เมื่อการรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมของรัฐ

มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เรื่อง “แนวทางการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ร่วมกันจัดทำขึ้นมา เป็นก้าวสั้นๆ แต่มีความหมายอย่างมากว่า เสียงประชาชนจะต้องมีความสำคัญให้มากขึ้นก่อนการตรากฎหมาย
มติ ครม. ดังกล่าว กำหนดขั้นตอนว่า ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะเสนอกฎหมายให้ ครม. พิจารณา ต้องมีการประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็นว่าจะมีระยะเวลากี่วัน พร้อมกับข้อมูลประกอบ อาทิ สาระสำคัญของกฎหมาย ความจำเป็นในตรากฎหมาย พร้อมกับจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือ www.lawamendment.go.th อีก อย่างน้อย 15 วัน จากนั้นก็จัดทำเอกสารเผยแพร่รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นโดยต้องมีรายละเอียดข้อคัดค้านหรือความคิดเห็นที่ไปรับฟังมา
โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะมีหน่วยงานอีกสองหน่วยงานมาตรวจสอบคุณภาพ คือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) หากตรวจสอบผลการรับฟังความคิดเห็นแล้ว เห็นควรให้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มก็สามารถทำได้ ก่อนจะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี จากนั้นคณะรัฐมนตรีก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจสอบผลการรับความคิดเห็นอีกครั้ง ถ้ายังไม่สมบูรณ์ก็สามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มอีกได้ โดยทั้งสองหน่วยงานจะจัดรับฟังความคิดเห็นเองหรือส่งไปให้หน่วยงานที่เสนอกฎหมายก็ได้
แนวทางการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวดูไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี ติดก็เพียงแต่ว่า วิธีการนำมาปฏิบัติจริงอาจจะทำให้ขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้ 'คุณภาพ' ตามมาตรฐานสากล
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาการประเมินผลกระทบในการออกกฎหมายของไทยไว้ว่า จะทำการประเมินเฉพาะขั้นตอนที่มีร่างกฎหมายแล้ว ไม่มีขั้นตอนตั้งแต่ก่อนคิดจะตรากฎหมาย ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังขาดคู่มือในการประเมินผลกระทบของกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีการจัดทำรายงานที่เป็นมาตรฐานกลาง ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสาธารณะที่ได้มาตรฐานสากล รวมไปถึงยังขาดหน่วยงานที่ตรวจสอบคุณภาพของรายงานการประเมินผลกระทบของกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอได้สรุปหลักการในการรับฟังความคิดเห็นที่อ้างอิงมาจากองค์กรเพื่อความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ Organisation for Economic Cooperation Development (OECD) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานสากลไว้ดังนี้
1) การรับฟังความเห็นสาธาณะเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ ไม่ควรยกเว้นหรือให้หน่วยงานรัฐใช้ดุลยพินิจได้
2) ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนยกร่างกฎหมาย
3) ต้องมีคู่มือดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่ชัดเจน
4) ประชาชนทุกคนสามารถเข้าร่วมได้
5) ข้อมูลจากเวทีรับฟังความคิดเห็นต้องบันทึกและเผยแพร่สู่สาธารณะ
6) หน่วยงานที่เสนอ/แก้ไข กฎหมายต้องตอบข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณะอักษร
7) ข้อมูลทั้งหมดต้องบันทึกในรายงานผลกระทบของกฎหมาย
8) มีหน่วยงานกลางตรวจสอบคุณภาพการรับฟังความคิดเห็น
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบหลักการดังกล่าวกับแนวทางตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 จะเห็นว่า ตัวมติ ครม. ยังมีช่องโหว่อยู่พอสมควร อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับทางปฏิบัติ ในการจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นประกอบการร่างกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จัดขึ้นในวันที่ 17 กรกฏาคม 2560 ก็จะทำให้เห็นปัญหาในเรื่องนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น
ในกำหนดการของเวทีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวพบว่า ผู้ที่มาอภิปรายล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรของรัฐหรือเกี่ยวข้องกับรัฐ โดยไม่มีตัวแทนของภาคประชาชนร่วมอภิปราย และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กำหนดเวลาไว้สำหรับให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน จึงมีแนวโน้มว่า เวทีอาจจะมีเนื้อหาเป็นการแจ้งข้อมูลให้ทราบมากกว่าการรับฟัง
อีกกรณีหนึ่งคือ การประท้วงของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชนราว 300 คน ที่มารวมตัวกัน ณ โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ  ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็น การแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งการจะเข้าร่วมงานดังกล่าวต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางออนไลน์ หรือสแกนบัตรประชาชนเพื่อเข้างานและมีเวลาให้แสดงความเห็นคนละ 3 นาที
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายปฏิเสธจะเข้าร่วมเวทีโดยระบุว่ากระบวนการร่างและรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น จึงได้รวมตัวกันปราศรัยถึงปัญหาของร่างกฎหมายใหม่อยู่หน้าห้องประชุม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้วางกำลังอยู่โดยรอบ และได้ตรวจยึดป้ายกระดาษ ป้ายผ้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาด้วย
จากตัวอย่างทั้งสองที่ยกมานี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะมีแนวทางตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 แล้วก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ประกันคุณภาพการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามหลักการสากล และสุดท้ายขั้นตอนเหล่านี้ก็จะเป็นเพียงพิธีกรรมของรัฐที่มีเพื่อใช้หาความชอบธรรมในการร่างกฎหมายในท้ายที่สุด