เลือกตั้ง66: รู้จัก กปน. เขาคือใครในหน่วยเลือกตั้ง

จากวันเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ประชาชนได้พบเห็นเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในหน่วยเลือกตั้งจำนวนหลายคน บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่พวกเขาคือ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ชวนทำความรู้จักที่มาที่ไปของ กปน.

กปน. เป็นใครมาจากไหน?

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 หรือ พรป.เลือกตั้งฯ มาตรา 5 ระบุว่า ในหนึ่งหน่วยเลือกตั้งต้องมี กปน. ทั้งสิ้นจำนวนเก้าคน แบ่งเป็นประธานประจำหน่วยหนึ่งคน และกรรมการอีกแปดคน โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างน้อยอีกหนึ่งคน จึงจะสามารถจัดเป็นหน่วยเลือกตั้งได้อย่างสมบูรณ์ ยกเว้นหากหน่วยเลือกตั้งใดมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเกิน 800 คน ให้เพิ่ม กปน. อีกหนึ่งคน ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมาทุก 100 คน

สำหรับที่มาของ กปน. คู่มือปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ระบุว่า “ประธาน กปน.” สามารถถูกแต่งตั้งโดย กกต.ประจำเขตจากผู้ผ่านการพิจารณาจากการอบรมหลักสูตรที่ สนง.กกต. กำหนด ขณะที่เฟซบุ๊กของ กกต. ระบุเอาไว้ในวันที่ 21 เมษายน 2566 ว่า ประธาน กปน. จะต้องเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นบุคคลที่ผ่านการอบรมโดย กกต. เท่านั้น ขณะที่กรรมการอีกแปดคนต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยปกติแล้ว กกต.ประจำเขตมักจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ แต่หากไม่เพียงพอให้คัดเลือกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือกำลังทหารในพื้นที่ก็ได้

กปน. มีหน้าที่อะไร?

การเลือกตั้งครั้งนี้มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 94,913 หน่วย ดังนั้นจำนวนขั้นต่ำของ กปน. ขณะนี้จึงมีอยู่ที่ประมาณ 854,217 คน โดยภารกิจหลักของ กปน. คือ การจัดการออกคะแนนเสียงในพื้นที่เลือกตั้ง การนับคะแนน การรายงานผลคะแนน การดำเนินการกล่าวโทษในกรณีที่พบเห็นการกระทำผิดในหน่วยเลือกตั้ง และช่วยอำนวยความสะดวกในการมาใช้สิทธิของประชาชน ภารกิจทั้งหมดนี้จำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมของ กกต. ทั้งสิ้น

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า กปน. ต้องผ่านการอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจหน้าที่ของตัวก่อนการเลือกตั้ง โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจะต้องให้มีการฝึกอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามวัน

โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมวิทยากรจังหวัดจำนวน 1,115 คน และวิทยากรประจำเขตเลือกตั้งอีก 7,203 คน เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้แก่ กปน. ทั่วประเทศอีกหลายแสนคนต่อไป

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ระบุค่าตอบแทนของ กปน. ไว้ว่า กปน. จะได้รับค่าตอบแทนวันอบรม 300 บาทต่อวัน วันรับหีบบัตรและวัสดุอุปกรณ์ 250 บาทต่อวัน และวันเลือกตั้งหรือวันออกเสียงลงคะแนนอีก 500 บาทต่อวัน โดยมีค่ายานพาหนะเพิ่มให้อีกคนละ 200 บาท เฉพาะวันที่ลงคะแนนเสียงเท่านั้น

ปัญหาของ กกต. ที่กระทบถึง กปน.

ต้องกล่าวว่า กปน. ส่วนใหญ่เป็นเพียงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำของ กกต. ดังนั้นความผิดพลาดจากการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาจไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการโดยตรง แต่ผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบสำคัญคือ กกต.ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งโดยเฉพาะการอบรมซักซ้อมการเลือกตั้งจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จนทำให้เสียงของประชาชนที่ลงคะแนนไปอาจไร้ความหมาย

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดมากกว่านี้ในวันเลือกตั้งที่ 14 พ.ค. 2566 ประชาชนทุกคนควรร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กปน. และ กกต. ในแต่ละคูหา ทั้งเฝ้าระวังการไม่ติดเอกสารที่ควรจะติด การแจกบัตรเลือกตั้งไม่ถูกต้อง  ป้องกันการขานและนับคะแนนผิด หรือการรวมคะแนนผิดพลาด ไอลอว์จึงอยากชวนประชาชนทุกคนสมัครร่วมเป็นอาสาจับตาการเลือกตั้งกับ @Vote62 เพื่อปกป้องทุกสิทธิและเสียงของคนไทยทุกคน

สมัครเป็นอาสาได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่ vote62.com