ทนายหญิงจะใส่กางเกงว่าความได้แล้ว สภาทนายความ-เนติเดินหน้าแก้ข้อบังคับแต่งกาย

Update 27 มิถุนายน 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อบังคับสภาทนายความ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 โดยกำหนดให้ทนายความหญิงสามารถใส่กระโปรงหรือกางเกงก็ได้
_______________________
ข้อเรียกร้องให้สภาทนายความรวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างเนติบัณฑิตยสภา (เนติฯ) แก้ไขข้อบังคับการแต่งกาย ที่แบ่งแยกการแต่งกายตามเพศให้ทนายความหญิงต้องสวมใส่กระโปรงเวลาว่าความ กินเวลาต่อสู้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งปลายปี 2565 ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) มีคำสั่งให้สภาทนายความและเนติฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ขัดแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกงหรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้
ขณะที่องค์กรสำคัญสององค์กรอย่างสภาทนายความและเนติฯ ก็ออกมารับลูกตาม เมื่อ 17 มกราคม 2566 สภาทนายความชุดใหม่ที่ได้รับเลือกเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ชี้แจงว่า สภาทนายความประชุมและมีมติให้แก้ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความในเรื่องการแต่งกาย ให้เป็นปัจจุบันรองรับเกี่ยวกับเพศสภาพ ขณะที่เนติฯ ก็ได้ส่งหนังสือแจ้งเลขานุการคณะกรรมการ วลพ. ไปเมื่อ 23 มกราคม 2566 ว่าคณะกรรมการเนติฯ มีมติเห็นชอบให้แก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 (2) เพื่อให้สมาชิกหญิงสวมกางเกงได้ ทั้งนี้ มติที่ประชุมดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษก่อน หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการประกาศข้อบังคับฉบับแก้ไขในราชกิจจานุเบกษาต่อไป 
แม้จะเห็นทิศทางเรื่องการแต่งกายทนายหญิงจะก้าวหน้าขึ้นมาบ้าง แต่ก็ใช้เวลาต่อสู้กันเกือบสามปี อีกทั้งก่อนหน้านี้ นักกฎหมายและทนายความสิทธิได้ไปยื่นหนังสือต่อสภาทนายความและเนติฯ เพื่อให้แก้ข้อบังคับการแต่งกาย แต่ทั้งสององค์กรก็ไม่มีท่าทีว่าจะแก้ไขข้อบังคับการแต่งกายจนกระทั่งคณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัยออกมา เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ชวนย้อนดูที่มาที่ไปของเรื่องนี้

ทำไมต้องแก้ข้อบังคับการแต่งกายทนายหญิง?

การแต่งกายของทนายความในเวลาว่าความ ถูกกำกับด้วย ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 ซึ่งกำหนดให้ ทนายความหญิงต้องใส่กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด ซึ่งการฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว จะเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ มีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มีโทษสามสถาน คือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
ในทางปฏิบัติ ทนายความหญิงที่สวมใส่กระโปรงไปว่าความ แม้จะสวมชุดครุยทับ แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกผู้พิพากษาในคดีนั้นติง หรือบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณา เช่น กรณีของ จิดาภา คงวัฒนกุล ทนายความหญิงที่ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ วลพ. ก็ประสบปัญหาที่ผู้พิพากษาคอยตรวจตราว่าเธอสวมใส่กระโปรงขณะว่าความหรือไม่ และจดบันทึกเกี่ยวกับการแต่งกายทนายความในรายงานกระบวนการพิจารณาว่า “ทนายโจทก์เป็นผู้หญิงสวมกางเกงมาศาลจึงให้มีหนังสือแจ้งและสอบถามสภาทนายความว่าเป็นการกระทำที่ปฏิบัติตามมรรยาทสภาทนายความหรือไม่ เพื่อจะได้มีคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”
ด้วยเหตุผลทั้งเนื้อหาในข้อบังคับและในกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิในการแต่งกายของทนายความ ทำให้นักกฎหมายและทนายความสิทธิ เดินหน้าทำแคมเปญเพื่อให้สภาทนายความแก้ไขข้อบังคับเรื่องกายแต่งกาย โดยเมื่อ 10 มิถุนายน 2563 ตัวแทนจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้เดินทางไปยังสภาทนายความ เพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อทนายความ 126 คน เสนอให้แก้ไขข้อบังคับฯ เป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ทนายความไม่น้อยกว่า 100 คนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขข้อบังคับได้ แต่หลังจากนั้นสภาทนายความก็ตอบกลับมาว่าข้อบังคับมิได้ห้ามทนายความหญิงมิให้สวมใส่กางเกงว่าความไว้ ในชั้นนี้เห็นว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรในการแก้ไขข้อบังคับ

เนติฯ เกี่ยวกับอะไรกับการแต่งกายทนาย?

เมื่อทางสภาทนายความไม่ได้แก้ไขข้อบังคับตามที่ร้องขอ 26 มกราคม 2564 สนส. จึงส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและสภาทนายความ ขอให้ประกาศแนวปฏิบัติว่าตามที่สภาทนายความตีความว่าไม่มีข้อห้ามมิให้ทนายความหญิงสวมใส่กางเกงในการว่าความ ดังนั้น ทนายความหญิงสามารถแต่งกายโดยสวมใส่กางเกงว่าความในศาลได้ แต่ฝั่งศาลก็ไม่ได้ประกาศแนวปฏิบัติให้รับกับความเห็นของสภาทนายความนัก จะเห็นได้จากหนังสือตอบกลับของสำนักประธานศาลฎีกา เมื่อ 14 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีใจความว่า การแต่งกายของบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความนั้น หากบุคคลนั้นมีสิทธิสวมครุยเนติบัณฑิต ย่อมต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย ตามข้อ 20 (4) ของข้อบังคับสภาทนายความ รวมทั้งต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาทนายความต้องเป็นสมาชิกเนติฯ ด้วย ทำให้การแต่งกายของทนายความก็เกี่ยวพันกับข้อบังคับเนติ ซึ่งหากไปดู ข้อบังคับเนติฯ ข้อ 17 ก็จะพบว่า ข้อบังคับดังกล่าวก็กำหนดการแต่งกายยึดโยงกับเพศเช่นกัน โดยกำหนดให้สมาชิกเนติฯ ที่เป็นหญิง แต่งกายแบบสากลนิยม “กระโปรง” สีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรง รองหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล สีดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย ซึ่งก็เป็นการกำหนดที่ไม่ได้แตกต่างจากข้อบังคับของสภาทนายความมากนัก
ต่อมา 8 ธันวาคม 2564 นิติฮับ (Nitihub) และสนส. ก็ได้ ยื่นหนังสือต่อนายกเนติบัณฑิตยสภา ขอแก้ไขข้อบังคับเนติฯ เรื่องการแต่งกาย และทำแคมเปญให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงไปศาลได้ ทางเว็บไซต์ https://www.change.org/p/ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล และนำรายชื่อประชาชนไปยื่นประกอบด้วย

ทำไมสภาทนายความ และเนติฯ ถึงไม่แก้ข้อบังคับตั้งแต่แรก?

แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้สภาทนายความและเนติฯ แก้ไขข้อบังคับ แต่ก่อนที่คณะกรรมการ วลพ. จะวินิจฉัย สภาทนายความและเนติฯ ก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับอย่างจริงจัง ซึ่งเหตุผลที่ทั้งสององค์กรไม่แก้ไขข้อบังคับเรื่องการแต่งกายนั้น อาจทำความเข้าใจได้จากคำให้การที่ชี้แจงต่อคณะกรรมการ วลพ. ที่เปิดให้สภาทนายความ และเนติฯ ทำคำให้การแก้ต่างเรื่องร้องเรียน
โดยสภาทนายความ ให้เหตุผลว่า ผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาทนายความต้องเป็นสมาชิกเนติฯ การกำหนดข้อบังคับจึงเชื่องโยงกัน การบังคับใช้หลักเกณฑ์ของทั้งสองหน่วยงานจึงไม่อาจแยกจากกันได้ ข้อบังคับของหน่วยงานทั้งสองก็กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งกายของสมาชิกโดยแบ่งแยกตามเพศชายและเพศหญิง แต่เหตุของการกำหนดข้อบังคับฯ ก็สืบเนื่องมาจากการทำงานของทนายความจะมีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินประชาชน การใช้อำนาจดูแลทนายความจึงต้องเคร่งครัดเพื่อให้ทนายความอยู่ในกรอบของมรรยาทและจริยธรรม แต่สภาทนายความก็ไม่ได้ออกข้อบังคับห้ามมิให้ชายหรือหญิงเพศใดเพศหนึ่งประกอบวิชาชีพทนายความและเข้ารับฝึกอบรมวิชาว่าความ เพื่อประโยชน์ในการปกครองผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกาย จึงไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศแต่อย่างใด
ด้านเนติฯ ชี้แจงว่า ตั้งแต่อดีต ผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ จะสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในการปฏิบัติหน้าที่ในศาล ซึ่งต่างจากผู้สำเร็จสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่ไม่ต้องสวมเสื้อครุยขณะปฏิบัติหน้าที่ การที่ผู้ร้องขอให้แก้ไขข้อบังคับเนติฯ ลบเงื่อนไขการแต่งกายออก ให้ทนายความหญิงซึ่งเป็นสมาชิกเนติฯ สามารถสวมกางเกงไปว่าความที่ศาลได้ ไม่น่าจะเป็นการเหมาะสมด้วยประเพณีและวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยที่ปฏิบัติมาเป็นเวลานาน เพราะในการพิจารณาคดีในศาล ผู้พิพากษา อัยการ ก็ยังแต่งกายตามหลักเกณฑ์ โดยการปฏิบัติหน้าที่ในศาล เป็นการปฏิบัติหน้าที่เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ การที่ทนายความหญิงจะสวมกางเกงในห้องพิจารณาจึงไม่เหมาะสม หากเนติฯ แก้ข้อบังคับดังกล่าว ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรเนติบัณฑิต ก็จะมีเนติบัณฑิตอ้างสิทธิขอสวมกางเกงเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานประกาศนียบัตรได้

สภาทนายความเคยฟ้องวลพ. ต่อศาลปกครอง เหตุสั่งแก้ข้อบังคับแต่งกายตามเพศสภาพ

นอกจากกรณีของ จิดาภา คงวัฒนกุล ทนายความหญิงที่ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ วลพ. แล้ว คณะกรรมการ วลพ. ก็มีคำวินิจฉัยอีกคำวินิจฉัยหนึ่งที่เป็นเรื่องใกล้เคียงกัน โดยอีกคำวินิจฉัย คณะกรรมการวลพ. ได้วินิจฉัยให้สภาทนายความ ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลที่มีการแสดงออกทางเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดให้สามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตนได้ สืบเนื่องจากชิษณ์ชาภา พานิช นักกฎหมายหญิงข้ามเพศที่ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ วลพ.
ปรากฏว่า สภาทนายความ ภายใต้การนำของถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความคนก่อน ได้ฟ้องคณะกรรมการ วลพ. ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1726/2565 อย่างไรก็ดี เมื่อ 28 สิงหาคม 2565 มีการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ ส่งให้วิเชียร ชุบไธสง ได้นั่งตำแหน่งนายกสภาทนายความ พร้อมกับกรรมการบริหารสภาทนายความชุดใหม่ ซึ่งเมื่อ 22 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมสภาทนายความก็ได้ถอนฟ้องคดีปกครองดังกล่าว และให้ดำเนินการแก้ไข กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง