เลือกตั้ง 66: “จากนับช้าสู่การขอนับใหม่” ปัญหาที่ยังต้องสนใจในเลือกตั้ง 66 จังหวัดสงขลา เขต 2

ผ่านไปแล้วเกือบสองสัปดาห์หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยปัจจุบันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่ผลคะแนนในใบ ส.ส.5/18 ขึ้นบนอินเทอร์เน็ตเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทว่าในบางจังหวัด ในบางเขตเลือกตั้งผลคะแนนที่น่าครหากำลังนำมาซึ่งการเรียกร้องให้เกิดการนับคะแนนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากอาจจะกำลังมีความ ‘ไม่ถูกต้อง’ เกิดขึ้นในกระบวนการเลือกตั้ง

ในการรายงานผลโดย ETC Report ของ กกต. ระบุว่า จังหวัดสงขลา เขต 2 มีผู้ชนะคือ ศาสตรา ศรีปาน ผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยคะแนน 20,553 คะแนน ตามมาด้วย วชิราภรณ์ นิรันตราภรณ์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนน 20,385 คะแนน หรือแพ้ชนะกันเพียง 168 คะแนน

ปัญหาสำคัญ คือ 168 คะแนนนั้นอาจจะเป็นผลมาจาก Human Errors ที่นับคะแนนผิดพลาดก็เป็นได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลระบุว่า คณะทำงานรวบรวมผลคะแนนจากหลักฐานหน้าหน่วยแล้วเป็นเวลาหนึ่งคืน ไม่ตรงกับผลคะแนนที่ กกต. ประกาศอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ทำให้จังหวัดสงขลา เขต 2 ที่กำลังทำเรื่องขอให้ กกต. นับคะแนนการเลือกตั้งใหม่อย่างถูกต้อง กลายเป็นปัญหาที่ กกต. ต้องรีบจัดการหากต้องการจะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็ว

election in Songkla

เกิดอะไรขึ้นในวันเลือกตั้ง จังหวัดสงขลา เขต 2

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันลงคะแนนของการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ประชาชนพบว่าหลายหน่วยเลือกตั้งถูกคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ห้ามให้มีการถ่ายรูปหรือคลิปวิดีโอขณะทำงาน ซึ่งขัดต่อหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในบางหน่วยเลือกตั้งถึงขั้นติดป้ายขนาดใหญ่ว่า “ห้ามถ่ายภาพ” และเชิญทั้งประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งที่ถ่ายรูปออกไปนอกบริเวณ ซึ่งสำนักข่าวมติชนรายงานไว้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ว่า บางรายถูกสั่งให้ ‘ลบรูป’ และอ้างว่าจะถูกเอาผิดด้วยพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หากนำรูปการทำงานของ กปน. หรือกระดานคะแนนไปเผยแพร่อีกด้วย

ขณะเดียวกันวชิราภรณ์กล่าวว่า หลายหน่วยเลือกตั้งเมื่อรวมจำนวนบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทก็ยังมีที่น่าตั้งข้อครหา ว่าจำนวนบัตรมีสัดส่วนตามที่ควรจะเป็นแล้วหรือไม่ หรือกำลังมี ‘บัตรเขย่ง’ เกิดขึ้น

หลังช่วงเวลาปิดคูหา วชิราภรณ์และคณะทำงานจึงช่วยกันรวบรวมรูปถ่ายใบ ส.ส.5/18 ทั่วเขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งประสบปัญหาอย่างมาก เรื่องจากการที่ กปน. หลายหน่วยไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้ตั้งแต่แรก

เกิดอะไรขึ้นหลังวันเลือกตั้ง

ในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นอกจากการประสบปัญหาด้านการรวบรวมรูปถ่ายหลักฐานแล้ว วชิราภรณ์ยังค้นพบว่า บางหน่วยเลือกตั้งถูกไปตั้งไว้ในสุสาน ทั้งที่ในเอกสารระบุว่าเป็น “บริเวณหน้าบ้านของนายประเสริฐ”

ต่อมา กปน. หลายคนยังได้แสดงไลน์กลุ่มที่มีผู้สั่งให้ กปน. ห้ามผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งถ่ายรูปเป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้มี กปน. บางส่วนโทรศัพท์ไปหาประชาชนหรืออาสาสมัครที่เขียนใบคำร้องทักท้วงการทำงานของ กปน. บางหน่วยเพื่อไกล่เกลี่ย ไม่ให้เรื่องขึ้นถึงผู้มีอำนาจสั่งการคนอื่นๆ

สิ่งที่ผิดปกติอีกอย่างของการเลือกตั้งในจังหวัดสงขลา เขต 2 คือ เขตนี้กลายเป็นเขตที่นับคะแนนเสร็จล่าช้าที่สุด และเป็นเขตที่ประกาศผลการเลือกตั้งช้าที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ระบุไว้ว่า เป็นเพราะคะแนนมีความสูสีกันมากและแพ้ชนะกันไม่ขาด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้ารีบเซ็นรับรองผลการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เป็นเพราะผลแพ้ชนะระหว่างผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลและผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติห่างกันเพียง 168 คะแนน ประกอบกับข้อครหาเรื่องสัดส่วนของจำนวนบัตรแต่ละประเภทในหลายหน่วยเลือกตั้ง ทำให้วชิราภรณ์ตัดสินใจเดินทางไปยัง กกต.สงขลา เพื่อดำเนินเรื่องขอนับคะแนนใหม่ทันที

วชิราภรณ์สันนิษฐานว่า ข้อครหาเรื่องจำนวนสัดส่วนของบัตรแต่ละประเภทเกิดจากการรวมคะแนนผิดเพราะ Human Error เนื่องจาก กปน. ต้องทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

ปัจจุบันนี้กระบวนการขอให้ กกต. นับคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 2 ของจังหวัดสงขลายังคงดำเนินต่อไป และวชิราภรณ์มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าหลักฐานที่คณะทำงานของพรรคก้าวไกลจังหวัดสงขลารวบรวมมายื่นแก่ กกต.สงขลา มีความแน่นหนาและครอบคลุมมากเพียงพอ

กกต. สามารถอนุญาตให้มีการนับคะแนนใหม่ได้หรือไม่

ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 177 วรรคสี่ และข้อ 223 ให้อำนาจแก่ กกต. สามารถสั่งนับคะแนนใหม่ได้ ดังนั้น ในเขตเลือกตั้งที่มีข้อครหาว่า จำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับจำนวนผลคะแนน กกต.ควรสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่โดยเร็ว ทั้งนี้ระเบียบข้อ 215 ยังให้เวลา กกต. ในการตรวจสอบการเลือกตั้งถึง 60 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ควรรีบดำเนินการนับคะแนนใหม่ให้แล้วเสร็จ เพราะหากยิ่งปล่อยให้ข้อร้องเรียนทอดเวลาออกไปนานยิ่งขึ้น ข้อครหาการทำงานของ กกต. ก็จะยิ่งยาวนานมากขึ้นเท่านั้น และหาก กกต. สามารถคลี่คลายปัญหา สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ ก่อนครบกำหนดกรอบเวลา 60 วัน ก็จะยิ่งเป็นการดีต่อการจัดตั้งรัฐบาลตามมติของประชาชนส่วนมากต่อไป