เปิดภาพพิรุธวันเลือกสว.​67 ‘อลงกต’ ลุกเดินไปเดินมาเหมือนเป็นกกต. สุดท้ายคะแนนพุ่งโดดเด่นได้เป็นสว.

6 พฤษภาคม 2568 ท่ามกลางกระแสข่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ​ (ดีเอสไอ) กำลังจะตั้งข้อหาดำเนินคดีเอาผิดกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 60 คน ในคดีว่าด้วยวิธีการเลือกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อลงกต วรกี หนึ่งในสว. กล่าวตอบโต้ เชิงท้าทายดีเอสไอว่า ถ้ามีหนังสือเชิญมาก็เป็นสิทธิที่ว่าตนจะไปหรือไม่ไป แต่กล้ามีหมายจับ มีหมายขัง มีหมายค้นหรือไม่ 

อลงกตยังกล่าวด้วยว่า “ขอเรียนตามตรงว่าดีเอสไอเป็นแค่หน่วยงาน ที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ แต่ผมเป็นวุฒิสมาชิกปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญถ้าพูดตามตรงผมศักดิ์สูงกว่า ผมสูงไม่มายุ่งกับข้างล่าง”

เปิดภาพพิรุธวันเลือกสว.​67 ‘อลงกต’ ลุกเดินไปเดินมาเหมือนเป็นกกต. สุดท้ายคะแนนพุ่งโดดเด่นได้เป็นสว.

และต่อไปนี้คือสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเส้นทางที่มาของอลงกต วรกี

  1. อลงกต วรกี เป็นสว. ที่สมัครมาจากจังหวัดอุทัยธานี สมัครที่อำเภอเมือง กลุ่ม 20 อาชีพอื่นๆ ในการเลือกระดับประเทศ อลงกตได้คะแนนจากรอบเลือกกันเอง 43 คะแนน สูงเป็นอันดับที่ห้าของประเทศ และได้คะแนนรอบเลือกไขว้ 67 คะแนน สูงเป็นอันดับที่ 14 ของประเทศ ซึ่งเป็นคะแนน “เกาะกลุ่ม” ของกลุ่มที่คะแนนลอยโดดเป็นพิเศษ มีผู้ได้คะแนนระหว่าง 63-68 คะแนน ถึง 26 คน ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของรอบเลือกไขว้อยู่ที่ 16.78 คะแนนเท่านั้น
  2. จังหวัดอุทัยธานีมีสว. 5 คน โดย 4 คนของจังหวัดนี้เป็นประเภทได้คะแนน “ล้นกระดาน” คือ ได้คะแนนเยอะมาก จนมากกว่าช่องขีดคะแนนที่กกต. เตรียมไว้จนต้องนำกระดานแผ่นที่สองมาต่อเพื่อนับคะแนนให้เสร็จสิ้น ผู้สมัครจากจังหวัดอุทัยธานีที่เข้าสู่ระดับประเทศ จากจำนวนทั้งหมด 40 คน มีถึง 18 คนที่ไม่มีคะแนนเลยในรอบ “เลือกกันเอง” ซึ่งชัดเจนว่าเป็นผู้สมัครที่มา “พลีชีพ” ลงคะแนนให้คนอื่นแล้วยอมตกรอบกลับบ้านโดยไม่แม้แต่จะลงคะแนนให้ตัวเอง อุทัยธานียังทำสถิติเป็นจังหวัดที่มีผู้พลีชีพมากเป็นอันดับสองของประเทศ นอกจากนี้จังหวัดอุทัยธานียังมีสส. ทั้งสองคนมาจากพรรคภูมิใจไทย
  3. อลงกต อายุ 60 ปีในวันที่มาสมัครสว. ลาออกจากราชการในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 หรือลาออกมาเพื่อลงสมัครเป็นสว. ทันที ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และเคยเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี โดยมีหลักฐานจากเฟซบุ๊กของอลงกตเองว่า เคยทำงานร่วมกับชาดา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยจากพรรคภูมิใจไทย และสส.จังหวัดอุทัยธานี จากพรรคภูมิใจไทย 
  4. ในเอกสารแนะนำตัวสว.3 เขียนอาชีพว่า บำนาญ, ผู้สูงวัย, นักดนตรี, อาจารย์, นักวิชาการ, ที่ปรึกษา ในประวัติการทำงานอลงกตยังแนะนำตัวว่า เป็นผู้ช่วยศาสตราจารณ์พิเศษ ดร. ปลัดอำเภอบ้านหมี่ ลพบุรี นายอำเภอ ร่องคำ กาฬสินธุ์ อำเภอจังหาร ร้อยเอ็ด อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี อำเภอลานสัก อุทัยธานี ปลัดจังหวัดขอนแก่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักทำโพล นักการตลาด มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ ภาคเอกชน/รัฐ สื่อมวลชน ที่ปรึกษา มูลนิธิ สมาคม องค์กรสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา นักดนตรีไทย ระนาดทุ้ม ชมรมสะแกกรังบรรเลง ซึ่งหากเป็นความจริงทั้งหมดก็หมายความว่า อลงกตจะลงสมัครในกลุ่ม 1 ข้าราชการก็ได้ กลุ่ม 3 การศึกษาก็ได้ กลุ่ม 14 ผู้สูงอายุก็ได้ กลุ่ม 16 ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี ก็ได้ กลุ่ม 17 ภาคประชาสังคมก็ได้ กลุ่ม 18 สื่อมวลชนก็ได้ แต่อลงกตเลือกสมัครใน กลุ่ม 20 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปิดกว้างให้ใครที่ทำอาชีพอื่นๆ หรือไม่มีอาชีพ ซึ่งไม่เข้าข่ายที่จะสมัครในกลุ่มใดได้มาสมัครในกลุ่มนี้ กลุ่ม 20 ยังเปิดกว้างให้คนที่ทำอาชีพที่สมัครในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ก็ยังมาสมัครในกลุ่มนี้ได้ จึงเรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม “แกงโฮะ” ที่ไม่ว่าใครจะเคยทำอาชีพอะไรมาก็ชักชวนเพื่อนกันมาสมัครในกลุ่มนี้เพื่อลงคะแนนเลือกกันเองได้ 
  5. ในวันเลือกระดับประเทศที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี อลงกต ได้หมายเลข 144 ใส่เสื้อเชิ้ตผ้าไทยแขนสั้นสีสันสดใสและโดดเด่น ใส่ริสแบนด์สีชมพูฟ้า ผู้สังเกตการณ์ในวันเลือกระดับประเทศจึงสังเกตเห็นอลงกตได้ง่าย และพบว่าผู้สมัครคนนี้มีพฤติกรรมแปลกๆ และบันทึกพฤติกรรมของผู้สมัครคนนี้ไว้ ดังนี้
  • เวลา 20:47 น. ผู้สังเกตการณ์คนที่ 1 รายงานว่า “ผู้สมัครกลุ่ม 20 เบอร์ 144 เข้ามาเป็นอันดับสองด้วยคะแนน 43 คะแนนยืนคุมเชิงตลอดไม่ยอมนั่งที่ตัวเองเลย” ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวพิธีกรยังไม่ได้ประกาศว่า การลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว และเวลา 21:38 น. สาย ก. จึงเริ่มนับคะแนน
  • ในการเลือกระดับประเทศ ผู้สมัครทุกคนจะมีเก้าอี้นั่งเป็นของตัวเอง และมีหมายเลขติดไว้ที่เก้าอี้ ระหว่างการลงคะแนนเจ้าหน้าที่จะเรียกให้ผู้สมัครลุกขึ้นตามลำดับและเดินไปลงคะแนนในคูหา จากนั้นผู้สมัครส่วนใหญ่เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะเดินกลับมานั่งที่นั่งของตัวเอง เพราะผู้สมัครส่วนใหญ่ไม่รู้จักกันและเจ้าหน้าที่กกต. ก็แจ้งกับผู้สมัครเป็นระยะว่าไม่ให้ผู้สมัครพูดคุยกัน จึงไม่มีการแวะทักทายพูดคุยกันเองระหว่างการเดินไปลงคะแนนและการเดินกลับมานั่ง
  • ผู้สังเกตการณ์คนที่ 1 อธิบายว่า ระหว่างการลงคะแนนรอบไขว้กำลังดำเนินไป อลงกตไม่ได้นั่งอยู่กับที่ของตัวเอง แต่เดินไปคุยกับผู้สมัครคนอื่น โดยระหว่างเดินก็ใช้สายตามองไปรอบๆ ทั่วๆ คล้ายการตรวจดูความเรียบร้อยของภาพรวมในการลงคะแนน รวมทั้งไปยืนอยู่บริเวณหน้าหีบหย่อนบัตร หน้าโต๊ะเจ้าหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครไม่ควรไปยืนอยู่ตรงนี้ หรือลุกจากเก้าอี้ไปยืนเอาหลังพิงพาร์ทิชั่นแล้วใช้สายตามองไปรอบๆ ห้อง คล้ายเป็นผู้มาสังเกตการณ์กระบวนการเลือก
  • เวลา 21.34 เป็นเวลาที่พิธีกรกลางประกาศว่า “การลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ทุกสายจะนำหีบมานับทีละหีบ” จากนั้นจึงเริ่มต้นการนับคะแนนในรอบเลือกไขว้ เวลา 21.35 ผู้สังเกตการณ์คนที่ 2 บันทึกคลิปวีดีโอไว้ได้ว่า ระหว่างที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ยังนั่งอยู่กับที่นั่งของตัวเองอลงกตเดินออกมาบริเวณทางเดินตรงกลาง รวมทั้งพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กกต. ซึ่งใส่เสื้อสีเหลืองและเสื้อกั๊ก และยังเดินไปคุยกับผู้สมัครที่อยู่สายอื่นด้วย

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ