เลือกตั้ง 66: เปิดกฎหมายดูอนาคต “พรรค 3 ป.” หลังถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับทุนสีเทา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงที่มีการเลือกตั้งและจะส่งผลต่อความอยู่รอดของพรรคการเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้อย่างน้อย 19 เหตุ 

ในการเลือกตั้ง ปี 2562 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบอย่างน้อยสองพรรค พรรคแรกคือ ‘ไทยรักษาชาติ’ จากการเสนอชื่อ ‘ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี’ เป็นหนึ่งในบุคคลที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าข่ายกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนพรรคที่สอง คือ ‘อนาคตใหม่’ จากการกู้ยืมเงิน ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ของพรรคการเมือง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคล้วนมีจุดยืนไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะที่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ พรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคแต่กลับไม่พบความคืบหน้าเท่าที่ควร จนนำไปสู่คำถามถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.

ก่อนการเลือกตั้งในปี 2566 อุณหภูมิทางการเมืองเริ่มสูงขึ้น หลัง รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ได้เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งที่ทำการพรรคอยู่บนที่ดินของบุคคลที่ใกล้ชิดกับขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงินของกลุ่มทุนมินลัต ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่นำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนสีเทาอย่าง ‘ตู้ห่าว’ หรือ ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ ที่ได้บริจาคเงินให้กับพรรค ซึ่งทั้งสองกรณีเข่าข่ายจะถูกยุบพรรคได้ทั้งคู่

พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ ถูกกล่าวหา “มีความใกล้ชิด” คนสีเทา

จากการอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม พอสรุปได้ว่า ขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงินของกลุ่มทุนมินลัตได้ทำธุรกรรมผ่านบริษัทที่มี ส.ว.อุปกิต เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง แม้ภายหลัง ส.ว.รายดังกล่าวจะชี้แจงว่า เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวแล้ว แต่ผลการสอบสวนหลังเข้าจับกุมผู้ต้องหาขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงินพบว่า เป็นลูกเขยของ ส.ว.อุปกิต อีกทั้ง ผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวให้ข้อมูลว่าตนเป็นนอมินีของ ส.ว.อุปกิต ทำให้ตำรวจมีการขยายผลและออกหมายจับ

แต่ในการขอหมายจับ ส.ว.รายดังกล่าว พบว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้มีคำแนะนำให้เพิกถอน เนื่องจาก “ผู้ถูกออกหมายจับเป็นบุคคลสำคัญ” และให้ใช้เป็นหมายเรียกแทน อีกทั้ง กระบวนการออกหมายเรียกยังเป็นไปอย่างล่าช้า และมีการสั่งโยกย้าย พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผกก.สส.2 บก.สส. บช.น. ซึ่งเป็นนายตำรวจผู้รับผิดชอบคดีการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดในครั้งนี้

รังสิมันต์ โรม ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการช่วยเหลือ ส.ว.รายดังกล่าว อาจจะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคที่ประกาศจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งอยู่ในที่ดินของบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA ที่ ส.ว.อุปกิต เคยเป็นผู้บริหารและถือหุ้น โดยหลักจาก ส.ว.อุปกิตได้ขายหุ้นทิ้ง แต่บริษัทยังโอนกรรมสิทธิที่ดินกลับมาให้ ก่อนจะมีการก่อสร้างเป็นที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ

ต่อมาทาง ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกมาชี้แจงว่า พรรคกับ ส.ว.ที่ถูกกล่าวหาไม่มีความเกี่ยวข้องกัน อีกทั้ง พรรคได้ทำสัญญาเช่าในพื้นที่ดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติได้ออกแถลงการณ์ตามมาว่า ส.ว.ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับพรรค ดังนั้น การกระทำใดๆ ของบุคคลอื่นจึงไม่เกี่ยวข้องกับพรรคทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่ประการใด และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

นอกจากนี้ ในการอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม ยังกล่าวถึงคดีของ ‘ตู้ห่าว’ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดและฟอกเงินของกลุ่มทุนจีนสีเทาด้วยว่า คดีนี้มีความผิดปกติหลายส่วนตั้งแต่กระบวนการตรวจค้นของตำรวจที่มีรายงานว่าไม่เจอยาเสพติดทั้งที่ในบ้านทั้งที่มีถาดรองยา หลอดเสพยาและปล่อยรถตู้ที่ตู้ห่าวใช้ประจำเอาไว้ และมีการพาผู้ต้องหาหลบหนี หรือนำผู้ที่ควรจะเป็นผู้ต้องหาในคดีมาเป็นพยาน และเกิดกรณีการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย

รังสิมันต์ โรม ตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดปกตินี้เป็นผลจากการที่ ปฐมพล จันทร์โอชา หลานชายของ พลเอกประยุทธ์ ได้เปิดบริษัทเพื่อทำการเช่าซื้อรถทัวร์ถึง 33 คันมาปล่อยเช่าต่อให้กับบริษัทในเครือของตู้ห่าวหรือไม่ นอกจากนี้ ตู้ห่าวยังเกี่ยวข้องกับ ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โดยพบภาพถ่ายภายในบ้านกับตู้ห่าวและยังพบภาพเคยไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดภรรยาของธรรมนัสพร้อมมอบ Hermes ให้เป็นของขวัญ และก่อนหน้านี้ก็พบหลักฐานว่า ตู้ห่าวได้ทำการบริจาคเงินให้กับพรรคพลังประชารัฐเป็นจำนวนเงินสามล้านบาท

รังสิมันต์ โรม กล่าวด้วยว่า ธรรมนัส ยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มจีนเทาอีกหลายคน เช่น จางเจียนฟู่, เฉินเฝิงเชา และเกาฉี ที่มีที่อยู่เดียวกันคือ 888 ถ.อโศก-ดินแดงซึ่งโฉนดที่ดินนี้เป็นชื่อของธรรมนัสเอง เป็นที่ตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด หรือชื่อเดิม ธรรมนัสการ์ด ปัจจุบันก็ยังถือหุ้นใหญ่โดยภรรยาอีกคนของธรรมนัสด้วย อีกทั้งชาวจีนทั้งสามคนนี้ยังพลัดเปลี่ยนกันถือหุ้นในบริษัท ไชน่า คิงดอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวยังไปเช่าที่ดินสร้างผับที่ชื่อ “Top One” ที่มีคนจีนไปเสพยาเสพติดจนเสียชีวิต 

พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคหากมีเอี่ยวกับเงินสีเทา

ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” 

กล่าวคือ พรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคจะต้องไม่บบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย เช่น เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือฉ้อโกง แล้วนำมาบริจาคให้พรรคการเมือง และโทษของการกระทำความผิดดังกล่าวคือ”การยุบพรรค”

โดยศาลรัฐธรรมนูญเคยอธิบายเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ไว้ด้วยว่า มาตรานี้ได้กําหนดข้อห้ามไว้ “เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเหล่านั้น อันจะทําให้พรรคการเมืองกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุน หรือช่วยเหลือในการกระทําความผิดไปด้วย และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทย อันเป็นมาตรการที่สําคัญเพื่อเสริมสร้างสถาบันพรรคการเมืองของประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน” 

เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นกับพรรครวมไทยสร้างชาติ จะพบว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้ตั้งที่ทำการพรรคอยู่ในที่ดินของ ส.ว.อุปกิต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยกับขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงิน ซึ่งอาจจะเข้าข่ายรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ดังนั้น กกต. จึงต้องทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงว่า กรรมการบริหารพรรครู้หรือควรจะรู้หรือไม่ว่า ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับมามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ จะปฏิเสธไม่รู้เห็นกับพฤติการณ์ของ ส.ว.อุปกิต ไม่ได้ เนื่องจากกระบวนการคัดเลือกให้ ส.ว.อุปกิต มาดำรงตำแหน่ง ส.ว. นั้นมี พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้รับผิดชอบ ตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนด และทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้มีการชี้แจงหรือให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าที่อ้างว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากการเช่าอาคารดังกล่าวเป็นการให้เช่าที่ดูผิดปกติก็จะเข้าข่ายรับบริจาคผลประโยชน์อื่นใด โดยปริยาย

ส่วนกรณีของพรรคพลังประชารัฐก็เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า มีกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดและฟอกเงินและมีหลักฐานบ่งชี้ถึงความใกล้ชิด อีกทั้งยังมีหลักฐานเป็นการบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองเป็นจำนวนเงินสามล้านบาท ดังนั้น กกต. จึงต้องทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงว่า กรรมการบริหารพรรคหรือพรรครู้หรือหรือควรจะรู้หรือไม่ว่า ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับมามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

แต่อย่างไรก็ดี กกต. ได้ออกมาเปิดเผยว่า สถานะของคดีดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้าเมื่อเทียบกับกระบวนการยุบพรรคอนาคตใหม่หรือพรรครวมไทยรักษาชาติ และไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนว่า กกต. ได้มีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลกับ กกต. แต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ กกต. จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงคำถามว่าทำงานเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อกระบวนการได้มาซึ่ง กกต. มีความยึดโยงกับทั้ง พลเอกประยุทธ์ และ พลเอกประวิตร