ศาลรัฐธรรมนูญเคาะ ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เตรียมทูลเกล้าฯ ประกาศใช้

30 พฤศจิกายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติวินิจฉัย กรณีประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวม 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ) มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 

สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีต้องนำร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ทำให้รายละเอียดสำหรับกติกาการเลือกตั้งครั้งหน้า มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการ และเดินหน้าตามกรอบเวลาไปสู่การเลือกตั้งในปี 2566 ได้

สำหรับที่มาของคดีนี้ ย้อนกลับไปปี 2564 รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งสำเร็จ   โดยใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ สิ่งที่ตามมาคือต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้สอดคล้องกับหลักใหญ่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ถูกเสนอเข้ารัฐสภาจากผู้เสนอหลายฝ่าย เดิมในร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภารับหลักการในวาระหนึ่ง กำหนดสูตรคำนวณที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” ต่อมาในการพิจารณารายมาตรา วาระสอง 

ลงมติกลับ “พลิกล็อก” ในวาระที่สองได้ออกมาเป็น “สูตรหาร 500”  ตามข้อเสนอของระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ว. และส.ส. พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาล

แต่ท้ายที่สุดก็ยังเจอเทคนิคที่ ส.ส. จากทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนเข้าร่วมการประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ และ “สภาล่ม” ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่จะครบ 180 วันของกำหนดเวลาการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ได้ กฎหมายเลือกตั้งจึง “พลิกล็อก” อีกครั้งกลับไปใช้ “สูตรหาร 100” อีกครั้ง ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1) เป็นไปตามร่างกฎหมายเลือกตั้ง ฉบับที่ครม.เสนอในวาระหนึ่ง

แม้ว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง จะผ่านรัฐสภามาได้แล้ว เมื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ความเห็นแล้ว และกกต. ก็ไม่ได้มีข้อทักท้วงต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ร่างกฎหมายก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ เมื่อส.ส. และส.ว. รวม 105 คน นำโดยระวี มาศฉมาดล ผู้เสนอสูตร “หาร 500” เข้าชื่อกันเสนอประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จนเป็นคดีนี้