
ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรที่ดินระหว่างชนเผ่าพื้นเมือง เกษตรกร ผู้ยากไร้ นายทุน และรัฐในนามของการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่ามีมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ปรากฏเป็นภาพความขัดแย้งที่คนยากจนเก็บเห็ด เก็บสมุนไพร และผลผลิตจากป่าใกล้บ้านเพื่อหากินยังชีพ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมตามกฎหมายที่มีอยู่และต้องติดคุก ขณะที่นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลยังคงสร้างรีสอร์ทหรือบ้านพักตากอากาศบนยอดเขาอันสวยงามได้
หลังจากการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับสังคมมนุษย์ในเมืองเรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยจึงตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้และออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อปกป้องผืนป่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ทำให้ประชาชนในชนบทที่ “บุกเบิก” ที่ดินทำกินมาก่อน กลายเป็นผู้ต้องหาฐาน “บุกรุก” เขตพื้นที่ป่า ทั้งที่ประชาชนที่อยู่อาศัยมาก่อนควรได้เอกสารสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็น นส.3 หรือโฉนดที่ดิน และเป็นผู้ใช้ประโยชน์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ด้วยความไม่เข้าใจระบบกฎหมายกับการขึ้นทะเบียน ทำให้เข้าไม่ถึงเอกสารหลักฐานและกลายเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายที่ประกาศใช้ในภายหลัง

ข้อมูลจากหลายชุมชนแสดงให้เห็นว่า มีผู้คนตั้งรกรากและอยู่อาศัยกันมานานกว่าสี่ชั่วอายุคนแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่หลังรัชกาลที่ห้าหรือรัชกาลที่หกที่เพิ่งถือกำเนิดระบบการขึ้นทะเบียนโฉนดที่ดิน แต่เพราะความไม่รู้กฎหมายทำให้การตั้งรกรากบนถิ่นอาศัยดั้งเดิมและทำการเกษตรกลายเป็นความผิดเพราะไม่ได้เข้าระบบขึ้นทะเบียน ตามรายงานของกระทรวงยุติธรรมคาดการณ์ว่า มีประชาชนตกเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายจากสถานการณ์นี้ราว 15 ล้านคน กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกพื้นที่ รวมถึงเป็นภาระของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องดำเนินการเอาคนเข้าคุกในข้อหาที่พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองทำผิด
จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปี รัฐบาลแต่ละชุดทำได้เพียงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา การออกนโยบาย ออกมติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งคณะปฏิวัติ เพื่อเยียวยาสถานการณ์ “เฉพาะหน้า” ในบางเงื่อนไขหรือบางพื้นที่เท่านั้น แต่ไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินในภาพใหญ่ ขณะที่กระบวนการนิติบัญญัติก็มีแต่การออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อกำหนดให้ประชาชนตกเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร และนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมาแล้วถึง 23 ฉบับ มีการนิรโทษกรรมให้กับคดีอาวุธปืน คดีหนีทหาร คดีเกี่ยวกับการหนีภาษี ฯลฯ แต่ยังไม่เคยมีการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องการจัดสรรที่ดินและป่าไม้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการออกกฎหมายและนโยบายจากส่วนกลางที่ไม่ได้รับฟังและไม่ได้คำนึงถึงคนในพื้นที่
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move พร้อมเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรที่ดิน จึงร่วมกันจัดทำและนำเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านที่ดินและป่าไม้ หรือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมป่าไม้ฯ และกำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยให้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมป่าไม้ฯ มีเนื้อหาสั้นๆ เพียง 15 มาตรา พอสรุปได้ดังนี้
1. การกระทำของบุคคลที่เป็นการบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง แผ้วถาง อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายแก่สภาพป่า ที่ดิน ที่ประกาศกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตวนอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตที่หวงห้ามของรัฐหรือเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายทุกประเทศ ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด
2. ไม่ใช่ทุกการกระทำและทุกข้อหาเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินที่จะได้รับนิรโทษกรรม แต่ต้องเป็นความผิดตามประเภทเฉพาะที่ระบุไว้ เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) (3) มาตรา 108 มาตรา 108 ตรี, ความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 มาตรา 29 ทวิ มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 72 ตรี, ความผิดตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1) (2) มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27, ความผิดตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19 (1) (2) มาตรา 41 มาตรา 42 ฯลฯ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในร่างกฎหมาย)
3. ไม่ใช่บุคคลทุกคนที่กระทำความผิดแล้วจะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ต้องเป็นบุคคลที่เข้าข่ายเงื่อนไขตามที่เคยมีการศึกษาและรัฐบาลเคยออกประกาศเป็นนโยบายไว้ เช่น บุคคลที่กระทำความผิดภายใต้คำสั่งคสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557, บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่องแนวทางในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล, บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวทางในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง, บุคคลที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้รับไว้เป็นกรณีที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหา และให้ชะลอการดำเนินคดี, บุคคลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับที่ดินประเภทอื่น ฯลฯ โดยคนที่จะได้รับนิรโทษกรรมต้องอาศัยอยู่ในชุมชนและใช้ที่ดินเพื่อการดำรงชีพตามปกติธุระ หรือการยังชีพเพื่อความอยู่รอด
4. ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าเงื่อนไขจะได้รับการนิรโทษกรรมจากความผิดทันทีโดยอัตโนมัติ แต่คนที่มีความประสงค์จะรับการนิรโทษกรรมต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรมจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการ และผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ภายใน 180 วันโดยให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดมีหน้าที่รวบรวม ตรวจสอบ กลั่นกรอง และคณะกรรมการนิรโทษกรรมจังหวัดมีหน้าที่พิจารณาและส่งรายชื่อผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมต่อศาล อัยการ หรือตำรวจ
5. เมื่อคดีใดได้รับการพิจารณาให้นิรโทษกรรม หากอยู่ระหว่างการสอบสวนก็ให้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง หากยื่นฟ้องต่อศาลแล้วก็ให้อัยการถอนฟ้องและให้ศาลอนุญาต หากบุคคลอยู่ระหว่างการรับโทษก็ให้ปล่อยตัว หากรับโทษครบไปแล้วก็ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้รับโทษ แต่หากมีข้อหาอื่นรวมอยู่ด้วยก็ให้ดำเนินคดีในข้อหาอื่นต่อไป
ชวนดูรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมป่าไม้ แบบเต็มๆ ได้ในไฟล์แนบ

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยสามารถร่วมเป็นหนึ่งใน 10,000 รายชื่อ ที่เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมป่าไม้ ฉบับนี้ต่อรัฐสภาได้ โดยการลงชื่อตามช่องทางด้านล่างนี้

ลงชื่อสำเร็จแล้ว!
ขอบคุณที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน
เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมป่าไม้