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะเป็นเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 เช่นเดียวกัน การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเขียนใหม่ได้ทุกหมวดทุกมาตรา จึงจะไม่นำไปสู่การแก้ไขการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ ตามที่หลายฝ่ายกังวลแต่อย่างใด
ดังนั้น ข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ได้จึงตกไป ขณะเดียวกันข้ออ้างว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 เพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากในอดีตเคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดดังกล่าวมาแล้วเช่นกัน

ในอดีต เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์มาแล้ว

ย้อนกลับไปในรัฐธรรมนูญปี 2490 หมวด 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 9 และมาตรา 10 ระบุว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง “อภิรัฐมนตรี” ได้ตามพระราชอัธยาศัยเพื่อถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2492 ถูกนำมาบังคับใช้ หมวดที่ 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 13 ก็ได้แก้ไขจาก “อภิรัฐมนตรี” เป็น “องคมนตรี” มาแล้ว
นี่คือหลักฐานข้อแรกว่า รัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์นั้นสามารถถูกแก้ไขได้ ไม่มีข้อห้าม และยังเคยถูกแก้ไขมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 74 ปีก่อน
ต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2521 หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 20 ระบุว่า การสืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ขณะที่ในรัฐธรรมนูญปี 2534 หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มาตรา 21 ตัดเนื้อหาที่ระบุว่ารัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบในการสืบราชบัลลังก์ออกไป และแก้ไขให้รัฐสภามีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น 
ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เคยมีการแก้ไขหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์มาแล้ว โดยหลังการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 สำนักราชเลขาธิการทำเรื่องมาถึงรัฐบาลว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระกระแสรับสั่งว่ายังมีเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจเพิ่มเติม
20 มกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีข้อสังเกตพระราชทานให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ รัฐบาลจึงรับทูลเกล้านำมาปรับแก้ไข ต่อมา 17 กุมภาพันธ์ 2560 รัฐบาลจึงได้นำร่างรัฐธรรมนูญร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสังเกตพระราชทานขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง เพื่อลงพระปรมาภิไธย
การแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน” หลังการทำประชามติไปแล้ว มีผลกับรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 5 ที่ตัดขั้นตอนวิธีการที่ต้องกระทำหากไม่พบว่ารัฐธรรมนูญระบุขั้นตอนเอาไว้ คงเหลือเพียง “ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เท่านั้น และมีการแก้ไขในอีกหลายมาตราของรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ อีกด้วย เช่น ในมาตรา 12 ในมาตรา 15 ในมาตรา 16 ในมาตรา 17 ในมาตรา 19 รวมถึงยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 182 ด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้โดยไม่มีข้อห้าม ไม่มีการนำไปสู่การล้มล้างการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ รวมทั้งยังเคยมีการทำมาแล้วอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย