5 เหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2561

ปี 2561 อาจจะเป็นปีที่ใครบางคนเฝ้ารอคอย ไม่ว่าจะเป็นการทำตามสัญญาของชายชาติทหารที่สัญญาว่าจะให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง หลังจากเว้นว่างมานานเกือบ 4 ปี แต่ทว่า เหตุการณ์สำคัญในปีนี้ อาจมิใช่แค่การมาของการเลือกตั้ง แต่รวมถึงมรดกต่างๆ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมอบให้กับคนไทย ที่ประกอบไปด้วย แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ กฎหมายลูก(พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) และมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ใหม่ทางการเมืองไทย ที่ใครก็อาจจะลืมไม่ลง… 
หนึ่ง ประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญครบ 10 ฉบับ
ช่วงปลายเดือนมกราคม 2561 จะเป็นโค้งสุดท้ายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จ ปัจจุบันเหลือ ร่างกฎหมายลูกที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. แค่ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 
หาก สนช.พิจารณาแล้วเสร็จ จะต้องส่งร่างกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาอีกครั้งว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าขัดต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 11 คน ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิก กรธ. และสมาชิก สนช. อีกฝ่ายละห้าคน ขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายอีกครั้ง 
เมื่อกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ร่างกฎหมายข้างต้นจะถูกส่งให้ สนช. ลงมติอีกครั้ง ถ้า สนช. มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้ร่าง พ.ร.ป. นั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่ สนช. มีมติไม่ถึงสองในสามให้ถือว่าให้ความเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ ทั้งนี้หากขั้นตอนนี้เกิดขึ้นเวลาในการพิจารณากฎหมายลูกของ สนช. จะขยายไปอีก 30 วัน 
ทั้งนี้หากไม่มี 'เหตุการณ์ผิดปกติ' ทางการเมืองเกิดขึ้นอีก ก็ให้นำร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน จากนั้นให้นำขึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วัน และให้พระมหากษัตริย์เห็นชอบภายใน 90 วัน ซึ่งคาดว่ากฎหมายลูกสองฉบับสุดท้ายจะประกาศใช้อย่างช้าสุดก็คือปลายเดือนมิถุนายน 2561 และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งต่อไป
ดูความคืบหน้าการร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ได้ที่นี้
สอง ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ
ปลายเดือนกันยายนของปี 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีประกาศแต่งตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา 35 คน ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นแผนแม่บทในการขับเคลื่อนประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า จากนี้ไปไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง การปฏิรูปประเทศใดๆ ก็ตามล้วนแล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้แผนแม่บทฉบับนี้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มาถึงขั้นตอนที่คณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จ ซึ่งเส้นตายก็คือวันที่ 24 มกราคม 2561 โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จัดทำเสร็จหมดแล้วรอส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒฯ) จัดรับฟังความคิดเห็นภายใน 30 วัน หลังจากนั้นจึงให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ดำเนินการแก้ไขก่อนส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง 
เมื่อ ครม. พิจารณาเสร็จแล้วก็ส่งให้ สนช. พิจารณาลงมติเห็นชอบ ถ้า สนช. ลงมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วประกาศใช้ แต่หาก สนช. ไม่เห็นชอบ ให้คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ สนช. ไม่เห็นชอบ 
อย่างไรก็ดีคาดว่า ถ้า สนช. เห็นชอบ เราจะได้เห็นหน้าตาของแผนยุทธศาสตร์ชาติในช่วงกลางปี 2561
ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ที่นี่
สาม ประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ
กลางเดือนสิงหาคมปี 2560 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ
สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ นอกจากจะเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นกลไกหนึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มุ่งให้เกิดการปฏิรูป โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่จัดทำแผนเพื่อปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมถึงทำงานอื่นๆ ตามที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 
เมื่อแผนการปฎิรูปประเทศประกาศใช้  คณะกรรมการปฏิรูปฯ มีอำนาจสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยหากเห็นว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปฯ คณะกรรมการฯ สามารถประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา
ปัจจุบันคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้พิจารณาจัดทำแผ่นเสร็จสิ้นแล้ว รอส่งให้ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศพิจารณาและให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พิจารณาร่างแผนการปฏิรูปประเทศให่้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้น ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรายงานต่อ สนช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป
อย่างไรก็ดี หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราน่าจะเห็นตัวแผนปฎิรูปประเทศในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2561 
ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่นี่
สี่ ประกาศใช้มาตรฐานจริยธรรม
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จัดทำ "ร่างมาตรฐานทางจริยธรรม" ตามมาตรา 219 เพื่อบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้การจัดทำร่างมาตรฐานทางจริยธรรมต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ส.ส. และ ส.ว. จึงต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทน ซึ่งปัจจุบันมีการรับฟังความคิดเห็นจาก สนช. แล้ว
สำหรับร่างมาตรฐานทางจริยธรรมมีทั้งหมด 4 หมวด จำนวน 28 ข้อ โดยมีการกำหนดลักษณะมาตรฐานทางจริยธรรมออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ 
หมวดหนึ่ง มาตรฐานทางจริยธรรมที่เป็นอุดมการณ์ เช่น จะต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเหนือประโยชน์ส่วนตน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นต้น 
หมวดสอง  มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก เช่น ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ เป็นกลาง รักษาความลับในการประชุม หรือพึงระวังไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฏหมาย ผู้มีอิทธิพล และไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เป็นต้น 
หมวดสาม จริยธรรมทั่วไป เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจส่วนตัวฯ
การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ได้กำหนดโทษไว้ 2 ลักษณะ คือ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวดหนึ่ง ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ส่วนการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวดสอง และหมวดสาม ต้องพิจารณาว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ หากเห็นว่าร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่ส่วนและทำความเห็นให้ศาลฎีกาพิจารณา หากศาลฎีการับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่และหากศาลฏีกาตัดสินว่าผิด ก็อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี รวมถึงหมดสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง
ทั้งนี้ตามกรอบเวลากำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และคาดว่าน่าจะประกาศใช้ไม่เกินช่วงต้นเดือนเมษายน 2561 
ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมที่นี่
ห้า การเลือกตั้งตามสัญญา
บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางโรดแมปสู่การเลือกตั้งไว้ว่า ให้ สนช. พิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทุกฉบับให้เสร็จสิ้นอย่างช้าที่สุดไม่เกินต้นเดือนมีนาคม 2561 หลังจากนั้นให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าและรอพระมหากษัตริย์เห็นชอบภายใน 115 วัน ทั้งนี้ หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ และมีการประกาศใช้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบสี่ฉบับแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ดังนั้น อย่างช้าที่สุดเราคงได้เห็นการเลือกตั้ง ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
แต่ทว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้นยังมีความผันผวนสูงอยู่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือประชุมพรรคการเมืองได้ ทั้งที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ข้างต้นให้ทันตามกรอบเวลา ถ้าไม่ทันตามกรอบเวลา พรรคการเมืองอาจหมดสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ รวมถึงไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในระหว่างที่มีการหาเสียง
ซึ่งโทษดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบเสียบเปรียบทางการเมือง โดยเฉพาะการไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ เพราะระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จะคิดจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จากคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต ถ้าส่งลงแข่งได้น้อย โอกาสที่จะได้ ส.ส. ในสภาก็น้อยไปด้วย
อย่างไรก็ดี คสช. ได้เพิ่มภารกิจให้กับพรรคการเมืองเก่าอีก โดยการใช้ 'มาตรา 44' ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เพื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองให้ พรรคที่เพิ่งตั้งใหม่และพรรคเก่าเริ่มนับหนึ่งเรื่องการหาสมาชิกพรรคใหม่พร้อมกัน ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า พรรคการเมืองจะประชุม ตั้งสาขาพรรคได้ ภายใน 90 วัน หลังยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช. แต่กว่าจะยกเลิกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวต้องรอให้มีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเสียก่อน นั้นเท่ากับว่าการประชุมพรรคหรือตั้งสาขาพรรคการเมือง การทำไฟรมารี่โหวตเพื่อหาตัวแทนพรรค ก็จะทับซ้อนกับเวลาในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลา 150 วัน
ด้วยความผันผวนเช่นนี้ คสช. ยังวางเงื่อนไขไว้อีกว่า ให้ ครม. และ คสช. ร่วมกันจัดทําแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมืองเพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยให้หารือกับ กกต. กรธ. ประธานสนช. และผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากมีความผันผวนสูง ครม. และ คสช. อาจขยายโรดแมปการเลือกตั้งออกไปอีก
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น