เลือกตั้ง 66: ข้อควรระวังก่อนไปเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะเริ่มขึ้นแล้วในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานมีคนไทยในต่างประเทศลงทะเบียน 115,139 คน ทั้งนี้ ประชาชนผู้ใช้สิทธิก็มีเรื่องต้องระวังคือต้องตรวจสอบวันเวลาและช่องทางการใช้สิทธิให้ดี และสำหรับผู้ใช้ช่องทางไปรษณีย์ก็ต้องส่งบัตรเลือกตั้ง

ก่อนอื่นตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของตนเองได้ที่นี่

วันและช่องทางการใช้สิทธิไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานทูตหรือกงสุล

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต่างกับการเลือกตั้งล่วงหน้าที่กำหนดเป็นวันเดียวกันคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แต่วันเวลารวมถึงช่องทางการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะแตกต่างกันไปตามแต่พื้นที่ โดยขึ้นอยู่กับสถานทูตหรือสถานกงสุลที่รับผิดชอบ ทำให้ผู้ใช้สิทธิจะต้องตรวจสอบให้ดีว่าพื้นที่ของตนเองมีวันเวลาและช่องทางเลือกอย่างไรบ้าง

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะแบ่งได้เป็นสองช่องทางหลัก ซึ่งประชาชนที่จะใช้สิทธิก็ได้เลือกช่องทางไปแล้วตั้งแต่การลงทะเบียนขอเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ช่องทางแรกคือการเดินทางใช้สิทธิเลือกตั้งตามสถานที่ที่กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็มักจะกำหนดให้เป็นที่สถานทูตหรือกงสุล แต่ในบางประเทศที่มีคนไทยอยู่กระจัดกระจายมาก บางสถานทูตก็จะมีการจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้วย เช่นในประเทศเกาหลีใต้ นอกจากจะสามารถไปเลือกตั้งที่สถานทูตกรุงโซลได้แล้ว ยังมีการจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ที่อึยยองบูและฮวาซองอีกด้วย

อีกช่องทางหนึ่งคือทางไปรษณีย์ โดยผู้ใช้สิทธิจะได้รับบัตรเลือกตั้งจากสถานทูตหรือกงสุลที่รับผิดชอบ หลังจากนั้นก็ต้องส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปให้ถึงภายในวันที่กำหนด ทั้งนี้ บางสถานทูตก็จะมีให้เลือกทั้งสองช่องทาง ในขณะที่บางสถานทูตก็มีให้เลือกช่องทางเดียวเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกา มีเพียงสถานทูตกรุงวอชิงตันเท่านั้นที่มีทั้งช่องทางที่สถานทูต ส่วนกงสุลอีกสามแห่งที่เหลือในสหรัฐมีช่องทางไปรษณีย์ช่องทางเดียว

ส่วนวันเวลาและช่องทางการใช้สิทธิก็แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน บางสถานทูตหรือกงสุลก็เปิดให้ไปลงคะแนนเสียงได้หลายวัน ในขณะที่อีกบางแห่งก็ให้เพียงวันเดียวเท่านั้น

ดังนั้น ประชาชนที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจึงต้องตรวจสอบเองว่าสถานทูตหรือกงสุลในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองกำหนดช่องทางและวันเวลาการใช้สิทธิไว้อย่างไร ในเบื้องต้น สำหรับประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมาก สามารถตรวจสอบได้ที่นี่ 

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อสถานทูตหรือกงสุลได้โดยตรง เช่น อีเมล โทรศัพท์ หรือเพจเฟซบุ๊ก

เดดไลน์ช่องทางไปรษณีย์คือวันที่บัตรเลือกตั้งต้องถึงสถานทูตหรือกงสุล

สำหรับผู้ที่เลือกใช้สิทธิผ่านช่องทางไปรษณีย์ ทางสถานทูตหรือกงสุลที่รับผิดชอบจะจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ โดยหลังจากที่ทำเครื่องหมายแล้ว ประชาชนจะต้องจัดส่งกลับไปให้สถานทูตหรือกงสุลเพื่อให้ดำเนินการจัดส่งกลับประเทศได้ โดยมีข้อควรระวังคือบัตรเลือกตั้งจะต้องถึงสถานทูตภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น หากกำหนดเวลาคือภายในวันที่ 1 พฤษภาคม หมายความว่าไปรษณีย์ในประเทศของตนจะต้องจัดส่งให้ถึงสถานทูตภายในวันที่ 1 พฤษภาคม ไม่ใช่นำไปส่งให้ไปรษณีย์ในวันดังกล่าวเพราะจะทำให้จัดส่งไม่ทัน

ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่จะต้องศึกษาระบบการขนส่งไปรษณีย์ในพื้นที่ของตนเองว่าใช้เวลาเท่าใดในการจัดส่ง เพื่อให้บัตรเลือกตั้งสามารถถึงสถานทูตหรือกงสุลได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะหากการจัดส่งล่าช้า บัตรเลือกตั้งก็จะไม่ถูกนับและถือว่าเสียสิทธิได้