เลือกตั้ง 66: ประชาชนเคยเลือกพรรคไหน ถึงได้นายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์

การเลือกตั้งที่จะกำลังจะเกิดขึ้นอย่างช้าในเดือนพฤษภาคม 2566 จะเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของ ’พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะผลของการเลือกตั้งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตทางการเมืองของอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่ปี 2557

โดยเงื่อนไขที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปี 2566 คือ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 ที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้น การจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 376 เสียง

ถ้าย้อนดูหลังการเลือกตั้งในปี 2562 จะพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ บรรลุเงื่อนไขในการได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ หรือ ได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง มีอย่างน้อยสามอย่าง ได้แก่

หนึ่ง การมี ส.ว. ที่มาจากคสช. สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีที่มาจากคสช. นั้น ได้กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกมาจากการคัดเลือกของคสช. (มาตรา 269) อีกทั้ง ยังมีอำนาจในการเลือกนายกฯ พร้อมกับ ส.ส. (มาตรา 272)

การให้อำนาจ ส.ว. ที่มีที่มาจากคสช. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือ 376 เสียง และส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบระหว่างพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. กับพรรคที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.

เนื่องจาก ส.ว. มีจำนวนเสียงอยู่แล้ว 250 เสียง หากได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างถล่มทลาย ก็อาศัยเพียงแค่เสียงจาก ส.ส. 126 เสียง ก็สามารถเลือกนายกฯ ได้ ในขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ก็จะต้องรวมเสียงจาก ส.ส. ให้ได้ถึง 376 เสียง หรือต้องรวมเสียงให้ได้มากกว่าพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ถึงสามเท่า จึงจะสามารถเลือกนายกฯ ได้ 

ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคสช. มี ส.ว. ที่ให้การสนับสนุนตนเองอย่างพร้อมเพรียง จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ 

สอง การมี ส.ส. สังกัดพรรคที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง

แม้ว่า ส.ว. ที่มาจากคสช. จะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่ลำพังด้วยเสียงของ ส.ว. ยังไม่เพียงพอต่อการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ บรรลุเงื่อนไขการเป็นนายกฯ ได้ เพราะผู้ที่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ คือ ส.ส. และ ส.ว. ยังต้องการเสียงจาก ส.ส. อีกอย่างน้อย 126 เสียง 

จากเงื่อนไขข้างต้น “พรรคพลังประชารัฐ” จึงต้องถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้แน่ใจว่า จะมีพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในนามของพรรค และมีจำนวน ส.ส. มากพอที่จะจับมือกับ ส.ว. ในการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล กรธ. ที่มาจากคสช. จึงออกแบบระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้ฝ่ายคสช. ได้เปรียบ หรือที่เรียกกันว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment-MMA)

โดยระบบเลือกตั้งแบบ MMA เป็นระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว แต่ใช้คำนวณที่นั่ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ด้วยเหตุนี้ พรรคพลังประชารัฐที่แม้คะแนนนิยมในระดับชาติไม่ได้สูงนัก แต่ยังมีฐานเสียงจากบรรดา ส.ส. เขต ที่พรรคไปดึงตัวมา

อีกทั้ง ระบบเลือกตั้งแบบ MMA ยังเป็นระบบเลือกตั้งที่ลงโทษพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะหากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต มาก ก็จะทำให้ได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ น้อยลง ในขณะที่พรรคที่ไม่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขต จะได้รับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ชดเชย 

ในผลการเลือกตั้ง ปี 2562 จะพบว่า พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.เขต จำนวนมาก จะไม่ได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลย ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี ส.ส.เขต เป็นอันดับที่สอง ได้รับการชดเชยที่นั่งจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ จนมีจำนวน ส.ส. สูสีกับพรรคเพื่อไทย และสามารถจัดตั้งรัฐบาลก่อนเพื่อไทยได้ เพราะมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.

สาม การมี ส.ส. สังกัดพรรคที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้อม 

จริงอยู่ว่า ภายใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ขอแค่พรรคที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีที่นั่ง ส.ส. แค่ 126 ที่นั่ง ก็สามารถจับมือกับ ส.ว. ที่มาจากคสช. อีก 250 เสียง เพื่อเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้ แต่ในทางปฏิบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากมีเสียงจาก ส.ส. น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ มีเสียงน้อยกว่า 250 เสียง ซึ่งจะเป็นผลให้ถูกลงมติไม่ไว้วางใจจาก ส.ส. และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ

ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การนั่งเก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปอย่างราบรื่น จึงต้องมี ส.ส. สังกัดพรรคที่ยอมร่วมรัฐบาลกับตนเองให้การสนับสนุน เพราะหากพรรคที่ให้การสนับสนุนตนเองโดยตรงมีจำนวน ส.ส. ไม่เพียงพอ ก็ต้องอาศัยพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลเพื่อรักษาฐานอำนาจของตนเองไว้

ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. ไปทั้งสิ้น 116 คน ดังนั้น เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลงมติไม่ไว้วางใจ จึงต้องหาสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคอื่นๆ อีกอย่างน้อย 234 เสียง ซึ่งผลสุดท้าย มี ส.ส. ที่ยอมร่วมรัฐบาล และเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ถึง 251 เสียง ประกอบไปด้วย

  • พรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียง 
  • พรรคภูมิใจไทย 50 เสียง 
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง 
  • พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รวมพลัง) 5 เสียง 
  • พรรคชาติพัฒนา (ชาติพัฒนากล้า) 3 เสียง 
  • พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง 
  • พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (โอกาสไทย) 2 เสียง 
  • พรรคประชาชนปฏิรูป 1 เสียง 
  • พรรคเล็ก รวม 10 เสียง

ทั้งนี้ แม้ปัจจัยดังกล่าวจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 ได้ แต่ปัจจัยดังกล่าวก็เปรียบเสมือน “จิกซอว์ชิ้นสุดท้าย” ที่ทำให้การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความสมบูรณ์

ในการเลือกตั้ง ปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐไปร่วมงานกับพรรคใหม่ที่ชื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” จึงมีความเป็นไปได้ที่ ส.ว. ที่มาจากคสช. จะเกิดอาการ ‘เสียงแตก’ ดังนั้น การจะกลับมาเป็นนายกฯ ได้ จึงต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส. ที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นสำคัญ

แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ หรือ ร่วมรัฐบาลได้ ก็ขึ้นอยู่กับ “ประชาชน” ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากพรรคที่ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมไม่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน อนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะถูกปิดตาย