เลือกตั้ง66: เตือนภัย ระวัง ‘ชื่อผี’ โผล่ในทะเบียนบ้าน รีบแจ้งถอนออกก่อน 3 พ.ค. 66

การเป็นผู้มีสิทธิ #เลือกตั้ง66 เกี่ยวข้องกับการมีชื่อในทะเบียนบ้านเป็นอย่างมาก เพื่อรู้ว่าตัวเองต้องไปเลือกตั้งที่คูหาใด เลือกพรรคใด และจะเลือกใครมาเป็น ส.ส. เขตของตนเอง ทว่าข้อควรระวังที่กลับมาแทบในทุกการเลือกตั้ง คือ การมี ‘ชื่อผี’ โผล่อยู่ในทะเบียนบ้านของประชาชน

‘ชื่อผี’ หมายถึง ชื่อของบุคคลอื่น หรือชื่อของผู้ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ดันไปปรากฎอยู่ในรายชื่อทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน ซึ่งถือเป็นความผิดปกติ และอาจจะเปิดช่องโหว่ให้มีการโกงผลคะแนนในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ณ วันที่ 20 เมษายน 2566 อธิบายถึงขั้นตอนการจัดการกับบรรดาชื่อผีเอาไว้ดังนี้

ในกรณีที่ประชาชนตรวจพบว่า:

1) ไม่มีชื่อตนเอง ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

2) ไม่มีชื่อของผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตน ในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

3) พบรายชื่อของบุคคลอื่น ปรากฎอยู่ในทะเบียนบ้านของตน

4) พบรายชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ปรากฎอยู่ในทะเบียนบ้านของตน

5) พบรายชื่อของผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ปรากฎในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้ง

ให้รีบยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยแนบหลักฐานดังต่อไปนี้:

1) สำเนาทะเบียนบ้าน

2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ

3) บัตรประจำตัวอื่นใดที่ราชการออกให้

การแจ้งเพิ่ม-ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกจากรายชื่อหรือทะเบียนบ้าน “สามารถทำได้ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น”

อ้างอิงตามข่าวประชาสัมพันธ์ของ กกต. ระบุว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อดังกล่าวได้จาก:

1) บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง

2) บริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง (เฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในเขตอำเภอ หรือในเขตการปกครองท้องถิ่น)

3) หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน

4) แอปพลิเคชัน Smart Vote

5) เว็บไซต์ สำนักบริการทะเบียน กรมการปกครอง (https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/)

ทั้งนี้ การมีชื่อผีไปเลือกตั้งตามคูหาต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เป็นปัญหาต่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตย และจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อสถานการณ์การเมืองไทยต่อไป

เพราะเชื่อว่าเราทุกคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไอลอว์จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้ เข้ามามีส่วนร่วมลงชื่อเป็นอาสาสมัครจับตาและรายงานผลคะแนนเลือกตั้งได้ที่ Vote62.com 

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย