จับตาประชุมสภา นัดลงมติอนุมัติ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ

28 กุมภาพันธ์ 2566 วันปิดสมัยประชุมสภาสมัยสุดท้ายของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 สภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดนัดเรื่องด่วน พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 (พ.ร.ก. แก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ) ที่ประกาศใช้ไปเมื่อ19 กุมภาพันธ์ 2566 โดยพ.ร.ก. ฉบับนี้ถูกประกาศใช้ออกมาเพื่อ “เลื่อน” การบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ จากเดิมที่จะบังคับใช้ “ทั้งฉบับ” 120 วัน หลังประกาศใช้ (25 ตุลาคม 2566) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่พ.ร.ก.ฉบับนี้ กลับออกมาเพื่อ “ยกเว้น” เลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป เป็นใช้บังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งบทบัญญัติที่ถูกเลื่อนใช้บังคับออกไปนั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลไกการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น การกำหนดให้ตำรวจต้องติดกล้องและบันทึกสภาพของผู้ต้องหาเมื่อจับกุม

กำหนดนัดพิจารณาพ.ร.ก. ฉบับนี้ นับได้ว่าเป็น “เรื่องร้อน” ของสภา เพราะพ.ร.ก. เพิ่งจะประกาศใช้ไปได้ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภา จึงทำให้สภาต้องมากำหนดนัด “วันสุดท้าย” ของสมัยประชุมสภาสุดท้าย ซึ่งการพิจารณาอนุมัติพ.ร.ก. หากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติแล้ว ก็ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อว่าจะอนุมัติหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เอง วุฒิสภาจึงนัดพิจารณาอนุมัติพ.ร.ก. แก้ไขพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เช่นกัน โดยวุฒิสภาจะพิจารณาพ.ร.ก. ดังกล่าว ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติแล้วเท่านั้น แต่หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่อนุมัติ” พ.ร.ก. นั้นก็จะเป็นอันตกไป ไม่ต้องส่งต่อให้วุฒิสภาอนุมัติ ซึ่งหากสภาไม่อนุมัติพ.ร.ก. ดังกล่าว ผลที่ตามมาคือ พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ สี่มาตราที่ถูกยกเว้นให้เลื่อนออกไป ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสี่ กำหนดให้หากพ.ร.ก. ที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใดนั้นตกไป บทบัญญัติที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก มีผลบังคับใช้ต่อไปนับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นมีผล

การตรา “พระราชกำหนด” นั้น เป็นข้อยกเว้นของกลไกการออกกฎหมายโดยปกติ ที่ปกติแล้วการออกกฎหมายใหม่ หรือการแก้ไขกฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ” (พ.ร.บ.) ก็จะต้องทำเป็นพ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นผู้แทนประชาชน กฎหมายนั้นจึงจะออกมาเพื่อใช้บังคับกับประชาชนได้ แต่พ.ร.ก. นั้น เป็นข้อยกเว้น  เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สามารถออกพ.ร.ก. ได้ก่อน แล้วส่งรัฐสภาเพื่ออนุมัติในภายหลัง โดยการออกพ.ร.ก. นั้น มีเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ในมาตรา 172 หลักสำคัญคือ การออกพ.ร.ก. จะทำได้เมื่อครม. เห็นว่ามี “กรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” และต้องกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

ทั้งนี้ คำว่า ฉุกเฉิน ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “ที่เป็นไปโดยปัจจุบัน ทันด่วน และต้องรีบแก้ไขโดยพลัน” และคำว่า “จำเป็น เร่งด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” หมายถึง ต้องทำทันที ถ้าไม่ทำจะเกิดผลร้ายแรงตามมา

เหตุผลของการออกพ.ร.ก. ฉบับนี้ ที่ออกมาเพื่อ “เลื่อน” การบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ บางส่วนออกไป สืบเนื่องจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ริเริ่มร้องขอให้ขยายเวลาการบังคับใช้ทั้งสี่มาตราออกไป โดยให้เหตุผลเรื่องความไม่พร้อมทั้งเชิงงบประมาณสำหรับกล้องที่ต้องใช้เพื่อปฏิบัติงานตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียด ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง และอาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ รวมทั้งความไม่พร้อมเชิงบุคลากรที่ยังขาดความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน

อย่างไรดี แม้ฝั่งฝ่ายบริหารจะให้เหตุผลว่าปัญหางบประมาณและบุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเรื่องฉุกเฉินที่จำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีดุลยพินิจในการตีความ ซึ่งอาจจะตีความในทางเดียวกันหรือต่างกันกับฝ่ายบริหารก็ได้ ต้องจับตากันว่า ท้ายที่สุดแล้วเสียงข้างมากของสภาจะอนุมัติพ.ร.ก. ที่ถูกส่งมาให้ลงมติในวันปิดสมัยประชุมสภาหรือไม่ 

You May Also Like
อ่าน

ข้าราชการลาออกชั่วคราวเพื่อลงสมัคร สว. 67 ได้

กฎหมายหลายฉบับได้เปิดช่องให้ข้าราชการปัจจุบันสามารถลาออกเพื่อสมัครเป็น สว. ได้โดยมีผลทันทีนับแต่วันที่ยื่นลาออก และหากไม่ได้รับการเลือกเป็น สว. ก็ยังมีทางเลือกสามารถกลับไปรับราชการได้ตามเดิมเช่นกัน
อ่าน

รวมทริคลงสมัคร สว. เลือกกันเอง บทเรียนจากปี 61

จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย