เปิดรายชื่อผู้สมัครเป็นกรรมการสิทธิฯ พบชื่ออดีต สนช., สปท. ‘สุเทพ’ ขอฝากหนึ่งชื่อ

การสรรหาผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่สี่ยังลุ่มๆ ดอนๆ เมื่อเปิดรับสมัครใหม่และเห็นรายชื่อผู้สมัครแล้ว พบคนหน้าเก่าที่อยู่กับแวดวงองค์กรอิสระ และยังมีหลายคนที่เกี่ยวโยงกับเครือข่ายของ คสช. ไอลอว์จึงอยากชวนจับตามองกระบวนการคัดเลือก กสม. ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยมีกรรมการมาแล้ว 3 ชุด ชุดแรกทำงานตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2552 ชุดที่สองเข้ารับตำแหน่งต่อในปีเดียวกันนั้นจนถึง 2558 ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเกิดการรัฐประหารและปกครองโดย คสช. ทำให้การทำงานของกรรมการชุดที่สองนี้แทบจะไม่มีบทบาทใดเลย และกรรมการสิทธิที่ตั้งขึ้นด้วยระบบของ คสช. ก็กลายเป็นชุดที่เกิดปัญหาความขัดแย้งจนทำงานต่อไม่ได้

 

กสม. ชุดที่สาม เลือกในยุค คสช. ทำงานต่อไม่ได้แต่ก็ยังอยู่ในตำแหน่ง

ในยุคของ คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ลงมติให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้กรรมการชุดที่สามเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 แม้จะเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจออกประกาศและคำสั่งที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ไม่ได้มีบทบาทมากนัก จนกระทั่งประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2560 พร้อมกับบทเฉพาะกาลกำหนดให้กรรมการชุดที่สามทั้งเจ็ดคนพ้นจากตำแหน่ง และเริ่มกระบวนการหาคนใหม่ 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหา กสม. ชุดใหม่ซึ่งนับเป็นชุดที่สี่ ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ได้รับการพิจารณา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 โดยปรากฏว่า ในรายชื่อ 7 คนนั้น แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ ข้าราชการเก่าสองคน ได้แก่ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต และเอ็นจีโออีก 5 คน ได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร, สมศรี หาญอนันทสุข, สุรพงษ์ กองจันทึก, บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ทั้งห้าคนมีความรู้และมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งในองค์กรของภาครัฐและเอกชน ปรากฏว่า วันที่ 21 ธันวาคม 2561 สนช. ได้ลงมติเป็นการลับเห็นชอบให้ ปิติกาญจน์  สิทธิเดช และพรประไพ กาญจนรินทร์ ที่เป็นสายราชการได้ดำรงตำแหน่งเป็น กสม. ชุดที่สี่ เพียงสองคน ส่วนเอ็นจีโออีก 5 คนที่เหลือ สนช. ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบทั้งหมด 

เมื่อคณะกรรมการยังมีไม่ครบ 7 คน ทำให้ยังไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้ จึงต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่อีกห้าตำแหน่ง ในระหว่างนี้คณะกรรมการชุดที่สามก็ต้องรักษาการในหน้าที่ไปก่อน แต่ก็ด้วยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กรรมการถึงสี่คนลาออกจากตำแหน่ง เป็นเหตุให้มีกรรมการที่เหลืออยู่เพียงสามคน ไม่ครบองค์ประชุมจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มาตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2562 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ที่ประชุมของประธานศาลจึงร่วมกันแต่งตั้งให้ สมณ์ พรหมรส, อารีวรรณ จตุทอง, ภิรมย์ ศรีประเสริฐ และสุวัฒน์ เทพอารักษ์ ทำหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 14 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ที่ประชุมจะต้องลงมติเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็น กสม. ชุดที่สี่ จากรายชื่อที่ได้รับการเสนอมาทั้งหมด 5 คน ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากให้ ปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และ สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ดำรงตำแหน่ง กสม. เพิ่มอีกเพียงสองคน อีกสามคนที่เหลือไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ลม้าย มานะการ เลขาธิการสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี, วิชัย ศรีรัตน์ อาจารย์ประจําสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ บุญเลิศ คชายุทธเดช  สื่อมวลชนอิสระ 

ทำให้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 กสม. ชุดที่สี่ก็ยังมีไม่ครบ มีเพียงผู้ผ่านความเห็นชอบมาแล้วรวมสี่คน ยังคงขาดอยู่อีกสามคน และ กสม. ชุดที่สามที่เหลืออยู่สามคนกับผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนชั่วคราวก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปเข้าสู่ปีที่ห้า ซึ่ง กสม. ชุดที่สามจะหมดวาระในเดือนพฤศจิกายน ปี 2565

 

กสม.ที่เหลือ ควรจะเป็นจะใคร?

ทำให้คณะกรรมการสรรหาฯ ต้องดำเนินการสรรหาบุคคลเพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ต่อไป โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทํางานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน จำนวน 1 คน บุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ จำนวน 1 คน และ บุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทย เป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจำนวน 1 คน เพื่อให้ครบ 7 คนซึ่งเป็นจำนวนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 8

มาตรา 8 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจํานวนเจ็ดคน โดยเป็นผู้เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้ และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี ในด้านดังต่อไปนี้ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนแต่จะเกินด้านละสองคนมิได้

     (1) มีประสบการณ์ในการทํางานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน 

     (2) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทํางานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา 

     (3) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

     (4) มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 

     (5) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทย เป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ในกระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน โดยระบุถึงจํานวนตําแหน่งกรรมการที่จะสรรหา หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่จะใช้ในการสรรหา โดยเปิดให้มีการรับสมัครหรือการเสนอชื่อบุคคลอื่นก็ได้ ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้นด้วย โดยที่บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจะต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสามของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหาฯ ในขั้นแรกก่อน 

คณะกรรมการสรรหาฯ จะประกอบด้วย ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน, ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร, สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, สมชาย หอมลออ (ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน), สุนี ไชยรส (ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน), อมรา พงศาพิชญ์ (ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน), ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร (ผู้แทนสภาทนายความ), สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ (ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข), ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน) และ สุริชัย หวันแก้ว กรรมการ (ผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสอนหรือทำงานวิจัยหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชน) จากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ จะจัดทำรายงานการพิจารณาส่งไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบต่อไป 

ผู้สมัครเป็น กสม. จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จากนั้นจึงให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งต่อไป

จากที่ทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเปิดรับสมัครหรือเปิดให้เสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพิ่มเติมจำนวน 3 คน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 23 เมษายน 2563 สรุปผลการรับสมัคร มีรายชื่อผู้สมัคร จำนวนทั้งหมด 36 คน ประกอบด้วย

ด้านที่ 1 บุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน ตามมาตรา 8(1) จำนวน 16 คน ได้แก่  

  1. นันสินี ศรีวังพล ผู้ดำเนินรายการข่าวจราจร สวพ.M91 สถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ กรุงเทพฯ
  2. กิตติ สุระคำแหง อดีตรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
  3. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เคยเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาฯ ในการส่งชื่อให้ สนช.พิจารณา
  4. ขันธ์ทอง อูนากูล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
  5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วราวุธ ตีระนันทน์ อดีตที่ปรึกษาประจำกรรมการการเลือกตั้ง
  6. วินัย ลู่วิโรจน์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน
  7. ชินชัย ชี้เจริญ อดีตที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  8. ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  9. เมธินี รัตรสาร รองผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
  10. ประหยัด พวงจำปา (ได้รับการเสนอชื่อจาก ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช., ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต) รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดว่า ประหยัด จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเท็จ มูลค่ากว่า 227 ล้านบาท
  11. รัชดา ไชยคุปต์ นักวิจัย/อาจารย์ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก
  12. วสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตคนทำงานด้านสื่อมวลชน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  13. อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิง และเคยเป็นหนึ่งในเครือข่ายสตรีภาคประชาชนที่รณรงค์เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ และร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
  14. อารีวรรณ จตุทอง เคยได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทนผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่ 3 เป็นการชั่วคราว 
  15. มานะ งามเนตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  16. สามารถ วราดิศัย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา

ด้านที่ 2 บุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ตามมาตรา 8(3) จำนวน 9 คน ได้แก่

  1. สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความที่ช่วยเหลือชาวบ้านในภาคอีสาน กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ
  2. สมฤทธิ์ ไชยวงค์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานศาลธรรมนูญโดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านคดี สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  3. สมชาย เจริญอำนวยสุข อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  4. กมลินทร์ พินิจภูวดล อดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
  5. ศยามล ไกยูรวงศ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปัจจุบันเป็นนิติกรทรงคุณวุฒิ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
  6. ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ โดยก่อนหน้านี้เคยผ่านการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช.
  7. นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ อดีตรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
  8. เชวง ไทยยิ่ง กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
  9. ทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ด้านที่ 5 มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา 8(5) จำนวน 11 คน ได้แก่

  1. จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ
  2. ผศ.นิรันดร์ พันทรกิจ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ศ.เฉลียว ศาลากิจ อดีตรองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  4. สุชาติ ชวางกูร (ได้รับการเสนอชื่อจากสุเทพ เทือกสุบรรณ) อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) และนักร้องนักแสดง
  5. พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  6. สุวัฒน์ เทพอารักษ์ เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่สาม เป็นการชั่วคราว เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  7. กฤษฎาภรณ์ รุจิธำรงกุล ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี
  8. ศิริพงษ์ เกี้ยวสกุล นายกสมาคมสมาพันธ์สภาองค์กรชุมชน
  9. พริษฐ์ เอี่ยมพงษ์ไพบูลย์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  10. รัชพล สุวรรณโชติ นายกสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย
  11. นิฟาริด ระเด่นอาหมัด อดีตรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

จะเห็นได้ว่าในจำนวนผู้สมัครทั้งหมดนี้ มีบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน กสม. ชุดที่สาม สองคน และยังมีอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกสองคน จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า บุคคลที่จะได้รับการคัดสรรและลงมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กสม. ที่เหลืออีก 3 ตำแหน่ง จะตกเป็นของ ‘คนวงใน’ เหล่านี้หรือไม่ หรือการคัดเลือกจะเป็นไปอย่างอิสระโดยเลือกคนที่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง