เลือกตั้ง 66 : เขตเลือกตั้งเพิ่มจังหวัดไหนบ้าง พรรคไหนได้เปรียบ?

31 มกราคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ สืบเนื่องจากพ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่สอง มีการแก้ไขจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจาก 350 เป็น 400 คน ทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเดิมเปลี่ยนไป การคำนวณเขตเลือกตั้งใหม่ใช้จำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นค่าฐานหารเฉลี่ยจำนวน 400 ให้เป็นจำนวนราษฎรต่อส.ส.หนึ่งคน คือ 165,226 คน ทำให้จำนวนที่นั่งใน 43 จังหวัดเพิ่มขึ้น ขณะที่ 34 จังหวัดคงจำนวนเท่าเดิมกับการเลือกตั้งปี 2562 จังหวัดที่เพิ่มขึ้นมีดังนี้

  • 3 ที่นั่ง รวม 1 จังหวัด: กรุงเทพมหานคร
  • 2 ที่นั่ง รวม 5 จังหวัด: นนทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และเชียงใหม่
  • 1 ที่นั่ง รวม 37 จังหวัด: กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ระยอง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเพิ่มขึ้นเท่ากันคือ 16 ที่นั่ง ภาคใต้แปดที่นั่ง ภาคเหนือหกที่นั่ง ภาคตะวันออกสามที่นั่ง ภาคตะวันตกหนึ่งที่นั่ง ความได้เปรียบจากการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นี้อาจพิจารณาได้สองปัจจัยคือ หนึ่ง เทียบเคียงกับผลการเลือกตั้งปี 2562 และสอง ภูมิทัศน์ทางการเมืองทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น และการย้ายพรรคในการเลือกตั้ง 2566  จากการรวบรวมจังหวัดที่มีที่นั่งเพิ่มขึ้นมาในปี 2566 ประกอบข้อมูลของพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งมากที่สุดของจังหวัดนั้นๆ ในปี 2562 พบว่า หากมองเพียงปัจจัยที่หนึ่งจำนวนที่นั่งที่เพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อพรรคการเมืองอย่างน้อยหกพรรค แบ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลสี่พรรคคือ พรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา รวม 24 ที่นั่ง และพรรคฝ่ายค้านสองพรรคคือ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล รวม 23 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาภูมิทัศน์ทางการเมืองในปี 2566 พบว่า หลายพื้นที่ยังคงความได้เปรียบ แต่จำนวนไม่น้อยเสียฐานที่มั่นทางการเมืองไป

ตารางที่ 1 พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอันดับ ในจังหวัดที่มีการเพิ่มที่นั่งเทียบกับการเลือกตั้ง2562 

พรรคการเมืองจังหวัดที่นั่งเพิ่มในพื้นที่ถือครองเดิม
พลังประชารัฐกรุงเทพมหานคร ชลบุรี ตาก นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน สงขลา สมุทรปราการ สระบุรี และสุโขทัย15
ภูมิใจไทยบุรีรัมย์และอ่างทอง3
ประชาธิปัตย์ระยอง ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพังงา5
ชาติไทยพัฒนาสุพรรณบุรี1
เพื่อไทยกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ นครนายก นนทบุรี บึงกาฬ ปทุมธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี20
อนาคตใหม่ (ก้าวไกล)นครปฐม แพร่และสมุทรสาคร3

หมายเหตุ : ตารางนี้ไม่นับรวมจังหวัดที่พรรคการเมืองอันดับ 1 มีสองพรรคจึงมีผลรวมไม่ครบ 50 ที่นั่ง

พรรคพลังประชารัฐ : เสียฐานที่มั่น ส.ส.ย้ายพรรคต่อเนื่อง 

พลังประชารัฐได้ส.ส.แบบแบ่งเขตในการเลือกตั้ง 2562 เป็นอันดับหนึ่งใน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สระบุรี สุโขทัย เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก นครราชสีมา ชลบุรี ภูเก็ต และสงขลา โดยจังหวัดเหล่านี้มีที่นั่งเพิ่มขึ้นรวมกัน 15 ที่นั่ง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งกับการเพิ่มจำนวนที่นั่งและการรักษาเก้าอี้เดิมไว้เมื่อต้องเผชิญกับพาเหรดย้ายพรรคของ ส.ส.เดิมและคะแนนนิยมที่ลดลง

ช่วงต้นปี 2565 พรรคพลังประชารัฐมีมติขับส.ส.ก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าออกจากพรรค ออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ส.ส.หลายคนที่ถูกขับออกจากพรรคเข้าร่วมกับพรรคใหม่นี้ แต่หลายคนเข้าร่วมกับพรรคอื่น เช่น เอกราชและวัฒนา ช่างเหลา  บ้านใหญ่ขอนแก่น และธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์  ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมพรรคภูมิใจไทย ต่อมาด้วยอิทธิฤทธิ์ของสูตรคำนวณแบบ “หารร้อย” ไม่เอื้อให้พรรคเล็กอย่างพรรคเศรษฐไทยเกิดจึงเป็นเหตุให้ ร.อ.ธรรมนัสกลับมากราบอก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐปี 2566 อีกครั้ง ก่อนจะหอบ ส.ส.ในสังกัดกลับเข้าพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

เดือนธันวาคม 2565 ส.ส. กรุงเทพมหานครของพรรคพลังประชารัฐเริ่มออกตัวย้ายพรรค มีห้าคนย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยและอีกหนึ่งคนไปสังกัดพรรคเพื่อไทย กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีที่นั่ง ส.ส.ส่วนเพิ่มมากที่สุดคือสามที่นั่ง จากเดิม 30 ที่นั่งเพิ่มเป็น 33 ที่นั่ง การเลือกตั้งปี 2562 พลังประชารัฐได้ 12 ที่นั่ง มาตรวัดสะท้อน “ขาลง” ของพลังประชารัฐในกรุงเทพมหานครเห็นได้จากปี 2565 กกต.จัดการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 เดิมเป็นของสิระ เจนจาคะ แต่ครั้งนี้สุรชาติ เทียนทอง จากเพื่อไทยสามารถทวงพื้นที่คืนได้ ส่วนสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาของสิระจากพลังประชารัฐได้คะแนนเป็นอันดับสี่ปีเดียวกันในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร 2565 พลังประชารัฐได้ ส.ก.เพียงสองที่นั่งจาก 50 ที่นั่ง

วันที่ 9 มกราคม 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์เป็นสมาชิกพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พร้อมหอบ ส.ส.เดิมบางส่วนของพรรคพลังประชารัฐไปด้วย ออกตัวชัดเจนคือ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจากกลุ่มบ้านใหม่จังหวัดชลบุรีที่งัดข้อกับบ้านใหญ่คุณปลื้มนำโดยสนธยา คุณปลื้ม ซึ่งประกาศตัวย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยแล้ว เก้าอี้ส่วนเพิ่มที่ได้จากชลบุรีไม่ใช่ของง่ายสำหรับพรรคพลังประชารัฐอีกแล้ว นอกจากนี้ยังมี ส.ส.ที่ยังไม่ลาออก แต่ออกหน้าให้กำลังใจในงานเปิดตัวพรรครวมไทยสร้างชาติอีกไม่น้อย เช่น สามผู้แทนจากจังหวัดสงขลา ได้แก่ พยม พรหมเพชร ศาสตรา ศรีปาน และร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ฉะนั้นการวาดหวังจะได้เก้าอี้ส่วนเพิ่มจากจังหวัดสงขลาคงเป็นไปได้ยากเช่นกัน

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในกลุ่มสามมิตรแสดงท่าทีชัดเจนว่า จะย้ายเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้านสมาชิกสามมิตรอีกคนหนึ่งอย่างสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังพูดไม่ชัดว่า จะอยู่พรรคพลังประชารัฐต่อหรือไม่ ขณะที่สื่อรายงานว่า สมศักดิ์อาจย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง 2562 สุโขทัยมีเก้าอี้ให้ชิงสามที่นั่ง สองที่นั่งเป็นของพลังประชารัฐ คือ  พรรณสิริ กุลนาถศิริ น้องสาวของสมศักดิ์ และชูศักดิ์ คีรีมาศทอง คนใกล้ชิดสมศักดิ์ อีกหนึ่งที่นั่งเป็นของสมเจตน์ ลิมปะพันธ์ พรรคภูมิใจไทย ขณะที่ปี 2566 มีที่นั่งเพิ่มอีกหนึ่งที่นั่ง รวมเป็นสี่ที่นั่ง หากสมศักดิ์ยังอยู่พลังประชารัฐต่อก็อาจเป็นโอกาสให้พรรคคว้าที่นั่งเพิ่มจากพื้นที่ทางการเมืองของตระกูลเทพสุทิน

อย่างไรก็ตามยังพอมีจังหวัดที่หายใจหายคอได้บ้างคือ เพชรบูรณ์ ปี 2566 เพชรบูรณ์มีที่นั่งเพิ่มขึ้นจากห้าเป็นหกที่นั่ง เจ้าของพื้นที่อย่างสันติ พร้อมพัฒน์แสดงเจตจำนงชัดเจนในการอยู่กับพลังประชารัฐ ข้อมูลจากนักการเมืองในพื้นที่คาดการณ์ว่า การเลือกตั้ง 2566 พลังประชารัฐยังคงครองพื้นที่เพชรบูรณ์เช่นเดิม แต่สุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ส.ส. พลังประชารัฐอาจเว้นวรรคทางการเมือง เป็นการเปิดทางทางอ้อมให้สุประวีณ์ อนรรฆพันธ์ หลานชาย ซึ่งลงเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่สมุทรปราการ กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าภายใต้การนำของตระกูลอัศวเหมยังคงสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ส่วนการเมืองท้องถิ่นมีนันทิดา แก้วบัวสาย อดีตภรรยาของชนม์สวัสดิ์ อัศวเหมนั่งเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เป็นการการันตีเสียงสนับสนุนตระกูลอัศวเหมได้ระดับหนึ่ง 

อีกจังหวัดหนึ่งคือ นครราชสีมา การเลือกตั้ง 2566 มีที่นั่งเพิ่มสองที่จาก 14 เป็น 16 ที่นั่ง ตระกูลรัตนเศรษฐยังคงยืนอยู่ฝั่งพลังประชารัฐ ภารกิจหลักคงเป็นการรักษาพื้นที่เดิม เพราะวิรัชและทัศนียา รัตนเศรษฐ รวมถึงทัศนาพร เกษเมธีการุณ น้องสาวของทัศนียาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตสนามฟุตซอล ทำให้การเลือกตั้งปี 2566 สมาชิกครอบครัวแถวสองต้องขยับขึ้นแถวหนึ่งลงชิงเก้าอี้ ส.ส. เพื่อรักษาจำนวนที่นั่งเดิมไว้ นอกจากนี้พรรคพลังประชารัฐยังต้องเผชิญกับกระแส “แลนด์สไลด์” ของเพื่อไทยที่หวังครองที่นั่งเพิ่มในจังหวัดนี้ด้วยเช่นกัน โดยสามารถดึงตระกูลหวังศุภกิจโกศล จากภูมิใจไทยกลับมาร่วมสนามเลือกตั้ง 2566 ขณะที่การสำรวจของนิด้าโพลล่าสุด พรรคเพื่อไทยเดินนำมาเป็นอันดับหนึ่งในพื้นที่นครราชสีมา

พรรคภูมิใจไทย บ้านใหญ่นับที่นั่งเพิ่มล่วงหน้า 

ภูมิใจไทยได้ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2562 เป็นอันดับหนึ่งรวมสองจังหวัด คือ บุรีรัมย์และอ่างทอง การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ บุรีรัมย์มีที่นั่งเพิ่มสองที่นั่งจากแปดเป็นสิบที่นั่ง อ่างทองมีที่นั่งเพิ่มหนึ่งที่นั่งจากหนึ่งเป็นสองที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยมีจุดเด่นที่สำคัญคือ ตระกูลการเมืองที่ทำงานในพื้นที่อย่างแนบแน่น ความนิยมระดับพื้นที่ของพรรคเห็นได้จากสัดส่วนคะแนนต่อผู้ออกเสียงทั้งหมดที่อยู่ในอันดับต้นของตาราง จากจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน หากไม่นับรวมกรณีของศรีนวล บุญลือ อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจากเหตุอุบัติเหตุทางการเมืองของสุรพล เกียรติไชยการ ส.ส.เชียงใหม่เขต 8 แล้ว ภูมิใจไทยมีสัดส่วนผู้ออกเสียงเลือกสูงที่สุดคือ เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส. เขต 1 จังหวัดอุทัยธานีได้คะแนนเสียง 58,659 คิดเป็นร้อยละ 64.35 ของผู้มาออกเสียงทั้งหมด เจเศรษฐ์เป็นหลานชายของชาดา ไทยเศรษฐ์ บ้านใหญ่อุทัยธานีที่ในตารางสัดส่วนคะแนนอยู่ที่อันดับ116  ได้คะแนนเสียง 35,450 คิดเป็นร้อยละ 40.44 ของผู้มาออกเสียงทั้งหมด ชาดาเติบโตมาจากการเมืองท้องถิ่น มีบทบาทในการดูแลผลักดันผู้สมัครในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของพรรคภูมิใจไทย

อันดับรองลงมาของพรรคภูมิใจไทยคือ อันดับเก้าเป็นของศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว รองประธานรัฐสภาคนที่สอง ได้คะแนน 48,719 เสียงคิดเป็นร้อยละ 53.81 จากจำนวนบัตรดีทั้งหมด และทิ้งห่างอันดับสองที่ร้อยละ 30.56 ครูแก้วเป็นส.ส.หลายสมัยเริ่มต้นจากพรรคความหวังใหม่ ไทยรักไทย พลังประชาชนและภูมิใจไทย ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองในปี 2551 เขาเข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่นำโดยเนวิน ชิดชอบ กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการพลิกขั้วทำให้ประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ขณะที่บุรีรัมย์ เมืองหลวงของตระกูลชิดชอบ ปี 2562 การเลือกตั้งมีแปดที่นั่ง ผู้สมัครจากภูมิใจไทยสามารถคว้าชัยไปได้ทุกเขต ทิ้งห่างอันดับสองแบบไม่ต้องลุ้น โดยอดิพงษ์ ฐิติพิทยา เขต 5 ได้คะแนนเสียงร้อยละ 51.87 จากจำนวนบัตรดีทั้งหมด 91,781 คน นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผู้สมัครจากพรรคเดียวอย่างภูมิใจไทยคุมพื้นที่บุรีรัมย์ได้ทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ยังมีผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ แทรกเข้ามาได้บ้าง 

ในงานวิจัยเรื่องนักการเมืองถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า ต้นสายทางการเมืองของตระกูลชิดชอบเริ่มจากชัย ชิดชอบ ได้รับเลือกเป็นส.ส.ในปี 2522 จากนั้นครอบครัวชิดชอบเริ่มเติบโตจากการที่สมาชิกครอบครัวลงสมัครส.ส. เช่น เนวิน กรุณา และศักดิ์สยาม ในช่วงปี 2546-2550 พ.ต.อ.ชวลิต ชิดชอบ สามีของอุษณีย์ พี่สาวของเนวินนั่งเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ท้ายสุดต้องแยกทางในปี 2550 เนวินเดินหน้าฟ้องพี่เขยกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และในปี 2554 อุษณีย์และกรุณา ชิดชอบต้องมาสู้กันเองในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นอกจากนี้ตระกูลชิดชอบยังมีนักการเมืองใกล้ชิดอีกหลายคน เช่น รุ่งโรจน์และจักรกฤษณ์ ทองศรี ญาติทางฝั่งแม่ของเนวิน โสภณ ซารัมย์ ผู้นำครูในอำเภอลำปลายมาศ เป็นเพื่อนสนิทของเนวิน และสนอง เทพอักษรณรงค์ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ นักการเมืองคนสนิทของเนวินเช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การครองอำนาจของตระกูลชิดชอบตั้งแต่การเมืองท้องถิ่นขึ้นสู่การเมืองระดับชาติ ทำให้มีเครือข่ายฐานเสียงแน่นหนา ชนะเลือกตั้งจนมีจำนวนเก้าอี้ที่มากพอสำหรับใช้ในการต่อรอง ทั้งการเข้าร่วมรัฐบาลและการคุมกระทรวง ‘เกรดเอ’อันเป็นผลให้สามารถผลักดันโครงการขนาดใหญ่ สร้างผลงานใช้หาเสียงสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้งปี 2566 บุรีรัมย์มีเก้าอี้เพิ่มสองที่นั่ง คาดหมายได้ว่า จะเป็นของพรรคภูมิใจไทยอย่างแน่นอน

ตารางที่ อันดับและสัดส่วนคะแนนเสียงของส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย

อันดับชื่อผู้สมัครคะแนนสัดส่วนคะแนนและผู้ออกเสียงทั้งหมดส่วนต่างจากอันดับ 2
28อดิพงษ์ ฐิติพิทยา47,60951.8733.83
45โสภณ ซารัมย์47,48147.3726.51
46สมบูรณ์ ซารัมย์45,82146.9322.35
60รุ่งโรจน์ ทองศรี40,59744.6823.39
98สนองเทพ อักษรณรงค์41,51341.2815.45
107จักรกฤษณ์ ทองศรี39,21541.1212.93
144ไตรเทพ งามกมล43,32738.758.73
212รังสิกร ทิมาตฤกะ34,21236.086.6

อ่างทองเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้เก้าอี้ส่วนเพิ่มจากหนึ่งเป็นสองที่นั่ง ในการเลือกตั้ง 2562 ภราดร ปริศนานันทกุลได้คะแนนเสียงทั้งหมด 62,741 คะแนนคิดเป็นร้อยละ 39.1 ของจำนวนบัตรดีทั้งหมดตามด้วยอันดับสองคือ พ.ต.ต.ประจวบ เปาอินทร์ จากพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนน 47,373 คะแนน ภราดรเป็นลูกของสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เส้นทางการเมืองของสมศักดิ์เริ่มจากความล้มเหลวแพ้การเลือกตั้งในปี 2526 ก่อนกลับมาชนะเข้าสู่สภาเป็นส.ส.สังกัดพรรคชาติไทยในปี 2529 และได้รับการเลือกตั้งเรื่อยมา  ปี 2550 อ่างทองมีสองเขตเลือกตั้ง สมศักดิ์ได้รับเลือกตั้งพร้อมกับภราดร ลูกชายคนโต อย่างไรก็ดีวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 19/2551 สั่งยุบพรรคชาติไทยและตัดสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลาห้าปี ซึ่งสมศักดิ์อยู่ในบรรดาผู้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย

ในการเลือกตั้งปี 2554 และ 2557 อ่างทองมีสองที่นั่ง โดยผลการเลือกตั้งปี 2554 และผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งปี 2557 ทั้งสองเขตเป็นของภราดรและกรวีร์ ปริศนานันทกุล ภายใต้สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ต่อมาปี 2561 จึงย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย การเลือกตั้งปี 2562 อ่างทองถูกลดเหลือหนึ่งที่นั่ง ภราดรจึงลงส.ส.แบบแบ่งเขตและกรวีร์ลงส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคแทน ในส่วนของสมศักดิ์ แม้เผชิญวิบากกรรมทางการเมือง แต่ยังทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในฐานะแกนนำกลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด จังหวัดอ่างทอง มีผู้ใกล้ชิดคือ สุรเชษ นิ่มกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทองสามสมัย โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดสุรเชษ ชนะโยธิน เปาอินทร์ หลานชายของพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 81,734 ต่อ 45,637 คะแนน ต่อมาโยธินแสดงเจตจำนงลงสมัครส.ส.ในนามเพื่อไทย แต่ท้ายสุดพรรคเสนอชื่อชูศักดิ์ ศรีราชา อดีต ส.ว. และเพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ชัย อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ปี 2548 ลงชิงเก้าอี้อ่างทองแทน ซึ่งการล้มตระกูลปริศนานันทกุลที่ทำงานในพื้นที่ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติมาต่อเนื่องในช่วงกว่าสิบปีให้หลังนี้เป็นงานหินของพรรคผู้สมัครทั้งสอง

นอกจากจังหวัดบ้านใหญ่มีที่นั่งเพิ่มทั้งสองจังหวัดนี้แล้ว พรรคภูมิใจไทยยังมีบ้านใหญ่เดิมเช่น ตระกูลวิลาวัลย์ในปราจีนบุรีและรัชกิจประการในพื้นที่ภาคใต้  นอกจากนี้ยังสามารถดึงตัวบ้านใหญ่ค่ายอื่นให้มาร่วมพรรคเพิ่มเติมด้วย เช่น ตระกูลสะสมทรัพย์ในนครปฐม ที่กาญจนบุรีพรรคสามารถดีลสองพี่น้องโพธิพิพิธจากพลังประชารัฐ ที่เชียงรายมีตระกูลวันไชยธนวงศ์ที่แยกออกมาจากพรรคเพื่อไทย และที่ศรีสะเกษ ปี 2566 ภูมิใจไทยดึงตระกูลไตรสรณกุล-เพ็งนรพัฒน์ และแซ่จึง จากพรรคเพื่อไทยมาได้ทั้งหมด

พรรคเพื่อไทย เขตเพิ่มเอื้อแลนด์สไลด์

การเลือกตั้งปี 2566 เก้าอี้ที่นั่งส.ส.เขตต้องเพิ่มขึ้นจากเดิม 50 ที่นั่ง ในจำนวนนี้อยู่ในจังหวัดที่พรรคเพื่อไทยครอง 18 จังหวัดหรือ 20 ที่นั่ง ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ นครนายก นนทบุรี บึงกาฬ ปทุมธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี  มีแปดจังหวัดที่ชนะทุกเขตเลือกตั้ง ได้แก่ กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ นครนายก บึงกาฬ มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี และอุตรดิตถ์  ในกลุ่มนี้มีที่นั่งเพิ่มขึ้นเก้าที่นั่ง ในปี 2562 มีส.ส. ทั้งหมด 38 คน ในจำนวนนี้ 37 คนเป็นผู้แทนที่ทำคะแนนเสียงได้ในสัดส่วนร้อยละ 30 ขึ้นไป สูงที่สุดคือ เทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.เขต 8 จังหวัดอุดรธานี ได้คะแนน 58,318 หรือร้อยละ 60.07 หากพิจารณาภาพรวมแต่ละจังหวัดพบว่า จังหวัดที่ได้นั่งเพิ่มเป็นพื้นที่ของเพื่อไทยมายาวนาน เอื้อโอกาสให้ได้ที่นั่งส.ส.เพิ่มในการเลือกตั้ง 2566

ขณะที่ปัญหาการตัดคะแนนคลี่คลายลงเนื่องจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมแบ่งพรรคแยกตัวตั้งพรรคใหม่ชิงฐานเสียงเดียวกัน ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยใช้กลยุทธ์แตกแบงค์พันเพื่อให้ได้ส.ส.มากที่สุด พรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติที่จะแบ่งพื้นที่เขตลงเพื่อป้องกันการตัดคะแนนกันเองในพรรคอุดมการณ์เดียวกันและมีฐานเสียงร่วมกัน อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของอนาคตใหม่ ทำให้เกิดการตัดคะแนนกันในระดับเขตเช่นเดิม หากการเมืองปี 2566 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องตกที่นั่งลำบาก เมื่อแตกพรรคอุดมการณ์เดียวกันออกเป็นหลายพรรคและต้องชิงฐานเสียงเดียวกันดังเช่นที่เห็นในการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 2565 ทำให้ภารกิจ “แลนด์สไลด์” เพิ่มที่นั่งเป็นไปได้มากขึ้น

 ตัวอย่างขอนแก่น เขต 2 วัฒนา ช่างเหลา          จากพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งที่ 46,276 คะแนน ตามด้วยอรอนงค์ สาระผล จากเพื่อไทยได้ 34,115 คะแนน และสันชัย ทะคง จากอนาคตใหม่ได้ 21,449 คะแนน ส่วนอันดับสี่ผู้สมัครจากเพื่อชาติทิ้งห่างได้เพียง 2,422 คะแนน วัฒนาเป็นลูกชายของเอกราช ช่างเหลา ผู้ซึ่งเคยลงส.ส.และส.ว.แต่ไม่ชนะการเลือกตั้ง ช่วงรัฐประหาร 2557 เอกราชสั่งสมทุนการเมืองด้วยการ “เลี้ยวขวา” เข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากนั้นปี 2562 เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐส่งวัฒนา ลูกชายซึ่งเคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นลง ส.ส.เขต ส่งตัวเองลง ส.ส.บัญชีรายชื่อหาเสียงแบบแพ็คคู่ในการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ท้ายสุดวัฒนาชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต ส่วนเอกราชเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ในสัดส่วนคะแนนของเขต 2 เห็นได้ว่า เป็นการตัดคะแนนของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยคือ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ โดยทุนทางการเมืองของอรอนงค์ไม่ได้ต่างกับวัฒนามากนัก อรอนงค์เป็นภรรยาของภูมิ สาระผล ส.ส.หลายสมัยของเพื่อไทย เหตุที่ต้องลงเลือกตั้งแทนเนื่องจากสามีต้องโทษจำคุกจากคดีจำนำข้าว การเลือกตั้ง 2562 เพื่อไทยได้ ส.ส.แปดจากสิบที่นั่ง เสียที่มั่นของพรรคในเขต 1 และ 2 ให้แก่ ฐิตินันท์ แสงนาค และวัฒนา ช่างเหลาไป ในปี 2566 ทั้งสองย้ายไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทย หากประเมินฐานเสียงพรรคภูมิใจไทยในขอนแก่นแล้ว ห้าจากสิบเขตผู้สมัครได้คะแนนต่ำกว่าพัน มีเพียงเขตเดียวที่ได้คะแนนหลักหมื่นคือ เขต 10  ดังนั้นการตัดคะแนนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฐานความนิยมของพรรคภูมิใจไทยเจือสมกันกลายเป็นโอกาสให้พรรคเพื่อไทยทวงคืนและเพิ่มเก้าอี้ในคราวเดียวกัน

ลักษณะเช่นนี้ปรากฏในหลายเขตของจังหวัดสมุทรปราการ เดิมทีเป็นพื้นที่ของเพื่อไทย แต่การเลือกตั้ง 2562 เพื่อไทยไม่ได้ส.ส.สักเขตเดียว หกจากเจ็ดเขตเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไพ่” บ้านใหญ่อัศวเหมมีประสิทธิภาพสูง แต่อีกปัจจัยที่ทำให้เพื่อไทยสูญเสียพื้นที่เสื้อแดงไปคือ พลังประชารัฐถือครองการนำแบบเดี่ยวในฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้เกิดการตัดคะแนนกันเองของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เขตเลือกตั้งที่ 1-3, 5 และ 7 จะมีอันดับหนึ่งถึงสามเป็นพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทยและอนาคตใหม่ และตามด้วยอันดับสี่ในสัดส่วนคะแนนหลักพันอันไม่เป็นผลสร้างความเปลี่ยนแปลงนัก แม้พลังประชารัฐจะชนะแบบเขตแทบยกจังหวัด แต่ผลรวมคะแนนของสมุทรปราการฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเกือบแสนคะแนน

ตารางที่ ผลรวมคะแนนเสียงเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการแบ่งตามฝ่าย

พรรคฝ่ายประชาธิปไตย411,035
พลังปวงชนไทย1,593
เพื่อชาติ3,676
เพื่อไทย187,885
เศรษฐกิจใหม่16,903
เสรีรวมไทย18,427
อนาคตใหม่182,551
พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม 327,472
ครูไทยเพื่อประชาชน848
ชาติไทยพัฒนา2,441
ชาติพัฒนา476
ไทยศรีวิไลย์1,389
ประชาชนปฏิรูป933
ประชาธิปไตยใหม่742
ประชาธิปัตย์47,922
ประชานิยม913
ประชาภิวัฒน์674
พลังชาติไทย768
พลังท้องถิ่นไท746
พลังไทยรักไทย401
พลังธรรมใหม่1,360
พลังประชารัฐ232,666
ภูมิใจไทย31,724
รวมพลังประชาชาติไทย (รวมพลัง)1,748
รักษ์ผืนป่าประเทศไทย (โอกาสไทย)1,721
พรรคที่ได้ไม่ได้รับเลือกเข้าสภา4,273
ทางเลือกใหม่712
ไทรักธรรม302
ประชาไทย46
พลังไทสร้างชาติ538
พลังประชาธิปไตย1,783
เพื่อแผ่นดิน238
ภราดรภาพ287
ภาคีเครือข่ายไทย309
มหาชน58
คะแนนรวมทั้งจังหวัด742,780

หมายเหตุ : การแบ่งฝ่ายอ้างอิงตามสถานการณ์ในปี 2562

นอกจากนี้จังหวัดแลนด์สไลด์เดิมของเพื่อไทยมีความท้าทายขึ้น เนื่องจากการย้ายพรรคของส.ส. แบบแรกคือ ย้ายไปพรรคที่มีลักษณะฐานคิดใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยอย่างกรณีของจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี ย้ายไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทย จักรพรรดิเป็นทายาททางการเมืองของประจวบ ไชยสาส์น ผู้แทนอุดรธานีหลายสมัย เขาเป็นส.ส.สังกัดพรรคพลังประชาชนในปี 2550 และชนะการเลือกตั้งในนามเพื่อไทยต่อเนื่องในปี 2554 2557 และ 2562 ในการเลือกตั้งปี 2554 เฉพาะอุดรธานี จักรพรรดิเป็นหนึ่งในผู้แทนสามคน จากทั้งหมดเก้าคนที่ได้คะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งของตนเองมากกว่า 70,000 คะแนน อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้ง 2562 จักรพรรดิได้คะแนน 41,307 คะแนน เป็นอันดับสี่ของบรรดาส.ส.แปดคนของพรรคเพื่อไทยในอุดรธานี ส่วนอุตรดิตถ์ ศรัณย์วุฒิ ศรัณยเกตุ ย้ายไปพรรคเพื่อชาติ เขาเป็นผู้แทนมาหลายสมัยในปี 2557 ลงเลือกตั้งในนามพรรคชาติไทยพัฒนาและชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ส่วนอีกสองเขตเป็นของผู้แทนจากเพื่อไทย จากนั้นปี 2562 เขากลับมาลงสนามในนามพรรคเพื่อไทย และย้ายไปพรรคเพื่อชาติระหว่างสมัยสภา

หากเทียบเคียงจากผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อในปี 2554 ทั้งสองจังหวัดเป็นพื้นที่ที่ฐานของพรรคเพื่อไทยแข็งแกร่งอย่างมาก อุดรธานี พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงบัญชีรายชื่อ 599,254 จากเสียงทั้งหมด 733,981 คะแนนหรือคิดเป็นร้อยละ 81.64 และอุตรดิตถ์ 140,525 จากเสียงทั้งหมด 244,903 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 57.37 สอดคล้องการที่ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยชนะแบบยกจังหวัดในปี 2562 ดังนั้นจึงเป็นงานหนักของส.ส.ย้ายพรรคที่ต้องใช้บารมีส่วนตัวที่สั่งสมคัดง้างความภักดีต่อพรรคเพื่อไทยที่ครองใจคนในพื้นที่อย่างยาวนาน การย้ายพรรคอีกแบบหนึ่งคือ การย้ายข้ามขั้วไปพร้อมกับฐานเสียงการเมืองท้องถิ่นสนับสนุนอย่างตระกูลไตรสรณกุล-เพ็งนรพัฒน์ในศรีสะเกษ มีความเป็นไปได้สูงที่ส.ส.เดิมของพรรคเพื่อไทยจะคว้าเก้าอี้ในนามพรรคใหม่ ส่วนที่เชียงรายหลังรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เขต 4 ย้ายพรรคไปภูมิใจไทย ทั้งนี้การเพิ่มจำนวนที่นั่งจากเจ็ดเป็นแปดที่นั่งในเชียงรายก็เปิดโอกาสที่เพื่อไทยจะไม่ได้ที่นั่งเพิ่มแต่ก็ไม่เสีย สามารถรักษาจำนวนที่นั่งเดิมได้

อ่านเพิ่มเติม : สำรวจสามเบี้ยบนกระดานเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย