ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง! ปมกกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ชี้ชอบด้วยกฎหมาย

7 เมษายน 2566 มติชน รายงานว่า ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยยกฟ้องคดี ที่มีผู้ร้องให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร สกลนคร และสุโขทัย โดยศาลให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หนึ่งคน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสกลนคร  และจังหวัดสุโขทัย ตาม ประกาศ กกต. เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งลงวันที่ 16 มี.ค.2566 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สกลนคร และสุโขทัย  มีจำนวนไม่มากหรือไม่น้อย กว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส.หนึ่ง คน การที่ กกต.ออกประกาศ แบ่งเขตเลือกตั้ง ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง สกลนคร เจ็ดเขตเลือกตั้ง  และสุโขทัย สี่เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) ที่กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน จึงพิพากษายกฟ้อง
ผู้ร้องในคดีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ได้แก่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า, พัฒนา สัพโส ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดสกลนคร, วิรัตน์ วิริยะพงษ์ และพัฒ ตั้งเบญจผล ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดสุโขทัย โดยจุดเริ่มต้นของคดี มติชน รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่กกต. ออกประกาศดังกล่าว อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้พิจารณาวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 27 (1) กำหนดหลักการแบ่งเขต ใจความสำคัญคือ ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง
แต่จากการแบ่งเขตกรุงเทพมหานครที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวง ไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร , เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ และยังมีเขตเลือกตั้งอื่นๆ ที่เป็นการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่เขตเลือกตั้งที่ 8,9,12,13,17,18,19,21,26,27,28,29, และ 30 ซึ่งเป็นการรวมแขวงต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเลือกตั้ง
อรรถวิชช์ ระบุว่า การรวมแขวงข้ามเขตแบบนี้ เป็นการกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร 33 เขตในการเลือกตั้ง 2566 นี้ เหมือนการแบ่งเขตดั้งเดิมเพียงสี่เขตเลือกตั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้องคดีดังกล่าว การแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 จะเดินหน้าสู่การแบ่งเขตแบบเดิมตามที่กกต. เคาะไว้ โดยวันที่ 9 เมษายน 2566 นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่เปิดระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป