เลือกตั้ง 66: รวมข้อมูลการเลือกตั้ง 2566

วันเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้ง 2566 ถูกเคาะแล้วเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ขณะที่วันเลือกตั้งล่วงหน้า คือวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 บรรยากาศการเข้าคูหาไปกาเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะมีอำนาจเลือกผู้นำประเทศกลับมาอีกครั้ง หลังจากประเทศไทยตกอยู่ใต้ “ความผิดปกติ” จากการเมืองไทยที่เคยเป็นมา เริ่มจากระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างโดยคนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบบที่แปลกใหม่ สร้างความสับสนให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องตัดสินใจ “กาบัตรใบเดียว” เลือกทั้งคนทั้งพรรค ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่พรรคได้ที่นั่งในสภาเป็นอันดับสองอย่างพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นแกนนำรวบรวม ส.ส. จากพรรคน้อยใหญ่ถึง 19 พรรค จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งจากคสช. ต่างก็เสียงไม่แตก โหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ และอดีตหัวหน้าคสช.

แม้หลังการเลือกตั้ง 2566 ที่จะมาถึง ส.ว. ชุดพิเศษ จะมีอำนาจเลือกนายกฯ เช่นเดิม แต่ผลพวงจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ที่ผ่านด้านส.ส. และส.ว. มาได้เป็นเรื่องเดียวขณะที่อีก 25 ข้อเสนอถูกปัดตก ก็ส่งผลให้กติกาการเลือกตั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปจากตอนเลือกตั้ง 2562 ที่ผ่านมา ไอลอว์ติดตามรวบรวมข้อมูลทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจกติกาการเลือกตั้ง ข้อมูลทั่วไปสำหรับเตรียมตัวก่อนเข้าคูหา รวมถึงจุดยืนของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพในการเดินเข้าคูหากำหนดอนาคตประเทศ  

เตรียมพร้อมเลือกตั้ง ข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ก่อนเข้าคูหา 

ในการเลือกตั้ง ปี 2566 ใช้ระบบเลือกตั้ง “บัตรสองใบ” บัตรใบแรก เลือกส.ส. แบบแบ่งเขต เลือกคนที่รักให้เป็นตัวแทนเขตของเรา บัตรใบที่สอง เลือกส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เลือกพรรคที่ชอบให้เข้าสภา จำง่ายๆ ว่า “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” นอกจากนี้ จำนวนส.ส. ก็เปลี่ยนแปลงไปจากตอนเลือกตั้ง 2562 โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 เปลี่ยนแปลงจำนวนส.ส. แต่ละประเภท ในการเลือกตั้ง 2566 จะมีส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

ข้อสำคัญที่ต้องระวัง หมายเลขผู้สมัครส.ส. แบบแบ่งเขต “ไม่เหมือนกัน” ต่อให้เป็นส.ส. เขตคนละเขต แม้มาจากพรรคเดียวกัน ก็ถูกกำหนดเบอร์ในบัตรเลือกตั้งคนละเบอร์ และส.ส.เขตแต่ละเขตก็อาจจะได้เบอร์ต่างจากพรรค (ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ) ก็ได้

โดยข้อมูลสำคัญที่ต้องรู้ก่อนเข้าคูหา สามารถตามอ่านต่อได้ ดังนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้า

ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ข้อมูลเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ปี 2566

ข้อมูลเกี่ยวกับแคนดิเดตนายกฯ – โปรไฟล์พรรคการเมือง

ประชาชนทำอะไรได้บ้าง? นอกจากไปเลือกตั้ง

การมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยไม่ได้จบลงเพียงแค่หย่อนบัตรลงในคูหา แต่เราสามารถร่วมกันรักษาความโปร่งใสของกระบวนการนับคะแนนและประชาธิปไตยไทยได้ไม่ยาก เพียงอยู่เฝ้าดูการนับคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งที่สะดวก

นอกจากสังเกตการณ์การนับคะแนนเลือกตั้ง ประชาชนที่พบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ยังสามารถช่วยชี้เบาะแสทุกจริตได้ด้วย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ดังนี้

3 ข้อเสนอ ก้าวแรกพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ยังไม่ใช่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด เนื่องจากระบบการเมืองไทยยังตกอยู่ภายใต้กลไกรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจถูกกระทำผ่านสถาบันการเมืองต่าง ๆ ที่ คสช. และเครือข่ายวางอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ผ่านองค์กรอิสระ วุฒิสภาแต่งตั้ง ทหาร ตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง องค์กรยุติธรรม และพรรคการเมือง โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 ค้ำจุนให้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรเครือข่าย คสช. ก็ยังคงรักษาอำนาจไว้ได้

แม้เวลาสี่ปีที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล บรรยากาศทางการเมืองภายใต้ระบบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยได้บ่มเพาะสำนึกทางการเมืองในหมู่นักศึกษาและประชาชนจนระเบิดออกมาเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่หนทางข้างหน้าก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกลไกของ คสช. ยังอยู่ครบ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง ทั้ง 250 คน ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้ปัจจุบันกติกาทางการเมืองจะยังไม่ปกติ แต่เราก็สามารถสร้างการเมืองที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ โดยเริ่มจากการมีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาและคุณสมบัติตามครรลองประชาธิปไตย เพื่อก้าวแรกในการพาประเทศไทยกลับสู่ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ผ่านสามข้อเสนอ ได้แก่ 1. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. 2. พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดควรได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน และ 3. ส.ว. ต้องเคารพเจตจำนงเสียงข้างมาก 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสามข้อเสนอ ก้าวแรกพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย

กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

นอกจากรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการเลือกตั้ง ที่กำหนดระบบเลือกตั้งแล้ว กติกาที่เกี่ยวกับรายละเอียดการเลือกตั้ง จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย กกต. ที่จัดการเลือกตั้ง 2566 ยังคงเป็นกกต. หน้าเก่าเจ้าเดิม ที่เข้าสู่ตำแหน่งโดยผ่านความเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยคสช. การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อ 20 ธันวาคม 2563 การเลือกตั้งเทศบาล เมื่อ 28 มีนาคม 2564 การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2564 รวม การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา เมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 และการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 อยู่ภายใต้การทำงานของ กกต. ชุดนี้ทั้งสิ้น

โดยกติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในเชิงรายละเอียด มีดังนี้

องค์กร-บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

ในการจัดการเลือกตั้ง องค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุด คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งบริหารจัดการ ควบคุม และตรวจสอบการทุจริต สถาบันตุลาการอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรม ก็มีบทบาทในหลายกรณีที่ต้องชี้ขาดว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่

สารพัดปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 

แก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ได้กติกาเลือกตั้ง 66 จาก “สภาล่ม”

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2565 รัฐสภาร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ต้องอภิปรายลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ห้ายก รวมทั้งหมด 26 ข้อเสนอ แต่มีเพียงข้อเสนอเดียวที่สามารถผ่านด่านรัฐสภา จนสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้สำเร็จ ก็คือข้อเสนอแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดย ส.ส. ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล หัวใจของการแก้ไขคือ การแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ และให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (ดูผลการลงมติ)

หลังการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างก็เสนอแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) โดยรัฐสภาต่างก็รับหลักการทุกข้อเสนอทั้งจากรัฐบาลและฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดี การพิจารณาแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง กลับยืดเยื้อกินเวลานาน เมื่อเกิดเหตุการณ์โหวต “พลิกล็อค” สูตรคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (Party-List) แบบ “หาร 100”  ไปเป็นแบบ “หาร 500” 

แต่ท้ายที่สุดก็ยังเจอเทคนิคที่ ส.ส. จากทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนเข้าร่วมการประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และ “สภาล่ม” ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่จะครบ 180 วันของกำหนดเวลาการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ได้ กฎหมายเลือกตั้งจึง “พลิกล็อก” อีกครั้งกลับไปใช้ “สูตรหาร 100” อีกครั้ง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1) เป็นไปตามร่างกฎหมายเลือกตั้ง ฉบับที่ครม.เสนอในวาระหนึ่ง

แม้ว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง จะผ่านรัฐสภามาได้แล้วแบบงงๆ แต่ก็ยังถูกดึงเวลา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมี ระวี มาศฉมาดล ส.ส. พรรคพลังธรรมใหม่ ผู้เสนอสูตร “หาร 500” เป็นตัวนำในการส่งเรื่อง อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญก็เคาะว่ากฎหมายเลือกตั้งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งในเชิงเนื้อหาและเชิงกระบวนการตรา จนสามารถประกาศใช้รองรับการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ได้ในที่สุด

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ได้ดังนี้

การแบ่งเขตเลือกตั้งชวนสับสน

หลังกฎหมายเลือกตั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมถูกประกาศใช้ กกต. ก็ออกประกาศสองฉบับ เป็นเรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง และเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ไม่ได้ราบรื่น เมื่อ กกต. เอาราษฎรที่ไม่มีสัญชาติเข้ามาคำนวณเพื่อหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของแต่ละจังหวัดด้วย ส่งผลให้เรื่องต้องถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยใช้จำนวนราษฎรที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น หลัง กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่แล้ว กกต. แต่ละจังหวัดก็เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อโมเดลการแบ่งเขตเลือกตั้งอีกรอบ

หลังจากเคาะการแบ่งเขตเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว เรื่องก็ยังไม่จบง่ายๆ เมื่อมีผู้โต้แย้งว่า การแบ่งเขตของ กกต. สร้างความสับสนให้กับประชาชน มีการรวมเฉพาะแขวง ไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ จนเรื่องขึ้นสู่ศาลปกครองกลาง แต่ศาลปกครองก็ยกฟ้อง

การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่งผลต่อประชาชนในแง่ความเข้าใจว่าพื้นที่ที่ตนเองอยู่ จะต้องไปกาเบอร์ ส.ส. พรรคไหน การแบ่งเขตที่ซับซ้อน อาจทำให้ประชาชนสับสนได้ นอกจากนี้ บางกรณี การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบมีเป้าหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งได้ หรือที่เรียกว่า Gerrymandering

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ได้ดังนี้

ส.ส. ย้ายพรรคอลหม่าน ผลพวงการแก้ระบบเลือกตั้ง

ในปี 2564 รัฐสภาโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรสองใบและใช้ระบบการคำนวณบัญชีรายชื่อแบบคู่ขนาน แม้ว่าเกือบจะมีการพลิกล็อกในสภาเพื่อมีการพิจารณากฎหมายลูก แต่ในที่สุดระบบ MMM ที่คล้ายคลึงกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ผ่านสภารวมถึงศาลรัฐธรรมนูญไปได้

ในระบบแบบคู่ขนานหรือที่เรียกกันว่า “หารร้อย” ตามการคำนวณที่ใช้เลขจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนเป็นตัวหาร จะไม่มีการคำนวณ ส.ส.ที่พึงมีแล้ว แต่จะคำนวณที่นั่งบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองจากสัดส่วนคะแนนในบัตรใบที่สองหรือใบที่เลือกพรรค เช่น หากได้คะแนนร้อยละ 10 พรรคนั้นก็จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อ 10 ที่นั่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้ ส.ส. เขตเท่าไร ระบบ MMM นี้ให้ผลตรงกันข้ามกับระบบ MMA คือพรรคใหญ่ที่ได้คะแนนเสียงในเขตมาก ก็จะกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในขณะที่พรรคขนาดเล็กและกลางซึ่งมักจะหวังที่นั่งบัญชีรายชื่อก็จะมีจำนวน ส.ส. น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นี่จึงเป็นเหตุให้หลายพรรคต้องเร่งปรับทัพเพื่อหนีตายระบบเลือกตั้งแบบใหม่

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ดังนี้

รวมปรากฏการณ์-ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ปรากฏการณ์-ไทม์ไลน์หลังการเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ปรากฏว่าอดีตพรรคฝ่ายค้านเอาชนะอดีตพรรคฝ่ายรัฐบาลไปอย่างถล่มทลาย ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากผลคะแนนเมื่อ 2562 แม้โฉมหน้าของเสียงข้างมากในสภา รวมไปถึงผู้ที่จะเป็นรัฐบาล จะเปลี่ยนไปจากการเลือกตั้ง 2562 แต่คนไทยก็ยังไม่ได้พบรัฐบาลและสภาชุดใหม่ในทันที แต่อาจจะกินเวลาประมาณ 65 วัน

หลังการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็นัดประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร 4 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย และมีดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล นั่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง

13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภา มีนัดหมายลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยเป้าหมายต้องการ 376 เสียง แม้ว่า 8 พรรคร่วมจะจับมือเหนียวแน่นเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่สุดท้าย ส.ว. ก็มาโหวตให้แค่ 13 คน และพรรคอื่นไม่มาเลย ทำให้ยังเลือกนายกฯ ไม่สำเร็จ

การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 พรรคก้าวไกลยืนยันเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นครั้งที่สอง แต่อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. รวมไทยสร้างชาติ และ เสรี สุวรรณภานนท์ สว. อ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 เสนอญัตติต่อรัฐสภาว่าการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อ 41 ท้ายที่สุดที่ประชุมรัฐสภา ลงมติด้วยเสียง 395 ต่อ 317 เสียง ตีความว่าการเสนอชื่อพิธาอีกครั้ง ต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อ 41

ต่อมา 22 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเลือก เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165  เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ขาดประชุม 19 คน

You May Also Like
อ่าน

ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ปมรัฐสภาถามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน

17 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่า รัฐสภาจะมีอำนาจในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน
อ่าน

เศรษฐาแถลง ประชามติ 3 ครั้งสู่รัฐธรรมนูญใหม่ “ห้ามแตะหมวดทั่วไป-หมวดพระมหากษัตริย์” ย้ำพร้อมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ

23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะกรรมการประชามติ ที่เห็นว่าควรมีการทำประชามติสู่รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้นสามครั้ง ไม่แตะหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ ควบคู่กันไปด้วย