เลือกตั้ง 66: สำรวจสนามเลือกตั้ง ส.ส. เก่าย้ายพรรคไปไหนบ้าง?

การยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 เกิดขึ้นก่อนหน้าการครบอายุสภาชุดที่ 25 เพียงสามวันเท่านั้น โดยเป็นการยุบสภาเชิงเทคนิคที่เปิดทางในเรื่องการย้ายพรรคของส.ส. ประกอบกับข้อกำหนดการจัดการเลือกตั้งด้วย การยุบสภาต้องจัดการเลือกตั้งหลังจากนั้น 45-60 วัน ส.ส.ต้องสังกัดพรรคก่อนถึงวันเลือกตั้ง 30 วัน หรือย้ายพรรคได้จนถึงวันที่ 14 เมษายน 2566 แต่หากปล่อยให้ครบอายุสภาต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ส.ส.จะต้องสังกัดพรรค 90 วัน ซึ่งจะต้องย้ายวันสุดท้ายคือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566  ดังนั้นหากรัฐบาลอยู่จนครบอายุจะไม่มีทางที่ส.ส.จะย้ายพรรคได้ จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2566 มีส.ส.ที่เคยดำรงตำแหน่งในสภาชุดนี้ย้ายพรรคแล้วไม่น้อยกว่า 142 คนและอีกอย่างน้อยห้าคนไม่ย้ายพรรคแต่ส่งตัวแทนในครอบครัวไปลงเลือกตั้งในนามพรรคอื่นแล้ว

ภูมิใจไทยแซงหน้าพรรคประยุทธ์ครองแชมป์พลังดูด

ภาพรวมการย้ายพรรคเป็นการเสริมกำลัง ส.ส.ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะพรรครัฐบาลย้ายเข้าออกกันเองและพรรคฝ่ายค้านย้ายเข้าพรรครัฐบาลคิดเป็น 123 จาก 142 คน การย้ายพรรคแบ่งได้สามประเภทหลัก คือ ประเภทแรก ส.ส. ลาออกจากพรรคเดิมมาสังกัดพรรคใหม่ 103 คน ประเภทที่สอง คือ ส.ส.ถูกขับออกจากพรรค 27 คน ในจำนวนนี้ 13 คนถูกขับสองรอบ คือ กลุ่ม  ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 12 คน รอบแรกถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐไปเข้าพรรคเศรษฐกิจไทย จากนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไม่เอื้อพรรคเล็กแบบเดิมแล้วจึงใช้กระบวนการขับออกจากพรรคเศรษฐกิจไทยเพื่อให้กลับไปพลังประชารัฐอีกครั้ง และประเภทสุดท้าย คือ การย้ายพรรคจากเหตุพรรคถูกยุบต้องเปลี่ยนสังกัดพรรคใหม่อีก 12 คน (ไม่นับรวม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ย้ายเข้าพรรคก้าวไกล)

พรรคภูมิใจไทยครองแชมป์พลังดูด ส.ส.จากพรรคอื่นได้ 52 คน คว้าตัวจากพรรคพลังประชารัฐมากที่สุดคือ 23 คน รองลงมาเป็นพรรอนาคตใหม่-ก้าวไกล 15 คน และเพื่อไทยเก้าคน  ภูมิใจไทยสามารถดึงตระกูลการเมืองที่มีฐานเสียงแน่นหนาอย่างตระกูลโพธิพิพิธในจังหวัดกาญจนบุรี และตระกูลไตรสรณกุลในจังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงตระกูลวันไชยธนวงศ์ในจังหวัดเชียงราย พรรคอันดับสองที่ดึง ส.ส.เข้าพรรคได้มากที่สุด คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ 48 คน  ดึงส.ส.จากพรรคนั่งร้านเดิมอย่างพลังประชารัฐมาได้ 23 คน และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 10 คน นักการเมืองคนสำคัญ เช่น สุพลและชุมพล จุลใส เจ้าของพื้นที่จังหวัดชุมพร การเลือกตั้งที่ผ่านมา สุพล เป็น ส.ส.เขตเพียงคนเดียวของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ขณะที่ชุมพลชนะการเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.จากคดีชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 และยังมีบ้านใหญ่กาญจนะ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ส่วนพรรคฝ่ายค้านเป็นการขยับเข้าพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนมาก โดยมี ส.ส.ย้ายเข้า 13 คน ในจำนวนนี้ เก้าคนเป็น ส.ส.จากพรรครัฐบาล บ้านใหญ่เบอร์ใหญ่อย่างตระกูลหวังศุภกิจโกศล จากพรรคภูมิใจไทย ตระกูลคุณปลื้มจากพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มวังน้ำยมของสมศักดิ์ เทพสุทิน ขณะที่อีกสี่คนเป็น ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้แก่ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อชาติ นิยม วิวรรธนดิฐกุล พรรคเศรษฐกิจไทย และจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ พรรคก้าวไกล แต่เพื่อไทยก็เสีย ส.ส.หลายสมัยให้กับพรรคตั้งใหม่อย่างไทยสร้างไทยไปถึงสี่คน

การย้ายพรรคและการเมืองแบบกล้วยๆ 

ระหว่างปี 2563-2566 เกิดข้อครหาการจ่ายเงินในการซื้อตัว ส.ส. อยู่บ่อยครั้งจนนำมาสู่วาทะ “แจกกล้วย” ในสภา ซึ่งไม่เพียงการซื้อตัว ส.ส.เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงความพยายามในการซื้อเสียง เลี้ยงดูปูเสื่อ ส.ส.พรรคอื่นให้โหวตสวนมติพรรค  หรือในทิศทางที่เป็นคุณกับรัฐบาล

ในเรื่องการซื้อตัว ส.ส. เป็นประเด็นในสองช่วงสำคัญทางการเมือง คือ หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีการติดต่อขอให้รวมทีม ส.ส.อนาคตใหม่เดิมย้ายพรรคอย่างน้อยสองกรณี คือ กรณีของศรีนวล บุญลือ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย “งูเห่าส้ม” จากอนาคตใหม่คนแรกในสภาชุดที่ 25 โทรศัพท์ไปหาประเสริฐพงศ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.อนาคตใหม่ เพื่อชวนย้ายพรรคโดยมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  เช่นเดียวกับเบญจา แสงจันทร์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเดียวกันที่ได้รับสายติดต่อให้รวมทีมย้ายพรรค โดยอ้างว่าจะให้เงินคนละ 23 ล้านบาท ซึ่งในคราวนั้นมีส.ส.พรรคอนาคตใหม่เดิมย้ายพรรคไปภูมิใจไทยเก้าคนและชาติพัฒนาหนึ่งคน

อีกช่วงหนึ่งคือ ปลายสมัยสภาชุดที่ 25 พรรครวมไทยสร้างชาติเริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างและแน่ชัดว่า จะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค แม้จะมีเสียงจากพรรคส.ว.รออยู่แล้ว 250 เสียง แต่ไม่ง่ายเมื่อพรรคนั่งร้านสาขาสอง ต้องได้ ส.ส. 25 คนก่อนจึงจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหา ส.ส.หรือนักการเมืองที่มีฐานเสียงเข้าพรรคให้ได้ นำไปสู่วาทะ “ตกปลาในบ่อเพื่อน”  ของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่สูญเสีย ส.ส.และนักการเมืองคนสำคัญไป เช่น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เจือ ราชสีห์ และศิริวรรณ ปราศจากศัตรู

ด้านชวน หลีกภัยตอบคำถามเรื่องกระแสความนิยมและการย้ายพรรคของ ส.ส.ว่า เหตุผลคือ การกลัวแพ้การเลือกตั้งและการทาบทาบการย้ายพรรค พร้อมทั้งระบุว่า มีนักการเมืองในพรรคได้รับการทาบทามด้วยเงิน 200 ล้านบาท  ซึ่งต่อมาชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติยอมรับว่า ที่ชวนพูดถึงเป็นเขาเอง ท้ายสุดอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ผู้ร่วมเหตุการณ์อีกคนหนึ่งชี้แจงว่า การทาบทาบดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแต่เป็นจากพรรคอื่น ไม่ใช่จากพรรครวมไทยสร้างชาติ

PartyMove-03