ถามมาตอบไป รวมข้อสงสัยยอดฮิตจากอาสาสมัคร Vote62

ความไม่วางใจในประสิทธิภาพและความโปร่งใส ทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนเกิดความตื่นตัวที่จะร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การนับคะแนน และช่วยกันรายงานคะแนนดิบ “รายหน่วย” จากคะแนนบนบอร์ดชัดๆ เน้นๆ แบบไม่ง้อ กกต. แต่หลายคนยังไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยไปดูการนับคะแนน หรือไม่เคยร่วมส่งข้อมูลทางเว็บไซต์ Vote62.com มาก่อน จึงยังมีข้อสงสัยที่สอบถามเข้ามาจำนวนมาก

รวบรวมทุกคำตอบ จากทุกคำถามที่ได้รับมา ตั้งแต่เริ่มเปิดรับอาสาสมัครสังเกตการณ์การนับคะแนน ทั้งสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ระหว่างสังเกตการณ์ วิธีการรายงานผลรายหน่วย รวมถึงข้อสงสัยอื่นๆ มีคำอธิบายให้ทั้งหมดอยู่ที่นี่แล้ว

ข้อมูลพื้นฐาน

Q: การนับคะแนนจะนับในสถานที่และเวลาใด

A: การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งทั้งหมด จะนับที่หน่วยที่เลือกเลย การนับคะแนนจะเริ่มหลังปิดหีบในเวลา 17.00 น. พร้อมกัน โดยแต่ละหน่วยอาจมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 400-500 คน และจะใช้เวลานับประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิในแต่ละหน่วยและข้อผิดพลาดหรือข้อทักท้วงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการนับคะแนน และในการนับคะแนนจะมีสองหีบต่อหนึ่งหน่วยซึ่งจะนับไปพร้อมๆ กันเลยทั้งสองหีบ ส่วนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า และบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะถูกนับในสถานที่ที่กกต.เขตแต่ละเขตกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ ในแต่ละแห่งก็อาจจะแบ่งเป็นหลายหน่วยเพื่อนับไปพร้อมๆ กัน

Q: ต้องแต่งตัวอย่างไร ต้องใส่เสื้ออาสาจับตาเลือกตั้งหรือไม่ ใส่เสื้อพรรคที่เชียร์ได้ไหม

A: สามารถแต่งตัวได้ตามอัธยาศัย ไม่ได้มีข้อบังคับใดๆ หากใครมีเสื้อและหมวกอาสาจับตาเลือกตั้งก็แนะนำให้ใส่ไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจบทบาท และเผื่อเจอเพื่อนๆ อาสาที่หน้าหน่วยจะได้ทักทายกัน สำหรับคนที่อยากใส่เสื้อพรรคการเมือง กฎหมายจะห้ามใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์พรรคการเมือง เฉพาะการใส่เข้าไปที่หน่วยเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม จนถึงเวลาปิดหีบคือ 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หรือห้ามใส่ในช่วงที่ห้ามการหาเสียง แต่ไม่ได้ห้ามใส่ไปยืนดูการนับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้งหลัง 17.00 น.

Q: ใครเป็นผู้สังเกตการณ์ได้บ้าง

A: ใครๆ ก็เป็นผู้สังเกตการณ์ไปดูการนับคะแนนและถ่ายภาพมาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ได้ หมายความว่า คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี พระสงฆ์ นักบวช หรือคนไม่มีสัญชาติไทย ก็สามารถเข้าร่วมการสังเกตการณ์การนับคะแนนได้

Q: สามารถถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ หรือ Live ขณะนับคะแนนได้หรือไม่

A: การบันทึกภาพนิ่ง วิดีโอ รวมถึงถ่าย Live ที่หน่วยเลือกตั้งสามารถทำได้ ไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบใดที่ห้าม โดยต้องไม่ไปรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือต้องทำจากบริเวณนอกแนวกั้นพื้นที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งมักใช้เทปสีเหลืองดำของกกต.เป็นสัญลักษณ์กั้นเขต ตามกฎหมายข้อห้ามเรื่องการถ่ายรูปมีกรณีเดียว คือ ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่มีการทำเครื่องหมายแล้วภายในคูหา แต่เพื่อพ้นเวลาปิดหีบ 17.00 น. สามารถถ่ายบัตรที่กรรมการชูขึ้นมานับคะแนนได้ หากมีเจ้าหน้าที่ใดไม่เข้าใจข้อกฎหมายสามารถเปิดคำให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ กกต. ให้เจ้าหน้าที่ดูได้ 

Q: ไปสังเกตการณ์นับคะแนน ต้องเตรียมอะไรไปเป็นพิเศษไหม

A: อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับการรายงานคะแนนคือโทรศัพท์มือที่ต้องใช้ทั้งถ่ายภาพและกรอกคะแนน เพื่อความมั่นใจควรชาร์จแบตออกจากบ้านให้เต็ม และเตรียมแบตสำรองไปด้วย เนื่องจากการนับคะแนนมักเสร็จในช่วงหัวค่ำ ถ้าใครจะพกสเปรย์กันยุงแบบพกพา หรือไฟฉายไปเผื่อไฟในหน่วยเลือกตั้งสว่างไม่พอก็ทำได้เช่นกัน

Dress_Watch

ข้อมูลเกี่ยวกับการสังเกตการณ์

Q: ผู้สังเกตการณ์ต้องมีบัตรอนุญาตในการสังเกตการณ์หรือไม่

A: ไม่ต้อง เพราะการนับคะแนนต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว ใครๆ ก็สามารถไปดูและมีส่วนร่วมได้ และในความเป็นจริงกระบวนการเปิดให้ขออนุญาตของกกต. ก็ไม่ชัดเจน ถ้าใครต้องการจะขออนุญาตล่วงหน้าก็ไม่มีช่องทางหรือหลักเกณฑ์ให้ทำได้

Q: ในขั้นตอนการขานคะแนน หากเจ้าหน้าที่ขานคะแนนผิด ขานผิด (บัตรดีเป็นเสีย/ บัตรเสียเป็นดี ขานหมายเลขที่กาผิด) หรือขีดคะแนนผิดจะต้องทำอย่างไร

A: ประชาชนและผู้สังเกตการณ์สามารถทักท้วงให้เจ้าหน้าที่แก้ไขได้อย่างสุภาพ เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบแล้วก็จะแก้ไขตรงนั้นให้เห็นเลยว่ามีการแก้ไขแล้ว

Q: หากทักท้วงข้อผิดพลาดแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ยอมแก้ไข ให้ทำอย่างไร

A: ให้บันทึกภาพหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าขอเอกสารทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยหรือกรรมการนับคะแนน ที่เรียกว่าใบ ส.ส. 5/10 เขียนอธิบายเหตุที่เราต้องทักท้วงโดยละเอียด ยื่นให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งแผ่น และเก็บสำเนากลับมาด้วยหนึ่งแผ่น จากนั้นรายงานความผิดปกติมาทาง vote62.com

Q: ถ้าเจ้าหน้าที่ห้ามประชาชน – ผู้สังเกตการณ์ถ่ายภาพ หรือวิดีโอ ควรทำอย่างไร

A: แจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจอย่างสุภาพ ว่าในปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่ห้ามประชาชนถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอ และผู้สังเกตการณ์ทุกคนมีเจตนาดีที่จะมาช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ทุกอย่างถูกต้องโปร่งใส หากเจ้าหน้าที่ทำงานได้ถูกต้องก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ประชาชนและภาพถ่ายทุกใบจะเป็นพยานหลักฐานคุ้มครองเจ้าหน้าที่อีกชั้นหนึ่งด้วย

หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ยอมให้เปิดคลิปคำพูดของเลขาธิการสำนักงาน กกต. ให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยดู

หากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยยืนยันไม่ให้ถ่ายภาพ หรือไม่ยอมแก้ไขข้อผิดพลาด ให้ขอเอกสารทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยหรือกรรมการนับคะแนน (ส.ส. 5/10) เขียนคำร้องให้ละเอียดยื่นให้เจ้าหน้าที่เก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งแผ่น และเก็บสำเนากลับมาด้วยหนึ่งแผ่น จากนั้นรายงานความผิดปกติมาทาง vote62.com

Q: การรายงานผลคะแนนผ่านช่องทางเว็บไซต์ Vote 62 ต้องถ่ายภาพอะไรบ้าง

A: 1. ป้ายไวนิลที่ระบุข้อมูล สถานที่เลือกตั้ง รหัสหน่วยเลือกตั้งที่ไปสังเกตการณ์

    2. กระดาษขีดคะแนน ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต ทุกแผ่น

    3. แบบฟอร์มสรุปผลการเลือกตั้ง หรือ ส.ส.5/18

    โดยเอกสารทั้งหมดควรถ่ายให้เห็นข้อมูลครบถ้วน 1 ภาพต่อหนึ่งแผ่น ให้เห็นชัดเจนทั้งภาพตั้งแต่หัวกระดาษที่ระบุสถานที่ตั้งหน่วย และท้ายกระดาษที่มีลายเซ็นเจ้าหน้าที่ กระดาษขีดคะแนนจะมีหลายแผ่นต่อหนึ่งหน่วย ให้ผ่านภาพละหนึ่งแผ่น ไม่ใช่ภาพละหลายแผ่น เพราะจะทำให้ภาพไม่ชัดและมองไม่เห็นข้อมูล

Q: อาสา 1 คน ลงชื่อสังเกตการณ์ได้กี่หน่วย

A: ไม่มีข้อจำกัดว่าลงได้กี่หน่วย แต่ในทางปฏิบัติการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องกระดาษขีดคะแนนจำนวนหลายใบจากหนึ่งหน่วย (ทั้งสำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ) หากเป็นไปได้อยากให้อาสาเน้นไปที่ความครบถ้วนของข้อมูล ถ่ายภาพให้ครบสมบูรณ์อย่างน้อยหนึ่งหน่วย แต่หากหน่วยเลือกตั้งอยู่ใกล้กันอาจสังเกตการณ์และถ่ายภาพมากกว่าหนึ่งหน่วยเลือกตั้งได้

Q: รูปถ่ายต้องละเอียดแค่ไหน กล้องมือถือเอาอยู่ไหม

A: ขอแค่รูปถ่ายชัดพอที่จะอ่านตัวอักษรและตัวเลขได้ครบถ้วนก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้กล้อง DSLR ซึ่งความละเอียดของภาพอาจสูงและขนาดของไฟล์ภาพอาจใหญ่เกินกว่าระบบเว็บไซต์จะรองรับ กล้องโทรศัพท์มือถือรุ่นหลังๆ ส่วนใหญ่ก็ดีพอที่จะถ่ายได้

Q: หากบอร์ดขีดคะแนน ติดในลักษณะทับกัน หรืออยู่ไกลจนมองไม่เห็นควรทำอย่างไร

A: หากบอร์ดขีดคะแนนอยู่ลึกเข้าไปในหน่วยเลือกตั้งจนมองเห็นไม่ชัด หรือถ่ายรูปได้ไม่ชัด ประชาชนและผู้สังเกตการณ์สามารถร้องขอให้เจ้าหน้าที่เลื่อนบอร์ดให้เข้ามาใกล้ระยะสายตาได้ เมื่อเจ้าหน้าที่นับคะแนนเสร็จ หากพื้นที่หน่วยเลือกตั้งคับแคบจนต้องติดบอร์ดขีดคะแนนทับกัน ผู้สังเกตการณ์สามารถร้องขอให้เจ้าหน้าที่ค่อยๆ พลิกบอร์ดเพื่อให้บันทึกภาพทีละแผ่นได้ หากมีคนต้องการถ่ายภาพหลายคน ควรถ่ายพร้อมๆกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกในครั้งเดียว

Q: กระดานขีดคะแนน ป้ายไวนิลแสดงหน่วยเลือกตั้ง และแบบฟอร์มส.ส.5./18 จะติดไว้นานเท่าใด

A: เมื่อกรรมการประจำหน่วยนับคะแนนเสร็จและตรวจสอบเอกสารจนเรียบร้อยก็จะทยอยเก็บของ ผู้สังเกตการณ์ควรถ่ายภาพบอร์ดขีดคะแนนทันทีที่เจ้าหน้าที่นับคะแนนเสร็จ เพราะจะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10-20 นาทีก็จะถูกเก็บพร้อมกับป้ายไวนิล และอุปกรณ์อื่นๆ ในหน่วยนั้น และเมื่อเก็บทุกอย่างเสร็จ เจ้าหน้าที่จะนำเอกสาร ส.ส. 5/18 มาติดประกาศไว้บริเวณบอร์ดหน้าหน่วยเลือกตั้ง ตามกฎหมายบอกให้ติดไว้อย่างนั้นไม่ได้บอกว่าติดไว้นานเท่าใด จึงคาดหมายได้ว่าในวันรุ่งขึ้น เมื่อเจ้าของสถานที่มาใช้สถานที่ก็จะเก็บออก

Q: หากหน่วยเลือกตั้งใกล้บ้านมีผู้ลงทะเบียนมากแล้วควรทำอย่างไร

A: หากพอจะเดินทางได้ ควรหาหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างออกไปเล็กน้อย แต่ยังไม่มีอาสาสมัครหรือมีอาสาสมัครประจำหน่วยเพียงคนเดียว โดยตรวจสอบได้ที่นี่ กิจกรรมนี้ต้องขอให้อาสาสมัครบริหารจัดการกันเองว่าใครจะไปอยู่หน่วยไหน เพื่อให้จับตาและถ่ายภาพ เก็บข้อมูล ได้กว้างขวางมากที่สุด

Q: ถ้าที่หน่วยใกล้บ้านมีคนอื่นถ่ายภาพส่งมาแล้ว จะส่งภาพอีกได้หรือไม่

A: ได้ ยิ่งมีหลายคนส่งภาพมาหลายชุดยิ่งดี เพื่อจะได้ตรวจสอบความถูกต้องให้แน่นอนยิ่งขึ้นไปอีก

Q: ถ้าส่งภาพแล้ว ยังไม่สะดวกกรอกข้อมูลเป็นตัวเลขได้หรือไม่

A: ได้ เข้าใจได้ว่าบางคนที่อยู่หน้าหน่วยอาจจะไม่มีแสงไฟเพียงพอ หรือแบตเตอรี่ใกล้หมด จึงอาจจะส่งภาพให้เสร็จก่อนเป็นอันดับแรกก็ได้ โดยจะขอความร่วมมือว่า หากเดินทางถึงบ้านและมีโอกาสพักผ่อนแล้วก็มาช่วยกรอกข้อมูลให้สมบูรณ์จากภาพที่ตัวเองถ่ายมา แต่ถ้าหากไม่สะดวกกรอกคะแนนเป็นตัวเลขจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังเปิดรับอาสาจากทางบ้านที่ไม่ได้ไปหน้าหน่วย ให้มาช่วยกรอกข้อมูลอย่างเดียวได้ด้วย

Q: กรณีมีคนรายงานผลเข้ามาพร้อมกันมากๆ เว็บจะล่มเหมือนตอนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่

A: ระบบของเว็บไซต์ Vote62 มีการวางระบบไว้รองรับ เตรียมพร้อมสำหรับการรับข้อมูลจำนวนมากๆ พร้อมกัน น่าจะไม่เกิดปัญหาเว็บล่ม

Q: กรณีมีเหตุไม่ชอบมาพากล เช่น ไฟดับ มีคนมายกหีบ หรือกรณีอื่นๆ ควรทำอย่างไร

A: สามารถแจ้งเหตุได้ทาง เว็บไซต์ Vote62 ตั้งแต่ 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นต้นไปหรือตามช่องทาง social network ของ iLaw ทั้ง facebook twitter instagram และ Line @vote62

You May Also Like
อ่าน

5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่

17 มีนาคม 2567 านเสวนา “5 คูหา เปลี่ยนประเทศไทย: ปฏิทินแห่งความหวังสู่รัฐธรรมนูญใหม่” ชวนมองไปข้างหน้า เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการเลือก สว. ชุดใหม่
อ่าน

สมัครให้เยอะๆ และช่วยกระจายข้อมูล ประชาชนมีส่วนร่วมได้กับการเลือกสว.67

ระบบการเลือก สว. ในปี 2567 ยังเปิดกว้างให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาได้หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสำคัญมาก ทุกคนไม่ว่าจะมีสิทธิสมัครหรือไม่ก็ลงมือทำได้