เลือกตั้ง66: ความพังของการเลือกตั้งล่วงหน้าส่งผลกระทบอะไรบ้าง

หลังผ่านวันเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ขณะนี้สังคมกำลังแสดงความไม่พอใจการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างมาก อย่างไรก็ตาม บัตรคะแนนของวันเลือกตั้งล่วงหน้าจะถูกนำไปนับในคูหาวันจริง ความผิดพลาดของวันที่ 7 พฤษภาคม จึงส่งผลถึงวันที่ 14 พฤษภาคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ผลลัพธ์ลูกโซ่จากการทำงานไม่ได้มาตรฐาน ไปจนถึงข้อครหาว่ามีการส่อทุจริตผลการเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่อะไรได้บ้าง เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเตรียมรับมือ เนื่องจากจะส่งผลต่อประเทศไทยหลังการเลือกตั้งและยาวนานไปอีกสี่ปี 

จากการวิเคราะห์ของไอลอว์ พบว่าจะมีผลหกข้อดังต่อไปนี้

 

คนพลาดวันเลือกตั้งล่วงหน้าใช้สิทธิไม่ได้แล้ว

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของ @Vote62 และเครือข่ายผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม พบว่ามีหลายสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากอากาศร้อนและสถานที่อยู่กลางแจ้ง ยังมีปัญหาเรื่องที่จอดรถและการจราจรติดขัดไม่มีการจัดการ ซึ่งทำให้ประชาชนหลายคนตัดสินใจไม่ใช้สิทธิแล้วและกลับบ้านไปก่อน โดยคนเหล่านี้ก็จะเสียสิทธิเลือกตั้งไปในทันทีเพราะไม่สามารถไปหย่อนบัตรในวันเลือกตั้งทั่วไปได้แล้ว

อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ มีประชาชนจำนวนมากที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว แต่กลับไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าหน่วย แม้ว่าจะมีการเช็คสิทธิบนเว็บไซต์ของกรมการปกครองไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม

กรณีนี้จะทำให้ประชาชนเหลือตัวเลือกในวันที่ 14 พฤษภาคม เพียงสองตัวเลือก คือ เดินทางกลับไปเลือกตั้งยังภูมิลำเนาเดิม หรือ สละสิทธิการเลือกตั้ง แล้วค่อยไปแจ้งกับนายทะเบียนภายหลังเพื่อป้องกันการถูกตัดสิทธิทางการเมืองสองปี

ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า หากไม่เป็นเพราะความสะดวกสบายเพราะใกล้ที่อยู่ปัจจุบัน ก็เป็นเพราะไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่ไกล ติดภาระงาน หรืออุปสรรคอื่นๆ การไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้จึงบีบให้เหลือเพียงผู้ที่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้นที่ได้ไปลงคะแนน ขณะที่เสียงของประชาชนผู้ไม่สามารถกลับไปใช้สิทธิจะไม่ถูกนับเนื่องจากความผิดพลาดในการทำงานของราชการ

การขาดเสียงของผู้ที่ไม่สามารถเดินกลับไปเลือกตั้งที่ภูมิลำเนา อาจจะส่งผลต่อผลคะแนนและการแพ้ชนะทางการเมืองในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน

 

เกิด ‘บัตรเขย่ง’ ซองที่จ่าหน้าผิดทำให้บางเขตมีบัตรเลือกตั้งมากกว่าผู้มาใช้สิทธิ

ในวันที่ 7 พฤษภาคม มีปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ การจ่าหน้าซองของบัตรเลือกตั้งผิด ซึ่งไม่ใช่การผิดรายครั้งหรือผิดเฉพาะบางคูหา แต่เกิดความผิดพลาดเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ความเสียหายที่เป็นข่าวอย่างน้อยหลายร้อยบัตรลงคะแนน ขณะที่ความเสียหายที่ยังไม่ตกเป็นข่าวนั้นไม่สามารถประมาณได้

จากการรับฟังปัญหาที่อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งและประชาชนทั่วไปแจ้งเข้ามายัง Vote62 พบว่า ช่องที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ต้องกรอกรหัสเขตเลือกตั้ง มักมีข้อผิดพลาดจากการกรอกผิดเลข จากที่ต้องกรอกรหัสเขตกลายเป็นการกรอกรหัสไปรษณีย์แทน

ตัวอย่างสำคัญ คือ กรณีเขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่กรอกรหัสไปรษณีย์ ‘57210’ แทนที่จะเป็นรหัสเขตเลือกตั้ง ‘57002’ ซึ่งหลังอาสาสมัครได้เข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่า ทุกซองจะต้องกรอกรหัสไปรษณีย์เท่านั้น

กรณีเช่นนี้ อาจทำให้ซองบัตรลงคะแนนถูกส่งไปนับคะแนนผิดที่ กล่าวคือบัตรเลือกตั้งอาจไม่ได้ไปถูกนับที่ภูมิลำเนาของแต่ละคน แต่อาจจะถูกส่งไปยังเขตเลือกตั้งที่บังเอิญมีรหัสเขตเลือกตั้งตรงกับรหัสไปรษณีย์พอดี จนทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิของเขตเลือกตั้งนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

หรือเรียกกันว่า เกิด ‘บัตรเขย่ง’ ขึ้น จากการที่จำนวนบัตรในหีบมีมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิในคูหา

แม้หลายกรณีที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขได้ทันจากการท้วงติงของประชาชนและอาสาสมัคร แต่สังคมก็ไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีอีกกี่คูหาที่ความผิดพลาดดังกล่าวถูกดำเนินการสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

คะแนนจำนวนหนึ่งถูกนับไม่ตรงกับเจตจำนงของคนเลือก

อีกหนึ่งกรณีความผิดพลาดที่สุดของการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 คือ การที่ กปน. เขียนกำกับเขตเลือกตั้งหน้าซองผิดพลาด ทำให้จากที่ต้องลงคะแนนในพื้นที่หนึ่งของจังหวัดหนึ่ง กลับจะกลายเป็นการลงคะแนนให้อีกพื้นที่หนึ่งในจังหวัดอื่นแทน 

จากการรวบรวมข้อมูลของอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งพบว่า มีการจ่าหน้าซองผิดเขตเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าเขตดินแดง เขตบางเขน และเขตในจังหวัดชลบุรี ซึ่งพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ซอง โดยยังไม่รวมกรณีที่ยังไม่ได้รับแจ้งซึ่งอาจมีอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้เมื่อบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตเลือกตั้ง เป็นลักษณะบัตรโหล คือ มีเพียงเบอร์ของผู้สมัครและช่องให้กาเท่านั้น หากบัตรใบนี้ถูกนำไปนับที่เขตอื่นจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่า คะแนนที่กาในบัตรมีเจตจำนงตามที่ประชาชนลงคะแนนไปหรือไม่

ตัวอย่างความผิดพลาด เช่น หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่ศาลากลางเขตชลบุรี มีผู้ร้องเรียนว่า เต๊นท์หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าจังหวัดบุรีรัมย์เขียนจ่าหน้าซองทุกซองเป็นเขต 1 แม้ผู้ร้องเรียนจะต้องใช้สิทธิในเขต 7 การทำเช่นนี้จะทำให้หากกาเบอร์ 10 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นคะแนนให้พรรครวมแผ่นดิน หากกาเบอร์ 4 ให้ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยจะกลายเป็นคะแนนให้แก่พรรคไทยสร้างไทย และหากกาเบอร์ 2 ให้ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ก็จะกลายเป็นคะแนนให้แก่พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น

เหตุการณ์นี้เมื่อไม่ถูกแก้ไขปัญหาให้จบลงตั้งแต่ก่อนการนำบัตรเลือกตั้งไปส่งให้ไปรษณีย์จะก่อให้เกิดความผิดพลาดของการนับคะแนนขนาดใหญ่

 

บัตรหาย ไปไม่ถึงเขต ซองที่จ่าหน้าผิดไม่รู้จะไปไหนไม่ถูกนับ

ในการเลือกตั้งปกติแล้ว จำนวนบัตรเสียจะเกิดขึ้นจากปัญหาในการกากบาทหรือการฉีกขาดของบัตรลงคะแนน ทว่าในการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 พบว่า ต้นเหตุสำคัญเกิดจากกระบวนการเชิงจัดการในคูหาด้วย

ประการแรก บัตรลงคะแนนที่ถูกใส่ซองแต่จ่าหน้าผิด คือ ผิดทั้งรหัสเขตและหมายเลขอื่นๆ บนหน้าซอง สิ่งนี้จะทำให้บัตรลงคะแนนไม่ถูกส่งไปถึงมือกรรมการนับคะแนน เพราะพนักงานไปรษณีย์ไม่สามารถนำส่งได้

ประการที่สอง หากการกรอกหน้าซองบัตรลงคะแนนผิดพลาดจนไม่มีการกรอกเลขอะไรเลย เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าพนักงานของไปรษณีย์จะเป็นผู้กรอกให้ จนเกิดการเว้นว่างเอาไว้ก็อาจทำให้พนักงานไปรษณีย์ไม่สามารถนำส่งได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

ประการที่สาม พบว่าเจ้าหน้าที่ฉีกบัตรลงคะแนนออกจากสมุดเล่มผิดพลาดจนบัตรฉีกขาด ซึ่งกรณีนี้มีประชาชนโต้แย้งให้นำบัตรลงคะแนนใหม่มาให้ใช้ เนื่องจากอาจจะนับเป็นบัตรเสียในวันที่ 14 พฤษภาคมได้ จนเจ้าหน้าที่ยินยอมให้บัตรลงคะแนนใบใหม่ ทว่าอาจเกิดปัญหาลักษณะนี้ในที่อื่นที่ไม่มีอาสาสมัครไปรายงาน

 

เกิดข้อกังวล วันที่ 14 อาจผิดพลาดได้อีก

การเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า กปน. บางส่วนไม่ได้ถูกอบรมมาอย่างถูกต้องโดย กกต. จนทำให้เกิดความผิดพลาดรายหน่วยเลือกตั้งจำนวนมาก

ในวันที่ 7 พฤษภาคม พบว่า เกิดการติดเทปผิดพลาด ลงชื่อผิดที่ ฉีกขั้วบัตรขาด ไปจนถึงการลืมติดเอกสารบนบอร์ดหน้าคูหา และปัญหาการจ่าหน้าซอง สิ่งเหล่านี้ชี้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนในแทบทุกระดับยังไม่พร้อมในการจัดการเลือกตั้ง 2566 

ปัญหาที่จะสืบเนื่องมาถึงวันที่ 14 พฤษภาคม คือ เวลาทบทวนบทเรียนและอบรมใหม่ระหว่าง กกต. และ กปน. แทบจะไม่มีเหลือ เนื่องจากมีเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นในการเน้นย้ำข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ กปน. ทั้งประเทศ จุดที่จะสร้างความเสียหายมากที่สุดหากเกิดความผิดพลาด คือ ช่วงเวลานับคะแนนของวันที่ 14 พฤษภาคม หลังเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากการทำงานทั้งวันในสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจจะทำให้มีการขานบัตรดี/บัตรเสีย ขานตัวเลข ขีดนับคะแนน ไปจนถึงรวมผลคะแนนผิดพลาดได้

หากเกิดความผิดพลาดขึ้นในช่วงเวลานับคะแนน จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลคะแนนและการแพ้ชนะในระดับเขตและการจัดตั้งรัฐบาลในระดับชาติ ประชาชนและอาสาสมัครจึงควรออกไปช่วย กปน. ทำงานด้วยการจับตาการนับคะแนนเพื่อรับประกันว่าทุกคะแนนจะถูกนับอย่างโปร่งใส

 

ผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงประชาชน ถ้าส่งบัตรผิดจำนวนมาก

ความผิดพลาดครั้งนี้จะนำไปสู่ปัญหาหลังเลือกตั้ง เนื่องจากการชนะเลือกตั้งปี 2566 จะต้องนำคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามารวมกับคะแนนเลือกตั้งในที่ 14 พฤษภาคม หากผลคะแนนที่มาจากการเลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหาด้านความถูกต้องในจำนวนมาก คะแนนรวมทั้งหมดก็จะมีปัญหาไม่สะท้อนเสียงของประชาชนเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ แม้ความผิดพลาดจากปัญหาในวันที่ 7 พฤษภาคม จะเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ประชาชนก็ยังสามารถป้องกันความผิดพลาดของปัญหาในวันที่ 14 พฤษภาคม ได้ด้วยการร่วมเป็นอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งกับ @Vote62 เพื่อเฝ้าหน้าคูหาขณะนับคะแนน ตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ขานคะแนนถูกต้องหรือไม่ มีความชัดเจนแค่ไหน รวมคะแนนออกมาถูกต้องไหม จากนั้นถ่ายรูปกระดานรวมคะแนนทั้งหมดกลับมาให้ @Vote62

ในการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด อย่างน้อยการร่วมเป็นอาสาสมัครในวันที่ 14 พฤษภาคม ก็เป็นโอกาสของทุกคนในการเก็บหลักฐานสำคัญหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น อีกทั้งภาพผลคะแนนจากมือของประชาชนในแต่ละคูหาจะถูกนำกลับมาตรวจสอบผลคะแนนรวมของ กกต. อีกครั้งหลังจบการเลือกตั้ง

นี่จึงอาจเป็นโอกาสเดียวในการปกป้องสิทธิของเรา และการหาหลักฐานเอาผิดผู้ที่ควรรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมด เพราะหากไม่มีอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งกับ Vote62 ที่มากพอ ปัญหาในการเลือกตั้ง 2566 อาจจะทำให้ผู้ต้องรับผิดชอบต่อเสียงที่เสียไปของเรามีโอกาสลอยนวลและรัฐบาลที่ได้ไม่ได้สะท้อนเสียงของเรา

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย