ก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ ลง MOU พร้อมผลักร่างรัฐธรรมนูญใหม่

8 กรกฎาคม 2566 เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance) จัดกิจกรรม “Con Next: ออกจากกะลาไปหารัฐธรรมนูญใหม่” ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็นสามส่วน ในช่วงแรกคือวงเสวนาจากนักวิชาการ ตัวแทนจากภาคประชาสังคม และนักกิจกรรมทางการเมือง จากนั้นมีการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความเห็นต่อบทบาทของรัฐสภาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปิดท้ายด้วยการทำบันทึกข้อตกลงร่วมต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน
รัฐธรรมนูญโดยประชาชน ลบล้างมรกดรัฐประหาร
รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นวงเสวนาโดยกล่าวว่า วาระที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือการแก้และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ชัดเจนคือ แม้เราจะมีการเลือกตั้งและได้เสียงข้างมากแล้ว แต่ก็ต้องคอยจับตาและกังวลในทุกขั้นตอนการตั้งรัฐบาล นโยบายต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพหรือกระบวนการยุติธรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญเสียก่อน
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อธิบายว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญ 60 มีสองส่วน คือที่มาและเนื้อหา หากที่มาของกฎหมายไม่ชอบธรรม กฎหมายนั้นก็จะไม่น่าเชื่อถือตามไปด้วย รัฐธรรมนูญ 60 ก็เช่นเดียวกัน เพราะถูกร่างในช่วงที่ประชาชนอยู่ในสภาวะหวาดกลัวโดยเผด็จการ คนที่แสดงความเห็นอีกด้านก็จะถูกดำเนินคดี อีกทั้งในกระบวนการร่างก็ไม่มีตัวแทนของประชาชน ในส่วนของเนื้อหา รัฐธรรมนูญนี้มีความซับซ้อนมาก พยายามสร้างกลไกให้สามารถรักษาอำนาจให้ได้นานที่สุด โจทย์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องทำลายกลไกเหล่านี้ เมื่อมีปัญหาทางการเมือง ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจตามที่ควรจะเป็น
สำหรับตัวแบบที่น่าสนใจ มุนินทร์เสนอว่าในบางเรื่องที่เป็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญก็ไม่จำเป็นต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา แต่สามารถให้รัฐสภาจัดการแทนได้ หรือเช่นในต่างประเทศ ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นเป็นเรื่อง ๆ เป็นผู้พิจารณาแทนการมีศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมา รศ.ดร. สามชาย ศรีสันต์ จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่าแนวโน้มของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่าให้อำนาจรัฐมากเกินไป และมีไว้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของรัฐ แต่ในโลกที่มีความหลากหลาย รัฐธรรมนูญเช่นนี้จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นดังที่เห็นในรัฐธรรมนูญ 60 รัฐธรรมนูญคนจนจึงพยายามร่างรัฐธรรมนูญทางสังคม โดยการรวบรวมความเห็นจากคนหลากกลุ่มที่เห็นว่าได้รับผลกระทบจากฎหมาย เช่น เกษตรกรรายย่อย ประมง กลุ่มที่ถูกไล่ที่ แรงงานที่ไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนไร้บ้าน
การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของสังคมไทย จากงานวิจัยของตน รัฐธรรมนูญ 60 สร้างปัญหาหลายประการ เรื่องแรกคือสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร วางกลไกต่าง ๆ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และให้คำสั่ง คสช. ยังคงอยู่ต่อไป เรื่องที่สองคือใช้ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม จำกัดพื้นที่ในการแสดงออก เรื่องที่สามคือควบคุมประชาชนที่เห็นต่าง เห็นได้จากคนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี เรื่องที่สี่คือสร้างพระราชอำนาจขึ้นมาใหม่ โยเฉพาะเรื่องข้าราชการส่วนพระองค์และงบประมาณที่เป็นไปตามพระราชอัธยาสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่พูดไม่ได้
ณัฐพร อาจหาญ จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ในฐานะภาคประชาสังคม เริ่มด้วยการคุกคามของฝ่ายความมั่นคงและการขยายตัวของ กอ.รมน. หลังการรัฐประหาร โดยมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สิทธิชุมชนเดิมเขียนว่าประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันในชุมชนได้ แต่เมื่อเขียนใหม่ในรัฐธรรมนูญ 60 แม้จะเนื้อหาคล้ายเดิม แต่ก็มีการเพิ่มไว้ว่าให้เป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐ ทำให้การต่อสู้ในทางกฎหมายทำได้ยากขึ้น เช่นเดียวกับสิทธิอื่น ๆ ที่ถูกทำให้ไม่มีความหมายเมื่อกลายเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐแทนที่จะเป็นสิทธิของประชาชน อีกหนึ่งประเด็นคือยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะถูกบรรจุกลายเป็นแนวนโยบายของรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรน้ำหรือป่า 
“ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็เป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น” ประชาชนต้องมีรัฐธรรมนูญของตนเอง
จตุภัทร บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทางการเมือง เล่าว่าจากการเคลื่อนไหวของตนเองที่ผ่านมา ตนก็ถอยกลับมาถอดบทเรียนว่า รัฐธรรมนูญมีไว้เพื่ออะไร คำตอบที่ได้คือชนชั้นใดออกกฎหมายก็เป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น รัฐธรรมนูญ 60 เราเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญมีชัย แต่ไม่มีคำว่าประชาชนอยู่ในกฎหมาย ที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่ระบอบประชาธิปไตยและรัฐสภากำลังทำงานได้ ก็จะเกิดรัฐประหารทุกครั้งไป ปัญหาของรัฐธรรมนูญในวันนี้คือเรื่องของนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ประชาชนแสดงออกให้เห็นแล้วว่าต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเผด็จการเขียนกฎหมายได้ ประชาชนก็ต้องเขียนกฎหมายได้ แล้วนำไปต่อรองในรัฐสภาให้กลายเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน
ในวันนี้หากประชาชนโกรธ ส.ว. จากการเลือกนายกรัฐมนตรี คำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งยังรวมถึงประเด็นเรื่องทรัพยากรในชุมชน โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ตนเชื่อว่าทุกคนที่ออกมาเลือกตั้งอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง จากนี้ไม่มีความจำเป็นต้องไปโต้แย้งกับอีกฝ่ายที่อ้างรัฐธรรมนูญ แต่เราต้องร่างรัฐธรรมนูญของตนเองให้เป็นของประชาชน
สามตัวแทนพรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ บทบาทสภาต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ในช่วงต่อมา มีการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองที่แสดงความประสงค์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ก่อนจะปิดท้ายด้วยการแสดงออกร่วมกันตามบันทึกแห่งความมุ่งหมาย “การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน”
จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เริ่มต้นว่ารัฐธรรมนูญในช่วงหลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 50 และ 60 ที่ทำให้ความหมายของกฎหมายเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าอำนาจสูงสุดต้องไม่ใช่ของประชาชน แต่เป็นขององค์กรอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชน สิทธิหลายประการกลายเป็นไม่มีผลบังคับใช้ มาจนถึงวันนี้ เราอยู่ในประเทศที่ระบบกฎหมายไม่เป็นที่ยอมรับไม่น่าเชื่อถือ ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญ หากไม่แล้วประเทศก็จะเดินหน้าไม่ได้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้นด้วยพรรคการเมืองคุยกันในสภา แต่ต้องมาจาก สสร. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อป้องกันการครหาว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมือง 
ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยเน้นย้ำว่าในการแก้นั้นก็ต้องทำทั้งฉบับ พรรคเพื่อไทยทำการศึกษาไว้สิบข้อ เช่น การจัดที่มาอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ปฏิรูประบบยุติธรรม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตอนนี้ต้องทำให้พรรคการเมืองเห็นว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการตั้งรัฐบาลตอนนี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และด้วยความยากของกระบวนการ พรรคการเมืองเพียงอย่างเดียวจึงอาจจะไม่พอ แต่ต้องมีกระแสสังคม ให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการรณรงค์ตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งรวมถึงประชามติด้วย โจทย์สำหรับทุกคนที่อยากเห็นประเทศมีประชาธิปไตยจึงต้องร่วมมือกันเพื่อไปสู่เป้าหมายการมีรัฐธรรมนูญใหม่
ตัวแทนคนต่อมาคือ ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ โดยทวีกล่าวว่าการจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ในกระบวนการพิจารณาวาระที่หนึ่งและสามต้องได้เสียง ส.ว. หนึ่งในสาม ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนับสิบครั้ง แต่ผ่าน ส.ว. ได้เพียงครั้งเดียว ในรัฐธรรมนูญ 60 มีการถ่ายโอนอำนาจของ คสช. ให้อยู่ในมือของ ส.ว. ในเวลาอีกสิบเดือน ส.ว. ชุดปัจจุบันจะหมดอายุ และจะมีชุดใหม่ ซึ่งทำให้ปัญหานี้เบาบางลงไปบ้าง 
ในบริบทการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทวีเสนอว่าก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. จะต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีก่อน ถ้าเสียงข้างมากตามบันทึกความเข้าใจได้เป็นพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงค่อยนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อ ส.ว. เห็นว่าจะไม่เลือกพิธาทั้งที่ถูกเลือกมาแล้วเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. การใช้ดุลพินิจในการไม่เลือกตามอำเภอใจนั้นทำไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ตนเห็นว่า ส.ว. หลายท่านพูดไว้ชัดเจนว่า ส.ว. ต้องเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ การรวมให้เกิดเสียงข้างน้อยนั้นผิดหลักประชาธิปไตย
พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขึ้นกล่าวเป็นคนสุดท้าย แสดงความเห็นว่าในมุมของพรรคก้าวไกลตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ภารกิจของพรรคการเมืองคือการฟื้นฟูประชาธิปไตย สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 60 ขาดความชอบธรรมทั้งในที่มา กระบวนการ และเนื้อหา โดยฝังอาวุธสามชนิดที่ขยายอำนาจทางการเมืองที่ขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน ประการแรกคือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งแต่มีอำนาจมากมาย ประการต่อมาคือ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ กระบวนการแต่งตั้งและได้มากลับถูกผูกขาดไว้กับ ส.ว. 250 คนที่แต่งตั้งโดย คสช. และอาวุธสุดท้ายคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีการเปิดช่องให้สามารถขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ถ้าไม่ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ แม้ว่าการตั้งรัฐบาลที่จะถึงนี้ประสบความสำเร็จ แต่อาวุธเหล่านี้ก็ยังมีความอันตรายอยู่
ส.ส. จากพรรคก้าวไกลยืนยันว่าการแก้ไขบางมาตราไม่เพียงพอ จุดยืนของพรรคก้าวไกลและทั้งแปดพรรคเห็นตรงกันคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน แต่การพาสังคมไทยไปสู่เป้าหมายไม่ง่ายนัก ถนนเส้นหลักต้องผ่านถึงสี่ด่าน คือมีประชามติสามครั้งและเลือกตั้ง สสร. อีกหนึ่งครั้ง ประชามติครั้งแรกเพื่อถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ในประเด็นนี้แม้พรรคก้าวไกลจะมองว่าไม่ได้มีความจำเป็นทางกฎหมาย แต่ปัญหาคือมี ส.ส. และ ส.ว. บางกลุ่มอ้างว่าต้องทำประชมติก่อนการเสนอในวาระหนึ่ง ด้วยเหตุผลจำเป็นทางการเมืองจึงเห็นว่าต้องจัดประชามติก่อน ซึ่งหากทุกอย่างราบรื่น ก็อาจจะได้ประชามติครั้งแรกภายในปีนี้
หากได้รับมติจากประชาชนแล้ว ก็จะทำการยื่นเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องของ ส.ว. นั้นไม่น่าจะมีปัญหา เพราะ ส.ว. เคยเห็นชอบมาแล้ว จากนั้นก็จะมีประชามติครั้งที่สองว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงเลือก สสร. ที่ต้องตอบโจทย์สามประการ คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้รัดกุมขึ้น ออกแบบสถาบันทางการเมืองให้ชอบธรรมทางประชาธิปไตย และสะท้อนฉันทามติของประชาชน
พริษฐ์ปิดท้ายว่านนอกจากถนนหลักแล้ว เส้นทางสนับสนุนอื่นก็ยังจำเป็น ซึ่งประกอบไปด้วย การแก้ไขรายมาตราไปพลางก่อน เพราะกระบวนการร่างฉบับใหม่นั้นยาวนานและอาจจะมีความจำเป็นต้องแก้ไขรายมาตราไปเสียก่อน การรณรงค์เชิงความคิดกับประชาชนที่ต้องตื่นตัวกับการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความสำเร็จนี้จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่มีเจตจำนงในการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ให้สำเร็จ และหากมีรัฐสภาที่มีเจตจำนงทางการเมืองชัดเจน ก็จะทำให้กระบวนการเหล่านี้เร็วขึ้น
ก่อนที่งานจะจบลง การเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญได้จัดให้ตัวแทนของพรรคการเมืองแสดงออกร่วมกันตามบันทึกแห่งความมุ่งหมาย “การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน” โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. รัฐบาลและรัฐสภาจะผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว
2. การร่างรัฐธรรมนูญต้องทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
3. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน