เช็คจุดยืนเพื่อไทย เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทย โดยในช่วงตลอดสี่ปีหลังการเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทยฐานะฝ่ายค้านเป็นผู้ที่ยื่นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวนครั้งมากที่สุด ซึ่งรวมถึงข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย หลังจากที่พรรคเพื่อไทยกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการตอกย้ำมากขึ้น และปรากฏเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่

แม้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นวาระสำคัญ แต่จะร่างอย่างไร และหน้าตาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะเป็นแบบใดยังคงไม่มีความชัดเจน ย้อนดูคำพูดของพรรคเพื่อไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับจุดยืนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

นโยบายพรรคเพื่อไทย รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สสร. มาจากการเลือกตั้ง

นโยบายอย่างเป็นทางการของพรรคเพื่อไทยซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของพรรค มีหมวดแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ และมีการระบุชัดเจนว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“จัดทำ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน”

2 ส.ค. แถลงการณ์ “ฉีก MOU” ใช้มติครม. ทำประชามติ ยุบสภาทันทีที่ร่างเสร็จ

หลังจากที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เนื่องจากโดน สว. แต่งตั้งขวาง โดยอ้างถึงนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ทำให้ต่อมา ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยที่มีเสียงเป็นอันดับสองได้ประกาศแยกตัวออกมากจากพรรคก้าวไกล ฉีก MOU ที่แปดพรรคตกลงร่วมกัน เพื่อที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยในแถลงการณ์แยกตัวออกของพรรคเพื่อไทย ก็มีการเขียนประเด็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในฐานะหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลเพื่อไทยจะผลักดัน

“เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ในแถลงการณ์ข้างต้นมีรายละเอียดมากขึ้นจากนโยบายอย่างเป็นทางการของพรรค คือมีการกล่าวถึงการใช้มติ ครม. ในการประชุมครั้งแรกเพื่อให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็จะยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ทันที

อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ในนโยบายอย่างเป็นทางการของพรรค กลับกลายเป็น “จัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามาจากการเลือกตั้ง

28 ส.ค. หมอชลน่าน ตอบ Conforall ต้องถามพรรคร่วมก่อน แต่อยากให้นโยบายพรรคเป็นหลัก

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้นำกว่า 200,000 รายชื่อที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติไปที่พรรคเพื่อไทยเพื่อเรียกร้องให้แกนนำจัดตั้งรัฐบาลรับนำคำถามของประชาชนที่จะการันตีว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องร่างได้ทั้งฉบับและ สสร. มาจากการเลือกตั้งไปใช้ โดยพรรคเพื่อไทยส่ง ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นตัวแทนออกมารับ

ชลน่านได้พูดกับสื่อมวลชนแสดงท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อคำถามประชามติของประชาชนว่าต้องปรึกษากับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ เสียก่อน แต่พรรคเพื่อไทยก็จะพยายามให้นโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นนโยบายหลัก

“ขั้นตอนนี้ทางคณะรัฐมนตรีต้องกำหนดเป็นนโยบายร่วมของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะทำเป็นนโยบายรัฐบาลและเสนอต่อรัฐสภาในการแถลงนโยบาย ถ้ามีข้อคำถามชัดเจนอย่างนี้มันก็ทำให้คณะรัฐมนตรีทำงานได้สะดวกขึ้น ส่วนจะเป็นไปตามที่พวกเราเสนอทั้งหมดหรือไม่ก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยกับนโยบายรัฐบาลอาจจะเป็นหนึ่งเดียวกันก็ได้หรืออาจจะไม่เป็นทั้งหมดก็ได้เพราะเราต้องพูดคุยกับพรรคร่วม แต่อย่างไรก็แล้วแต่ในฐานะพรรคแกนนำเราพยายามบอกกับพรรคร่วมแล้วว่า เราขอใช้นโยบายเราเป็นหลักในการดำเนินการของรัฐบาล”

ในขณะเดียวกัน ชูศักดิ์ก็กล่าวว่า คำถามที่ภาคประชาชนเสนอนั้นคล้ายกับที่ตนคิดไว้ และถ้าคำถามดีก็จะทำให้กระบวนการต่อไปเดินไปได้อย่างสะดวก

“ขณะเดียวกันทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำอย่างไร เราก็เชื่อว่า คราวที่แล้วเราเสนอกระบวนการสสร. ให้ประชาชนเลือกตั้ง สสร.มาทำหน้าที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ครั้งนี้เราก็คิดว่า น่าจะถามไปเสียเลย เพราะฉะนั้นคำถามจะทำนองเดียวกับไอลอว์ที่ทำอยู่ในขณะนี้คือ หนึ่งประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไหม สอง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีโดยวิธีการเลือกตั้งสสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าถามได้สะเด็ดน้ำครั้งนี้ผมคิดว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้เดินไปได้ด้วยความราบรื่น”

11 ก.ย. เศรษฐา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่แก้ไขหมวดกษัตริย์

วันที่ 11 กันยายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยในคำแถลงนั้นมีการพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในฐานะนโยบายเร่งด่วนด้วย

“นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”

การแถลงของเศรษฐาเป็นอีกครั้งที่มีการพูดถึงการยกเว้นการแก้ไขหมวดกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นส่วนร่วมจากประชาชน และก็เป็นอีกครั้งเช่นกันที่ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าจะมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

13 ก.ย. ภูมิธรรม กล่าว ประชามติต้องหารือว่าจะทำอย่างไร

วันที่ 13 กันยายน 2566 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องปรึกษาหลายฝ่ายให้ไม่มีความขัดแย้ง

“[การร่างรัฐธรรมนูญใหม่] ละเอียดอ่อน เพราะหากดูจากรัฐบาลที่แล้ว จะเห็นว่ามีวาระเรื่องนี้เข้าสภาอยู่หลายครั้งก็ไม่ผ่านความเห็นชอบ ผ่านเพียงฉบับเดียว และมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจนถึงขั้นที่จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าอำนาจหน้าที่อยู่ตรงไหน และอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ แม้กระทั่งจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ แต่ในครั้งที่แล้วก็ยังมีการเสนอที่แตกต่างกัน บางพรรคก็เสนอให้ทำ 4 รอบ บางพรรคก็เสนอให้ทำ 2 รอบ ก็ต้องไปดูไม่ให้ขัดกฎหมาย เพื่อให้สามารถทำประชามติได้ [สสร.] ต้องมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรก็ได้ ทำให้มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคตให้มากที่สุด”

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีก็มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ รวมทั้งหมด 35 คน และให้มีอนุกรรมการศึกษาการทำประชามติและอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น โดยวางกรอบเวลาการทำงานของคณะกรรมการไว้อย่างช้าภายในสามเดือนแรกของปี 2567 หลังจากนั้นก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติต่อไป

19 ก.ย. จาตุรนต์ ย้ำจุดยืนส่วนตน สสร. ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่รู้พรรคจะเอาอย่างไร

จาตุรนต์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเป็นหนึ่งในคนที่พูดเรื่องประชาธิปไตยบ่อยครั้ง และในวันที่ 19 กันยายน 2566 เนื่องในวันครบรอบรัฐประหาร 2549 จาตุรนต์ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Standard โดยตอบคำถามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ความเห็นของตนยังอยากเห็น สสร. มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถให้สัญญาได้ตามแนวทางการตอบของแกนนำพรรคคนอื่น เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลพรรคร่วมจะต้องคุยกันก่อน อย่างไรก็ดี จาตุรนต์ยังเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเมื่อสัญญาร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วก็ควรจะผลักดันให้สำเร็จ

“ถ้าถามผมว่า สสร. ควรมาแบบไหน ผมจะยังบอกว่าควรมาจากการเลือกตั้ง ส่วนพรรคจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เดิมพรรคมีความเห็นแบบนั้นอยู่ แต่ก็ต้องหารือกัน ผมบอกไม่ได้ [ว่าวันนี้พรรคเปลี่ยนไปหรือไม่] รัฐบาลอาจจะไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทยก็ได้ เพราะรัฐบาลก็ต้องหารือหลายพรรค และมีคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งก็จะต้องพิจารณาเรื่อง สสร. ด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญคือพรรคเพื่อไทยก็ผลักดันให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง รัฐบาลประกาศแล้วว่าจะทำให้เกิดประชาธิปไตยมากขึ้น ก็หวังว่าคณะกรรมการจะได้ข้อสรุปในทางที่เป็นประโยชน์กับการแก้รัฐธรรมนูญ คือต้องมี สสร.”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
ConCourt Judges
อ่าน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมหน้า ร่วมยินดีสว. สมชาย แสวงการ รับป.เอก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงความยินดีที่สว. สองคนได้รับปริญญาเอก เรื่องนี้มีที่มาเพราะสมชาย แสวงการ สว. ที่รับปริญญาผ่านการคัดเลือกโดยศาลรัฐธรรมนูญให้มาเรียน และกรรมการสอบเล่มจบก็ไม่ใช่ใครอื่น