17 ม.ค. 67 นัดฟังคำพิพากษามาตรา 112 คดีที่สองของอานนท์ นำภา

วันที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของอานนท์ นำภาจากการโพสต์เฟซบุ๊กสามข้อความในปี 2564 นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่สองของอานนท์ที่ศาลพิพากษา หลังจากพิพากษาในคดีแรกไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 และไม่ได้ประกันตัวนับแต่นั้น จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2567 เขาถูกคุมตัวมาแล้ว 112 วัน
Recap - อานนท์

สำหรับคดีที่กำลังจะมีคำพิพากษามีแน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี รายละเอียดคำฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 1-5 มกราคม 2564 อานนท์โพสต์ข้อความลงบนบัญชีเฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” สามข้อความมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

  • โพสต์ตั้งคำถามถึงการดำเนินคดีมาตรา 112 กับกรณีผู้ที่เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์
  • พสต์ถึงการที่ตำรวจบอกว่า การทำให้ผู้เสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์เป็นความผิดตามมาตรา 112 พร้อมยกตัวอย่างการวิจารณ์กษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงจาก “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เป็น “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ว่า หากวิจารณ์ในลักษณะดังกล่าวจะต้องมีโทษจำคุก 3-15 ปีตามมาตรา 112 หรือไม่ และย้ำว่า เรื่องสาธารณะควรเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
  • โพสต์ตั้งคำถามถึงจุดยืนของฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์และการใช้ทรัพย์สินของกษัตริย์
  • ซึ่งข้อความทั้งหมดเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่นทำให้รัชกาลที่สิบทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย
    เดือนเมษายน 2566 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ เช่น แน่งน้อย อัศวกิตติกร ในฐานะผู้ร้องทุกข์ และวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2566 เป็นนัดสืบพยานจำเลย อานนท์เบิกความอ้างตัวเองเป็นพยานจำเลย อธิบายถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมากว่าสิบปี และอธิบายเหตุความจำเป็นที่ต้องใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพูดเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะ ข้อความที่หนึ่งตามฟ้องนั้นเขาระบุว่า  ไม่ได้เป็นการโพสต์ดูหมิ่นหรือให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ แต่โพสต์วิจารณ์บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินคดีต่อทิวากร วิถีตนจากการใส่เสื้อเขียนว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ข้อความที่สอง เป็นการกล่าวต่อตำรวจที่ดำเนินคดีคนที่ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และวิจารณ์มาตรา 112 ที่กำหนดอัตราโทษไว้หนักเกินไป โดยยกตัวอย่างข้อความประกอบ และข้อความที่สาม เป็นการวิจารณ์กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
    ในการเบิกความของจำเลยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ตอนหนึ่งอานนท์อธิบายถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ว่า มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองกว่าสิบปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์พระราชดำรัสของรัชกาลที่เก้าต่อตุลาการ ก่อนการสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ต่อมายังมีบทบาทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีที่พูดเรื่อง “เจ้าของม้า” และหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นองคมนตรีก็มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  อานนท์ยังเล่าถึงหลายเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น การเสด็จไปร่วมงานศพของผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของพระราชินีในรัชกาลที่เก้า หรือการที่เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เคยถ่ายภาพที่ฉลองพระองค์ด้วยสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง หรือการที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 และตามมาด้วย “ประกาศจากสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
    นอกจากนี้อานนท์ยังอธิบายถึงกระบวนการออกกฎหมาย ทั้งการพระราชทานข้อสังเกตในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560 และการออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีผลให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งอีกหลายประเด็นซึ่งเป็นฐานของข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
    เชิญชวนทุกคนร่วมเป็นกำลังใจได้ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดีที่ 902  หรือการผูกโบว์ขาวเป็นในวันที่มีการพิพากษาเพื่อแสดงยืนยันเคียงข้างจำเลยมาตรา 112
    *หมายเหตุ : ห้องพิจารณาคดีอาจมีการเปลี่ยนแปลงผู้ที่ร่วมให้กำลังใจสามารถตรวจสอบอีกครั้งที่ชั้น 2 โดยค้นหาหมายเลขคดีที่  อ2804/2564