กมธ.ร่วมฯ แก้ไขกฎหมายลูก ส.ว. เพิ่มบทเฉพาะกาล ส.ว. ชุดที่สองเลือกไม่เหมือนชุดอื่น

 

หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มา ส.ว.ฯ ในวาระที่สามแล้ว ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ยังไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมสามฝ่ายซึ่งประกอบไปด้วยประธาน กกต., กรธ. 5 คน และสนช. 5 คน เพื่อพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสามฝ่ายอีกครั้งก่อนนำไปให้ที่ประชุมใหญ่ สนช. พิจารณาเห็นชอบกันอีกครั้ง ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมในประเด็นต่างๆ มีดังนี้
ประเด็นที่ 1 ให้ กกต.มีอำนาจยื่นศาลฎีกาเพื่อสั่ง “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”
กกต. ระบุว่า มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้ “เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” แต่ไม่ได้ให้อำนาจ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้ “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ด้วย เป็นการเขียนที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ กกต. ยื่นคำร้องให้เพิกถอนสิทธิทั้งสองประเภทได้ ผลการพิจารณาของที่ประชุมกรรมาธิการร่วมฯ ให้แก้ไข มาตรา 64 วรรคหนึ่ง โดยให้ กกต. มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้
ประเด็นที่ 2 วิธีการแบ่งกลุ่มอาชีพเพื่อคัดเลือก ส.ว. ใช้ระบบ 20 กลุ่ม บทเฉพาะกาลใช้ 10 กลุ่ม
กรธ. ระบุว่า การกำหนดให้มีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีเจตนารมณ์ให้เป็นสภาที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง โดยก่อนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรธ. เสนอแนวคิดการแบ่งผู้สมัคร ส.ว. ออกเป็น 20 กลุ่มอาชีพ ดังนั้น การที่ สนช. มีมติลดจำนวนกลุ่มลงเหลือเพียง 10 กลุ่ม จึงเป็นการลดทอนหลักประกันว่า วุฒิสภาจะประกอบด้วยประชาชนจากหลายภาคส่วน
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมฯ คือ 1) ในบททั่วไปเป็นไปตามความเห็นของ กรธ. โดยกำหนดให้ แบ่งกลุ่มเป็น 20 กลุ่ม และ 2) เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล ให้เป็นไปตามที่ สนช. ลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม กรณีวาระเริ่มแรกของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้แบ่งกลุ่มผู้สมัคร ส.ว. เป็น 10 กลุ่มอาชีพ
ประเด็นที่ 3 ผู้สมัคร ส.ว. ทุกคนต้องเป็นอิสระเดินมาสมัครเอง บทเฉพาะกาลให้มีตัวแทนเสนอโดยองค์กรวิชาชีพได้
กรธ. ระบุว่า รัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา 107 ระบุชัดเจนว่า ส.ว. จำนวน 200 คน มาจากการ “เลือกกันเอง” ของบุคคลในแต่ละกลุ่มอาชีพ ไม่ใช่ให้ผู้อื่นหรือองค์กรใดมาคัดกรอง ดังนั้น การเลือกดังกล่าวจึงมุ่งหมายให้เป็นการเลือกในระหว่างผู้สมัครด้วยกันเอง แต่ สนช. กลับแก้ไขร่างกฎหมายกำหนดให้แบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็นสองประเภท คือ “ประเภทที่สมัครโดยอิสระ” กับ “ประเภทที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรวิชาชีพ” 
ขณะที่ สนช. เห็นว่า การแบ่งผู้สมัคร ส.ว. ออกเป็นสองประเภท ถือว่า ผู้สมัครจะมีหลายช่องทางในการเข้าสมัครเพื่อได้รับการคัดเลือก ซึ่งการสมัครโดยอิสระอย่างเดียว จะทำให้ไม่สามารถได้ตัวแทนที่แท้จริง เพราะอาจมีผู้สมัครที่ไม่ได้ต้องการได้รับเลือก แต่สมัครเข้ามาเพียงเพราะต้องการจะเป็นผู้เลือกคนอื่นรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กร ย่อมถือเป็นตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ได้อย่างดี
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมฯ คือ 1) ในบททั่วไปเป็นไปตามความเห็นของ กรธ. กำหนดให้มีผู้สมัครสมาชิกโดยอิสระประเภทเดียว และ 2) แก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล ตามที่ สนช. ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 กรณีวาระเริ่มแรกของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ให้มีทั้งผู้สมัครโดยอิสระ และสมัครโดยต้องรับการเสนอชื่อจากองค์กร
ประเด็นที่ 4 ที่มาส.ว. มีทั้งเลือกในกลุ่มอาชีพเดียวกันและ "เลือกไขว้" บทเฉพาะกาลไม่เอาเลือกไขว้
กรธ. ระบุว่า หลักการสำคัญของการได้มาซึ่ง ส.ว. คือ การกำหนดมาตรการเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยเห็นว่า การเลือกกันเองของผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาจมีการสมยอมกัน ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงบัญญัติไม่ให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน แต่ให้ผู้สมัครในกลุ่มหนึ่งๆ มีสิทธิเลือกผู้สมัครจากกลุ่มอื่น หรือที่เรียกกันว่า “การเลือกไขว้” เพื่อให้การสมยอมกันระหว่างคนกลุ่มอาชีพเดียวกันทำได้ยากขึ้น ดังนั้น การที่ สนช. ตัดการเลือกไขว้ออกจึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ สนช. เห็นว่าการเลือกไขว้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครที่มีการตกลงสมยอมกัน เพราะเป็นไปได้ยากที่ผู้สมัครกลุ่มหนึ่งจะเลือกอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัครโดยอิสระและไม่เป็นการป้องกันการตกลงสมยอมกันมาก่อนได้
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมฯ คือ 1) ในบททั่วไปเป็นไปตามความเห็นของ กรธ. โดยกำหนดกระบวนการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ด้วยวิธีการเลือกกันเองและวิธีการเลือกไขว้ และ 2) แก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล ตามที่ สนช. ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 กรณีวาระเริ่มแรกของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดกระบวนการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ด้วยวิธีการเลือกกันเองโดยตรงเท่านั้น
เท่ากับว่า ระบบการเลือกตั้ง ส.ว. ในร่างฉบับที่ผ่านกรรมาธิการร่วมแล้ว จะมีสองระบบ คือ ระบบตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งใช้กับการคัดเลือก ส.ว. ชุดแรกตามกฎหมายนี้เท่านั้น และระบบที่สอง ใช้กับการเลือก ส.ว. ครั้งถัดๆ ไป อย่างไรก็ตาม ระบบการคัดเลือก ส.ว. ทั้งสองแบบจะยังไม่เริ่มใช้ทันที เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ มาจากการคัดเลือกของ คสช. เสียก่อน และชุดที่สองจึงจะเป็นการคัดเลือกตามกฎหมายนี้ 
ดังนั้น ระบบที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล จึงจะเริ่มใช้ครั้งแรกอย่างน้อยอีกห้าปี และระบบที่กำหนดไว้ในบททั่วไป จะเริ่มใช้ครั้งแรกอีกอย่างน้อยสิบปี หลังจากเริ่มมีการคัดเลือก ส.ว. ชุดแรก  
You May Also Like
อ่าน

ส่องเล่มจบป.เอก สว. สมชาย แสวงการ พบคัดลอกงานคนอื่นหลายจุด

พบว่าดุษฎีนิพนธ์ของ สว. สมชาย แสวงการ มีการคัดลอกข้อความจากหลากหลายแห่ง ซึ่งในหลายจุดเป็นการคัดลอกและวางข้อความในผลงานตัวเอง เหมือนต้นทางทุกตัวอักษร
อ่าน

เป็น สว. เงินเดือนเท่าไหร่? ได้สวัสดิการ-สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?

สว. 2567 แม้ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เหมือน สว. ชุดพิเศษ แต่มีอำนาจอื่นๆ เต็มมือ พร้อมกับเงินเดือนหลักแสน และสวัสดิการ สิทธิประโยชน์อีกเพียบ