จากตากใบถึงราชประสงค์ : ความอยุติธรรมเมื่อรัฐที่ใช้กฎหมายพิเศษปราบปรามคนเห็นต่าง

19 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00-12.00 น. คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมายฯ) สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ “จากตากใบถึงราชประสงค์ : ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครอบรอบ 15 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สี่แยกราชประสงค์ ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา เกียกกาย

วงเสวนาประกอบด้วยวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนห้าคน ได้แก่ มูฮำมะซาวาวี อุเซ็ง น้องชายของผู้เสียหายคดีสลายการชุมนุมตากใบ มะรีกี ดอเลาะ หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สามัญชน และณัฐาศิริ เบิร์กแมน นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

เสียงจากคนในเหตุการณ์ตากใบ ความเจ็บปวดที่ไม่เคยจาง

มะรีกี ดอเลาะ หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่าเริ่มขึ้นในเวลาราวบ่ายสามโมง “มีรถดับเพลิงเข้ามาฉีดน้ำแรงดันสูง คนแถวหน้าที่ประท้วงอยู่ก็กระเด็นล้ม บางคนหนีลงน้ำ บางคนแยกไปทางอื่น ผมเองก็เหมือนกัน ระหว่างที่จะวิ่งไปลงน้ำ ก็โดนทหารปาก้อนหินใส่หัวแตก แล้วก็มีการยิงแก๊สน้ำตา ผมรีบวิ่งไปล้างหน้าในน้ำ ล้างเสร็จมีคนบอกให้หมอบลง เพราะว่าทหารยิงปืนเข้ามา กระสุนมาเหมือนห่าฝน เห็นคนถูกยิงเดินเซ บางคนล้มลง”

เขาเล่าต่อไปว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารก็บังคับให้เขาเดินขึ้นจากแม่น้ำมาถึงบันได ให้ถอดเสื้อแล้วเอามือไขว้หลัง นำเสื้อที่ถอดมามัดมือเอาไว้ และให้หมอบลงบนพื้น คลานจากสนามเด็กเล่นไปถึงหน้า สภ. ตอนนั้นใครเงยหน้ามองจะถูกทหารเอาด้ามปืนตี พอคลานสักพักมาถึงบริเวณใกล้กับรถของทหาร ก็ถูกผลักให้ขึ้นไปบนรถ

“ตอนนั้นผมคิดแล้วว่าเขาจะพาเราไปฆ่า ผู้คนบนรถซ้อนกันเป็นชั้นๆ ผมอยู่ชั้นที่สองจากห้าชั้น คนชั้นล่างมีเลือดออกทางปาก เวลาหายใจได้ยินเสียงคร่อกๆ หน้าจมไปกับน้ำที่นองจากฝนที่ตกลงมาบนรถ สักพักคนข้างล่างก็เงียบ ไม่มีเสียงร้องอะไรเลย ส่วนคนข้างบนก็โดนเหยียบและวางด้ามปืนทับใส่” มะรีกีเล่า

เมื่อรถจะออกตัว ก็มีคนส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด เจ้าหน้าที่ทหารตะโกนบอกว่าถ้ามีคนร้อง รถจะไม่ออก จะจอดนิ่งอยู่เฉยๆ มะรีกีจึงบอกให้เขาหยุดร้องก่อน จากนั้นรถจึงเคลื่อนออกไป แต่ถ้าระหว่างนั้นมีคนร้องขึ้นมาอีก เขาจะหยุดรถแล้วเอาด้ามปืนตี ในรถเองก็มืดมาก มืดในที่นี้ไม่ได้มาจากผ้าคลุม หากแต่มาจากคนที่ทับซ้อนกัน

“ตอนนั้นผมเจ็บปวดมาก เพราะต้องรับน้ำหนักจากคนข้างบนสามชั้น ต้องใช้ไหล่ดันคนข้างบนไว้ถึงจะหายใจออก”

ผ่านไประยะเวลานานหนึ่ง มะรีกีสังเกตว่ามีเหงื่อและเลือดจากคนข้างบนไหลลงมา ที่ทราบเพราะเอาลิ้นไปแตะชิม เขามองไม่เห็นสิ่งใด พลางคิดว่าจะต้องถูกนำไปฆ่าและทิ้งไว้ที่ไหนสักแห่ง ภาพค่อยๆ เลือนลางจนมะระกีสลบไป ก่อนขึ้นมาในโรงพยาบาลปัตตานีในภายหลัง

ด้านมูฮำมะซาวาวี อุเซ็ง น้องชายของผู้เสียหายคดีสลายการชุมนุมตากใบ เล่าประสบการณ์ของตนเองว่า ขณะที่เกิดเหตุตอนนั้นอายุเพียง 15 ปี ยังไม่รู้เหตุการณ์อะไรมากนัก และไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ เช้าวันเกิดเหตุ เขากับพี่ชายออกไปไถนาแต่เช้า หลังจากนั้นพี่ชายบอกว่า แปดโมงเช้าจะไปซื้อของที่ตลาดตากใบ ทราบหลังจากนั้นว่ามีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับ สาเหตุเพราะเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าได้มอบอาวุธปืนให้กับผู้ไม่หวังดี แต่ที่จริงแล้ว ชาวบ้านทุกคนก็รู้ดีว่าพวกเขาไม่ได้มอบ แต่ถูกยึดอาวุธปืนไป จึงเป็นสาเหตุที่ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรม

เกี่ยวกับการฟ้องคดีตากใบนั้น มูฮำมะซาวาวีขอพื้นที่ในการอธิบายแทนญาติผู้เสียชีวิตทุกคนว่า พวกเขาไม่ได้เงียบหายไปเพราะว่าต้องการจบเรื่องราวทั้งหมด แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง “ญาติผู้เสียชีวิต เขาไม่ได้เงียบเพราะว่าจบ เพราะว่าเขาสบายใจ หรือว่ารับเงินที่รัฐเยียวยามาแล้ว แต่มันอยู่ในช่วงที่ประชาชนอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภายใต้กฎหมายพิเศษ แต่มันไม่ได้พิเศษเพื่อประชาชน แต่พิเศษเพื่อเจ้าหน้าที่ที่จะใช้อำนาจมาละเมิดสิทธิต่างๆ ของประชาชน”

“สาเหตุการเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบมีทั้งถูกยิงและขาดอากาศหายใจ เราต้องการเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อให้ความตายของพวกเขาไม่สูญเปล่า และเราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง เราจึงต้องรีบฟ้องเหตุการณ์ตากใบก่อนอายุความจะหมดลง โดยไม่มีใครรับผิดชอบ และก็ชัดเจนว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีใครรับผิดชอบได้เจ็ดจำเลยที่ศาลออกหมายจับ จับสักคนไม่ได้” มูฮำมะซาวาวีกล่าว

การเรียกร้องความยุติธรรมยังไม่สูญเปล่า

รอมฎอน ปันจอร์ สส. พรรคประชาชน เล่าว่า ตนได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีนี้จากการไปสังเกตการณ์การไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เขามองว่า คนที่เป็นโจทก์เอง ญาติของโจทก์ ญาติของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้รอดชีวิตทั้งจากที่หน้าสภ.ตากใบ และบนรถ ต่างก็ต้องแปลกประหลาดใจว่าเราเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว ทั้งที่เมื่อ 19 ปีก่อน เรายังคิดกันไม่ออกจริงๆ ว่าการเรียกร้องความยุติธรรมในคดีตากใบจะไปได้ถึงขนาดไหน

รอมฎอนยอมรับว่านโยบายที่พรรคก้าวไกลเคยหาเสียงว่าจะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่เคยมีความคิดว่าจะใช้การฟ้องร้องคดีผ่านกระบวนการยุติธรรมไทย เนื่องจากการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงว่าการฟ้องคดีตามกระบวนการยุติธรรมไทยนั้นมีข้อจำกัดและไม่สามารถนำมาใช้งานจริงได้ พรรคก้าวไกลในขณะนั้นเลือกมองไปยังวิธีทางเลือกผ่านศาลอาญาระหว่างประเทศมากกว่า

“แม้กระทั่งวันครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ ผมก็ปรึกษาหารือในที่ประชุมห้องใหญ่ก็ขอแรงเพื่อนๆ สส. พรรคก้าวไกลในตอนนั้น ช่วยกันรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ และชวนทุกท่านในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับถอยหลังอายุความที่เหลือหนึ่งปี ตอนนั้นนับถอยหลังในใจ ก็คุยกันเองในทีมงานว่าไม่น่าจะมีความหวังอะไร”

แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง มีการจัดเวทีเสวนาที่ปาตา ศาลาใหม่ อำเภอตากใบ เป็นการรวมตัวของญาติผู้เสียชีวิต มีการทักท้วงไปถึงทนายความ ซึ่งถูกพี่น้องตั้งคำถามว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง ความคืบหน้าของคดีเป็นอย่างไร แต่ทนายความไม่สามารถตอบได้ คำถามเหล่านั้นจึงเดินทางมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ผ่านกมธ.กฎหมายฯ ในการประชุมกมธ. เมื่อ 13 ธันวาคม 2566 อัยการและตำรวจ ต่างตอบในกมธ. ไม่ได้ว่าสถานภาพของคดีตากใบถึงไหน วันนั้นมีญาติจำนวนหนึ่งเข้าร่วมประชุมผ่านทางระบบออนไลน์ ทางญาติจึงได้ตัดสินใจปรึกษากับทนายความและนำไปสู่การฟ้องร้องคดี

“ท่ามกลางคำถามที่ว่าทำไมถึงมาฟ้องคดีเอาป่านนี้ เป็นเหตุผลทางการเมืองหรือเปล่า แต่คำตอบที่น่าสนใจจากญาติคือ เขาเพิ่งทราบว่าเขามีสิทธิ และเราต้องจินตนาการถึงภาพที่ว่าเหตุการณ์ตากใบตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนและรัฐที่กำลังระดมสรรพาวุธทุกอย่างเพื่อปกป้องดินแดน และมีประชาชนเป็นเป้าหมายในฐานของการแย่งมวลชนและคุกคามละเมิดสิทธิ การเรียกร้องความยุติธรรมในคดีตากใบท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกินจินตนาการ”

“ในคำประทับรับฟ้อง ศาลใช้คำว่าเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นจริง สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงในสำนวน เพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นว่าจำเลยจะมีความผิดหรือไม่ แต่มีมูลที่จะต้องมีการไต่สวนต่อไป”

แม้วันนี้การเรียกร้องความยุติธรรมจะยังไม่สำเร็จ แต่รอมฎอนตั้งข้อสังเกตว่าทั้งหมดยังไม่เสียเปล่า และภายใต้การทำงานของอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการขาดอายุความและฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ ก็ค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่นว่าสถานภาพของผู้สูญหายจากเหตุการณ์ตากใบอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ไม่มีอายุความหรือไม่ ซึ่งก็ยังเป็นความหวังว่าอาจจะมีช่องทางอื่นในกระบวนการยุติธรรมไทยพอจะใช้งานเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมได้ รวมถึงการใช้กลไกระหว่างประเทศด้วย

รอมฎอนยังกล่าวถึงจุดเชื่อมโยงระหว่างราชประสงค์กับเหตุการณ์ตากใบ คือ การถูกสลายการชุมนุมโดยใช้อำนาจพิเศษเหมือนกัน โดยในกรณีของราชประสงค์ เป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งการมีอยู่ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อแก้ปัญหาที่รัฐเคยผิดพลาดในกรณีตากใบ ที่รัฐใช้กฎอัยการศึก อย่างไรก็ดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ถูกนำมาใช้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการชุมนุมและสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ด้วย ทั้งที่ตัวกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเกินสมควร

ยุติธรรมได้เท่าที่ผู้ปกครองอนุญาต จุดร่วมสลายการชุมนุมราชประสงค์-ตากใบ

ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. อธิบายจุดร่วมของเหตุการณ์ราชประสงค์และตากใบว่ามีจุดร่วมกันสองอย่าง อย่างแรก คือต่างเป็นนกที่ถูกจับใส่กรง ถูกล้อม และถูกทั้งซุ่มและยิงตรง แต่ส่วนใหญ่กระสุนที่เกิดจะขึ้นจะอยู่ตั้งแต่อกขึ้นไปถึงหัว และส่วนใหญ่เป็นหัว ความเหมือนอย่างที่สอง คือเป็นเหตุการณ์ที่ชนชั้นผู้ปกครองกระทำกับผู้ถูกปกครอง

“คนเห็นต่างในประเทศนี้ ถ้ามีการขับเคลื่อนจะทำให้มีปัญหาต่อความมั่นคง ต่อผู้ปกครองตัวจริง เขาถือว่าเป็นภยันตราย เมื่อถือว่าเป็นภยันตราย ก็จะมีการจัดการในรูปแบบต่างๆ  ในปัจจุบัน อาจจะเป็นกฎหมาย แต่ในอดีตเป็นการใช้อาวุธ”

“ประเทศนี้ไม่เคยมีความเท่าเทียมจนถึงทุกวันนี้ เมื่อประเทศไทยไม่เคยมีความเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางกฎหมายก็เป็นไปได้ และการทำรัฐประหารในประเทศนี้ ได้รับการรับรองโดยตุลาการว่าได้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และเมื่อรัฏฐาธิปัตย์กระทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะตากใบหรือเสื้อแดง คดีต่างก็ถูกแช่แข็งหมด”  

“เวลาพูดถึงความยุติธรรมในประเทศไทย คนเสื้อแดงจะหมายถึงความยุติธรรมของประชาชน ไม่ใช่ของผู้ปกครอง แต่ในเมื่อประเทศยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนก็จะมีความยุติธรรมได้เท่าที่ผู้ปกครองอนุญาต หรือไม่ก็หลบหนีลอยนวลไปดื้อๆ เหมือนอย่างกรณีผู้ต้องสงสัยในคดีตากใบ รวมถึงก็ไม่เคยทำให้ประชาชนรับรู้ด้วยว่าตนสามารถฟ้องคดีได้ จนกระทั่งหมดอายุความ”

ธิดายกตัวอย่างจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม กำหนดให้กรณีตายผิดธรรมชาติต้องมีการชันสูตรพลิกศพ โดยพนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน และแพทย์ แต่จากผู้เสียชีวิตทั้ง 95 ศพของเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มีเพียงแค่ 32 รายเท่านั้นที่ได้รับการชันสูตร อีก 63 รายไม่ได้ชันสูตร ด้านคดี พนักงานสอบสวนสั่งงดการสอบสวน 140 คดี จาก 181 คดี คดีบางส่วนอาจขึ้นสู่ชั้นศาลและศาลได้มีคำพิพากษาระบุว่ากระสุนมาจากฝั่งทหารจำนวน 17 ราย  

ขณะที่ข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตที่ได้รวบรวมไว้ 89 ราย มีการไต่สวนพลิกศพจำนวน 31 ศพ พบว่าทุกศพมีการตายจากวิถีกระสุนฝั่งทหาร และจาก 31 ศพ มี 25 ศพ งดการสอบสวน เช่นเดียวกับอีก 40 ศพ ที่ไม่ได้มีการไต่สวนชันสูตร รวมเป็น 65 ศพ

ในส่วนของการฟ้องร้องคดี มีสามคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ คดีหกศพวัดวนาราม คดีการตายที่แยกคอกวัวและถนนดินสอ และคดีที่สั่งไม่ฟ้องเพราะผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย ส่วนกรณีที่สั่งฟ้องสองกรณี คือ กรณีทหารเสียชีวิตที่ถนนดินสอและฟ้องคดีพลเรือนหนึ่งราย ศาลยกฟ้องทั้งหมด

โดยสรุปแล้ว เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 99 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย พลเรือน 89 ราย ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด 12 ปี เสียชีวิตจากกระสุนปืน 82 ราย มีผู้บาดเจ็บทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,283 ราย

ธิดาทิ้งท้ายว่า มีร่างกฎหมายกำลังเตรียมไว้และจะเชิญชวนให้ประชาชนลงชื่อ โดยข้อเสนอคือ ทหารทำความผิดอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ขึ้นศาลทหาร และกำหนดให้คดีที่รัฐทำรุนแรงต่อประชาชน ไม่มีอายุความ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายพิเศษใช้ปราบปรามผู้ชุมนุม

อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สามัญชน ระบุถึงสถานการณ์การใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ภายใต้ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และช่วงการชุมนุมระหว่างปี 2563 ถึง 2564 ว่า ช่วงปี 2557 ถึงปี 2565 เป็นช่วงที่ประเทศทั้งประเทศตกอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ ปี 2557 มีการรัฐประหาร ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ หลังจากนั้นมีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. พอปี 2562 มีการเลือกตั้ง คสช. สิ้นอายุไป แล้วก็มีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้เป็นผู้นำในการบริหาร แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด ก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในปี 2564-2565 อยู่ช่วงหนึ่ง

อานนท์สรุปว่า ช่วงที่ คสช. มีอำนาจนั้นจะไม่ได้มีลักษณะของการใช้อาวุธในการควบคุมการชุมนุม ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนผู้ชุมนุมที่มีค่อนข้างน้อย แต่ระหว่างนั้นก็มีบางกรณีที่มีการทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองและไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ เช่น กรณีของเอกชัย หงส์กังวานและสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ซึ่งทั้งสองคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการสอบสวนเพราะไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้

แต่ต่อมาในปี 2563 เริ่มมีการขยายตัวของการชุมนุมที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น และยังอยู่ภายใต้สภาวะปกติ จนกระทั่งรัฐบาลใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และมีการยกระดับการดำเนินคดีและสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่มีข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ที่ควรจะปลอดภัยอย่างรัฐสภา

ประชาชนมีต้นทุนสูงในการโต้กลับ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐลอยนวลพ้นผิด

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการร่วมตัวกันของภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีฟ้องกลับรัฐที่สลายการชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการฟ้องร้องเพื่อขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเป็นกฎหมายพิเศษที่นำมาบังคับใช้โดยไม่ได้สัดส่วนและไม่จำเป็น

ณัฐาศิริชี้ว่าคดีส่วนใหญ่ที่ฟ้องกลับนั้น ศาลกลับมีคำพิพากษาเป็นไปในแนวทางที่คุ้มครองการใช้อำนาจรัฐค่อนข้างมาก ไม่ว่าการให้เหตุผลรับรองการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ระบุเหตุผลว่าได้ผ่านการพิจารณาคัดกรองของเจ้าหน้าที่รัฐดีแล้ว หรืออย่างกรณีคดียิงกระสุนยางใส่สื่อมวลชนที่มีหลักฐานชัดเจน ก็กลับไม่สามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ยิงได้ เพราะตำรวจมีการปกปิดตัวบุคคลเป็นอย่างดี

“ในกรณีที่พาผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ฝั่งตำรวจแทบจะไม่มีความพยายามในการทำคดีเลย รวมถึงการพยายามปกป้องกันเองของเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวโจทก์ก็จะถูกติดตาม ถูกข่มขู่ ทำให้หลายคดีต้องยุติการดำเนินคดีไป เพราะไม่มีอะไรมาปกป้องเขาเลย” ณัฐาศิริกล่าว

“มีถึง 58 คดีที่ได้รับความเสียหายโดยตรง และได้มีการสอบข้อมูลเพื่อเตรียมดำเนินคดีแล้ว แต่มีเพียง 38 คดีที่มีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงจากการดำเนินคดี เพราะในกรณีที่แพ้ อาจจะเสี่ยงถูกแจ้งความดำเนินคดีกลับจากเจ้าหน้าที่รัฐได้”

จำนวนข้างต้นยังไม่นับรวมถึงคดีอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะต้นทุนที่สูงลิ่วในกระบวนการยุติธรรม ภาระพิสูจน์ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ และการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปจากกฎหมายพิเศษ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างแต่เพียงว่าตนทำไปเพราะนายสั่งมาเท่านั้น

ณัฐาศิริทิ้งท้ายว่า วัฒนธรรมประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐไทยต้องเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันควรมีมาตรการยกเว้นไม่ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจฟ้องกลับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมหรือแสดงออก เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนคำขู่กลายๆ ที่สร้างภาวะการปิดปากให้ประชาชนเกรงกลัวกับการใช้สิทธิของตน และคดีความต่อเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรมีอายุความ

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage