เลือกตั้ง 66: ทำไมพรรคการเมืองจึงควรส่งแคนดิเดตนายกฯ ลงสมัคร ส.ส.

การเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในทางการเมืองที่จะพาประเทศไทยหลุดพ้นจากอำนาจรัฐประหาร คสช. และพาการเมืองไทยกลับสู่ครรลองประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเดิมพันสำคัญ ซึ่งในแง่ที่มาของตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงเป็นข้อถกเถียงถึง “ความชอบธรรม” ของการไม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ให้ชัดเจน

ปัญหาแคนดิเดตนายกฯ ของรัฐธรรมนูญ 2560

ประเทศไทยปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งประชาชนไม่ได้มีสิทธิเลือกนายกฯ โดยตรง แต่เลือกผ่าน ส.ส. ดังนั้นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจึงไม่ได้แยกจากกันโดยเด็ดขาด นายกฯ และรัฐสภาต่างมีความรับผิดชอบต่อกันและกันเพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ก่อนหน้านี้ความเป็นนายกรัฐมนตรี จึงผูกพันกับความเป็นสมาชิกรัฐสภาอย่างแยกกันไม่ออก

การให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ สามรายชื่อเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งเป็นนวัตกรรมการเมืองชิ้นใหม่ที่เกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ในแง่ที่มาของกลไกนี้ กล่าวได้ว่า บัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เป็นมรดกรัฐประหารปี 2557 ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้สร้างช่องทางให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นี้สืบทอดอำนาจผ่านการสนับสนุนของพรรคทหารอย่างพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง

หลังการเลือกตั้งในปี 2562 พลเอกประยุทธ์ยังคงเป็นนายกฯ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และไม่เคยออกหาเสียงเสนอตัวต่อประชาชนด้วยตัวเอง ซึ่งการอยู่ในรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ถูกอ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้งแทนที่จะลงสมัคร ส.ส. และเข้าสู่สนามการเลือกตั้งโดยตรง

แคนดิเดตนายกฯ ไม่เท่ากับนายกฯ คนนอก

ในแง่เนื้อหา การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ก่อนเลือกตั้ง ยังเป็นข้อถกเถียงถึงความชอบธรรม เพราะในแง่หนึ่งก็อมองได้ว่า กลไกนี้อาจเป็นเครื่องมือช่วยเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบใช้พรรคการเมืองเป็นเพียงทางผ่านในการเข้าสู่อำนาจ ดังเช่นพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 ที่แม้พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่นโยบายที่พรรคหาเสียงไว้กับไร้ความหมาย เมื่อนายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องและมีความรับผิดชอบกับพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ใช้พรรคการเมืองเพียงเพื่ออ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้ง

ในอีกแง่หนึ่งก็มองได้ว่า การให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ก่อนเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นประกาศให้ประชาชนได้รับรู้อย่างเป็นทางการแล้วว่า ใครจะมีโอกาสได้เป็นนายกฯ และถ้าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคนั้นเป็นสมาชิกพรรค ออกหาเสียงนำเสนอตัวเองต่อประชาชนก็มีความชอบธรรม แม้จะไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. ก็ตาม ดังเช่นกรณีของพรรคเพื่อไทยที่แคนดิเดตนายกฯ ของทั้ง แพทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน เปิดหน้าในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยและเสนอตัวต่อประชาชนอย่างชัดเจน

ดังนั้น แม้ในแง่ความเหมาะสมของการมีบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ แยกต่างหากจากผู้สมัครส.ส. ในระบบรัฐสภาก็ยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่การกล่าวว่าผู้ที่อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ และไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. เป็นนายกฯ คนนอก อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะการเสนอตัวต่อประชาชนของแคนดิเดตล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งก็อาจกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรมโดยได้รับการลงคะแนนให้จากประชาชนในระดับหนึ่ง

ย้อนธรรมเนียม ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ว่าที่นายกฯ ในสนามเลือกตั้ง

หลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภา’35 จากการประท้วงขับไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง การเมืองไทยได้สถาปนาหลักการสำคัญ คือ “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” หรือกล่าวให้ถูกต้องคือ “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.” จนนำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้นนอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2540 ยังออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ ใช้บัตรสองใบ โดยให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อที่สะท้อนคะแนนนิยมระดับประเทศของพรรคการเมืองนั้นๆ และต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากการรัฐประหารก็เดินรอยตามหลักการนี้

ผลลัพธ์ในการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 – 2550 ประเทศไทยได้นายกฯ ที่เป็น ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อทุกครั้ง การเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ได้ทักษิณ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 จากพรรคไทยรักไทย, การเลือกตั้งปี 2550 ได้สมัคร สุนทรเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 (ของกลุ่มจังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ) จากพรรคพลังประชาชน และการเลือกตั้งปี 2554 ได้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 จากพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคการเมืองทุกพรรคต่างก็ให้หัวหน้าพรรคลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เพื่อเตรียมเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน

จนอาจกล่าวได้ว่า เกิดเป็นธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไทยที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคการเมือง คือว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้นๆ นั่นเอง

รัฐประหาร 2557 ทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตยไทย

การหลังรัฐประหาร 2557 ได้ทำลายหลักการและวัฒนธรรมประชาธิปไตยจนป่นปี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส., ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวที่อาจทำให้พรรคใหญ่ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการชิงจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคลำดับที่สอง โดยใช้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเป็นฐานในการต่อรอง

แม้การเลือกตั้งในปี 2566 จะยังคงอยู่ในกติกาที่ยังไม่ปกติ เช่น การมี ส.ว.ในการเลือกนายกฯ หรือนายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ ก็สามารถแก้ไขปัญหานายกฯ ที่อาจไม่ได้เป็น ส.ส. ของพรรคใหญ่ ดังเช่น ที่พรรคเพื่อไทยเคยประสบในการเลือกตั้ง 2562 ได้

ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นนายกรัฐมนตรีจึงควรลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย แม้ว่า การที่พรรคการเมืองตัดสินใจไม่ส่งแคนดิเดตนายกฯ ลงสมัคร ส.ส. จะไม่ส่งผลกระทบทางการเมืองที่เสียหายร้ายแรง แต่ก็เป็นการละเลยประวัติศาสตร์และธรรมเนียมประชาธิปไตยทั้งไทยและสากล

ฟื้นวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.”

แม้รัฐประหาร 2557 จะทำลายหลักการนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. แต่หลังการเลือกตั้ง 2562 มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยถึงสองครั้ง แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากไม่ผ่านด่านเห็นชอบจาก ส.ว. แต่งตั้ง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเลือกตั้งปี 2566 กติกาที่กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. จะไม่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นหลักการประชาธิปไตยที่แต่ละพรรคการเมืองไม่ได้คัดค้านความชอบธรรมของหลักการนี้

ดังนั้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นฟื้นฟูวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย พรรคการเมืองทุกพรรคจึงควรนำแคนดิเดตนายกฯ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพื่อลดข้อถกเถียงและเพิ่มความชอบธรรมในการเสนอชื่อบุคคลให้เป็นนายกฯ จากพรรคนั้นๆ และรักษาธรรมเนียมประชาธิปไตยที่ปฏิบัติมาตลอดหลังรัฐธรรมนูญ 2540

ภาพสุดท้ายที่เราอยากเห็นในวันที่ ส.ส. จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี คือ นายกฯ นั่งอยู่บนเก้าอี้ ส.ส. ตัวหนึ่ง ท่ามกลางการห้อมล้อมร่วมแสดงความยินดีและสนับสนุนของเพื่อน ส.ส. คนอื่นๆ อีกกว่าครึ่งสภาที่ต่างก็เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ มาจากการเลือกตั้งอันสง่างาม