เลือกตั้ง66: กกต.สกัดขาผู้สังเกตการณ์ของพรรคการเมือง แต่ ปชช.ยังออกมาช่วยกันจับตาเลือกตั้งได้

จากกรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลออกมาท้วงติงเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์ของพรรคการเมืองที่ กกต.ตีความว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้สังเกตการณ์ที่พรรคจ่ายเงินจริงหรืออาสาทำด้วยใจไม่รับเงินจะต้องคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง แตกต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ค่าใช้จ่ายของผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นของผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพจริงในเรื่องข้อจำกัดงบประมาณกล่าวคือ การเลือกตั้ง 2566 เกิดขึ้นหลังการประกาศยุบสภา พรรคการเมืองสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ 44 ล้านบาท หากพรรคการเมืองต้องการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งทุกหน่วยเลือกตั้งโดยจ่ายตามค่าแรงขั้นต่ำยึดตามจังหวัดอัตราสูงสุดคือ 354 บาท พรรคจะต้องใช้เงินในส่วนนี้ 33.63 ล้านบาท ซึ่งทำให้พรรคเหลือเงินทำกิจกรรมประมาณสิบล้านบาทเท่านั้น

การจัดเลือกตั้ง 2566 มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลน้อยที่สุดคือ สร้างความไม่สะดวก ความสับสน หรือมากที่สุดคือ ส่งผลในทางที่ขัดเจตจำนงการออกเสียงของประชาชน ซึ่งการมีผู้สังเกตการณ์จากพรรคการเมืองจะสามารถช่วยสอดส่องการทำงานของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่อาจผิดพลาดด้วยความเข้าใจผิดหรือความเหน็ดเหนื่อยจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน สิ่งที่พิสูจน์ว่า การมีผู้สังเกตการณ์แล้วจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ความผิดพลาดได้บ้างคือ การเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ภาคประชาชนได้จัดทีมผู้สังเกตการณ์จับตาการเลือกตั้ง มีกรณีที่ผิดพลาดและสามารถแก้ไขได้ทันเวลาหลายกรณี ตลอดจนสามารถบันทึกข้อมูลเพื่อเสนอต่อสาธารณะส่งผ่านไปถึงกกต.ให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขการทำงานของตนเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว กกต. จึงจำเป็นต้องทบทวนการตีความกฎหมายไม่ให้เป็นเพียงข้อความบนกระดาษที่ในความเป็นจริงไม่ได้เอื้ออำนวยการสร้างความโปร่งใสของการเลือกตั้ง

 

รู้จักผู้สังเกตการณ์พรรคการเมืองและขอบเขตหน้าที่

ระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 (ระเบียบเลือกตั้ง 2566) กำหนดเรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้งและการนับคะแนนไว้เช่นเดียวกับฉบับก่อนหน้า คือ หมวด 1 ส่วนที่ 7 ว่าด้วยผู้แทนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยสรุปคือ ก่อนหน้าวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วันพรรคการเมืองที่ต้องการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งและการนับคะแนน จะต้องยื่นหนังสือขอแต่งตั้งผู้แทนพรรคการเมือง

ในวันเลือกตั้งผู้แทนพรรคการเมืองต้องอยู่ในที่ที่จัดไว้ ซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงาน ห้ามกระทำหรือกล่าวโต้ตอบกรรมการประจำที่เลือกตั้ง หรือระหว่างกันเอง หรือบันทึกภาพการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการหรือ “การออกเสียงลงคะแนน” ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และถ้าผู้แทนพรรคการเมืองหรือผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่า การออกเสียงไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่กำหนด ให้ยื่นคำทักท้วงตามแบบ ส.ส. 5/10 อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า ในกรณีที่เป็นเหตุของการนับคะแนน ขานบัตรดี-เสีย การเห็นและคัดค้านด้วยวาจาทันทีดูจะสมเหตุสมผลมากกว่าการเขียนคำร้องให้เสร็จแล้วยื่นต่อกรรมการประจำหน่วย

ในประเด็นการถ่ายภาพ ระเบียบเลือกตั้ง 2566 ห้ามผู้แทนพรรคการเมืองถ่ายภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และเห็นถึงการลงคะแนนของผู้ออกเสียง ตีความได้ว่า เป็นระเบียบที่ป้องกันการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่และสอดคล้องไปกับการป้องกันการทุจริตซื้อเสียง ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งได้ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งถ่ายภาพหรือแสดงบัตรทำนองเดียวกันไว้ด้วย เจตนารมณ์ของการห้ามตัวแทนพรรคการเมืองถ่ายภาพเป็นไปเพื่อป้องกันการทุจริตซื้อเสียงการเลือกตั้งเท่านั้น การถ่ายภาพกระดานการนับคะแนนและใบรายงานผลการนับคะแนน ส.ส. 5/18 เพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้งและการนับคะแนนที่ต้องกระทำอย่างเปิดเผยไม่ได้ถูกห้ามตามระเบียบและกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า ระเบียบฉบับนี้จะคุ้มครองผู้สังเกตการณ์ของพรรคการเมืองอย่างไร ในกรณีพบเห็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติกระทำการผิดกฎหมายเลือกตั้งเสียเองในหน่วยเลือกตั้งและจำเป็นต้องบันทึกภาพเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

ประชาชนทุกคนช่วยกันแก้เกม กกต.ได้

หลักการสำคัญของการมีผู้สังเกตการณ์ของพรรคการเมืองในหน่วยเลือกตั้งคือ การนำผู้แข่งขันในสนามเลือกตั้งมาจับตาเองในทำนองที่ว่า แต่ละฝ่ายแต่ละพรรคจะไม่มีใครยอมเสียประโยชน์อันสืบเนื่องจากความไม่มีประสิทธิภาพหรือการโกงการเลือกตั้ง แต่เมื่อการตีความของกกต.ไม่ได้เอื้อให้กลไกผู้สังเกตการณ์จากพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้จริง ประชาชนสามารถออกมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ มีข้อจำกัดบ้างคือ การที่ไม่สามารถเข้าไปในหน่วยเลือกตั้งได้ แต่อย่างน้อยๆ การมีอยู่ของประชาชนที่หน้าหน่วยเลือกตั้งก็จะช่วยสอดส่องในเรื่องกระบวนการจัดการเลือกตั้ง เห็นสิ่งที่ผิดพลาดก็ช่วยกันท้วงถามเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติอย่างสุภาพ พบเห็นการโกงเลือกตั้งก็ช่วยกันเก็บหลักฐาน และช่วยกันนับคะแนนเพื่อรักษาให้ทุกเสียงมีความหมายตามที่ผู้ออกเสียงได้เลือก

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย