#แก้รัฐธรรมนูญ season 6 เพื่อไทยเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกก่อนเลือกตั้ง 66

อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นปมใหญ่ที่ขัดขวางการกลับไปสู่ประชาธิปไตยของไทย และหลังการเลือกตั้ง 2566 สภาแต่งตั้งก็จะยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก่อนที่จะครบระยะเวลาห้าปีตามบทเฉพาะกาล สรุปรวมแล้ว ส.ว. อาจจะมีส่วนกำหนดโฉมหน้าของผู้ที่จะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารยาวนานถึงแปดปี
แต่ก่อนที่สภาจะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2566 ก็ยังมีโอกาสอีกครั้งในการ “ปิดสวิชต์ส.ว.” โดยรัฐสภามีการบรรจุวาระที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นครั้งที่เจ็ดแล้วที่รัฐสภาจะลงมติปิดสวิชต์ ส.ว. แม้ว่าหกครั้งก่อนจะจบลงด้วยการที่ข้อเสนอไม่ได้รับความเห็นชอบเนื่องจากได้เสียง ส.ว. ถึงหนึ่งในสามตามหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช … ของพรรคเพื่อไทยเสนอให้แก้ไขในสองประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับที่มานายกรัฐมนตรี ข้อแรกคือการแก้ไขมาตรา 159 เพื่อเปิดทางให้ ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละห้าของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 25 ที่นั่ง สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยเป็นชื่อที่เพิ่มมาจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสามรายชื่อที่พรรคการเมืองต้องส่งก่อนการเลือกตั้งตามมาตรา 88 หมายความว่า พรรคการเมืองจะมีตัวเลือกมากขึ้นในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำกัดอยู่เพียงสามรายชื่อแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ถูกกำหนดว่าต้องเป็น ส.ส. อยู่เช่นเดิม
ข้อที่สองคือการยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยในระยะเวลาห้าปีแรก รวมถึงยกเลิกช่องทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกในกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตของพรรคการเมืองได้ โดยผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลไว้ว่า อำนาจเช่นนี้ของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน “ขัดต่อหลักการและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” และยังกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศที่สิ้นสุดระยะเวลาห้าปีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไปแล้ว จึงไม่ควรให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอีก
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเสนอให้ปิดสวิชต์ ส.ว. ที่ผ่านมา มีข้อเสนอมากถึงหกครั้งจากทั้งพรรคฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และภาคประชาชน ตั้งแต่เสนอให้แก้ไขเป็น “แพ็คคู่” คือให้แคนดิเดตนายกมาจาก ส.ส. ได้และตัดมาตรา 272 ออกไปทั้งหมด ไปจนถึงข้อเสนอ “ขั้นต่ำ” ตัดวรรคแรกของมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ แต่ก็ยังไม่เคยได้รับการเห็นชอบเลย
อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้นอกจากจะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งแล้วยังต้องได้เสียง ส.ว. อย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 เสียงด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบสี่ปีที่ผ่านมา ส.ว. ไม่เคยยกมือตัดอำนาจตัวเองถึงเกณฑ์ขั้นต่ำนี้ แม้ว่าจะได้รับคะแนนเสียงจาก ส.ส. อย่างท่วมท้นก็ตาม ร่างที่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เยอะที่สุดคือร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ลงมติกันในเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ก็ยังได้เพียงแค่ 56 เสียงเท่านั้น
หากพิจารณาอายุของสภาที่เหลือน้อยเต็มที ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะปิดสวิชต์ ส.ว. และหากทำสำเร็จ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะไม่สภาแต่งตั้งร่วมกำหนดอนาคตประเทศอีกต่อไป
You May Also Like
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์
อ่าน

สมัคร สว.67 แค่กรอกเลือกกลุ่มอาชีพ โดยมีผู้รับรองและพยาน

ผู้สมัคร สว. ไม่ว่าจะเพราะสมัครเพื่ออยากมีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสมัครเพื่อไปเป็น สว. สำหรับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราสามารถสมัคร สว.ในกลุ่มที่ต้องการได้หรือไม่ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การเลือกสว.) กำหนดว่า การพิสูจน์ว่าผู้สมัครอยู่กลุ่มอาชีพใด ใช้หลักฐานตามเอกสารสว. 4 คือการมี “ผู้รับรอง”