Recap : ปักธงร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยตัวแทนประชาชน “ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

17 ตุลาคม 2565 เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดงานเสวนา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม” ที่อาคารศิลาบาตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีวิทยากรหกราย ได้แก่ 1) จตุพร พรหมพันธุ์ 2) ผศ.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 3) พริษฐ์ วัชรสินธุ 4) ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 5) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ และ 6) ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ร่วมแลกเปลี่ยนถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสี่ครั้งที่ผ่านมา มองไปอนาคตข้างหน้าถึงการปักธงจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 

แก้รัฐธรรมนูญสี่ครั้ง 25 ร่าง ผ่าน “ระบบเลือกตั้ง” เรื่องเดียว

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีหนึ่งเงื่อนไขคือ จะต้องใช้เสียงของส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน จำนวนหนึ่งในสามเสียง หรือคิดเป็น 84 คน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เคยถูกเสนอแก้ไขมาแล้วถึงสี่ครั้ง เป็นจำนวนรวมถึง 25 ร่าง โดยการแก้ไขที่สำเร็จมีเพียงเรื่องเดียว คือ ระบบเลือกตั้ง ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอื่นๆ ถูกปัดตกหมด โดยมีส.ว. เป็นตัวแปรสำคัญ 

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ล่าสุด แก้รัฐธรรมนูญ ยกที่สี่ เสนอตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี มีส.ว. บางคนออกมาพูดว่าจะโหวตตัดอำนาจ แต่พอตอนโหวตจริงผลมันออกมาไม่ผ่าน นี่คือปัญหาที่ทำให้เห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก จากสถานการณ์ปัจจุบันดูไกลเกินเอื้อม อย่างไรก็ดี สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะหมดอายุ อำนาจกำลังจะกลับสู่ประชาชน ซึ่งตอนนี้กำลังมีการเปิดให้ประชาชนลงชื่อเพื่อเสนอให้ครม. ทำประชามติกลับไปถามประชาชน เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่า หลังคสช. รัฐประหารปี 2557 ก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ร่างแรกที่ออกมา นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโน แต่ก็โดนเท บวรศักดิ์ออกมาบอกเองว่าเพราะเขา “อยากอยู่ยาว” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจากการร่างโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนให้ส.ว. เป็นมือไม้ให้คสช. อย่างแข็งแรง จะเห็นได้ว่า สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นทำ ทำเป็นกระบวนการ วางแผนในการยึดอำนาจ วางรากฐานอำนาจ

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็มีการจัดทำประชามติ ซึ่งตอนทำประชามติก็ไม่เป็นประชาธิปไตย แค่รณรงค์โหวตโนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกดำเนินคดี ส.ว. ชุดพิเศษจึงไม่ควรอ้างว่าตนมาจากการประชามติ 16 ล้านเสียงเลย นอกจากนี้ ภายหลังการทำประชามติ รัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติแล้ว ยังถูกแก้ไขเนื้อหาเรื่องพระราชอำนาจในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยสนช. แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อที่จะแก้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว ถ้าพูดตามความเป็นจริงรัฐธรรมนูญ 2560 กับร่างรัฐธรรมนูญที่ทำประชามติก็ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญที่เราไปทำประชามติ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนโดยที่ประชาชนไม่ได้รับรู้ 

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ส.ว. ชุดพิเศษมาจากการแต่งตั้ง การแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงส.ว. หนึ่งในสาม หรือประมาณ 84 คน ที่ผ่านมามีความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนถึงสามครั้ง ล่าสุดคือการตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกฯ ยังถูกปัดตก เราจึงจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เลย ถ้าส.ว. 250 คนยังอยู่

ภัสราวลี กล่าวต่อไปว่า การใช้กลไกทางรัฐสภา หรือแม้แต่กลไกการเข้าชื่อ ยังต้องใช้อยู่ การทำความเข้าใจกันในสังคม คุยกัน ย้ำเตือนกันในสังคมว่าทำไมถึงต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยกันขยายความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคม ณ วันหนึ่งหากมีการขับเคลื่อนอีก ก็จะมีแรงหนุนเสริมให้สิ่งนั้นเป็นไปได้  

แก้ระบบเลือกตั้ง แต่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ อาจกระทบการเลือกตั้งปี 66 

จตุพร พรหมพันธุ์ จากคณะหลอมรวมประชาชน แสดงความเห็นว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ไว้เพื่อส่งไม้ให้กับการฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครสามารถจัดการกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ การแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เรื่องที่จำเป็นไม่ได้แก้ แต่เรื่องที่ได้แก้คือเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งก็แก้ไขไม่ครบในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องผู้แทนพึงมี มาตรา 93 มาตรา 94 

จตุพร ยังตั้งข้อห่วงกังวลกรณีร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. กฎหมายลูกเลือกตั้ง ซึ่งแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ตอนนี้ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญและกระบวนการตราโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย และจะกระทบต่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า หรืออาจจะไม่ได้เลือกตั้ง 

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่ไกลเกินเอื้อม

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สามารถทำหน้าที่วางรากฐานประชาธิปไตยได้ เพราะว่าไม่ได้มีที่มาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และในเชิงเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจคนไม่กี่คน ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อประชาชนทุกคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง โดยอาวุธที่ถูกฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 1) ส.ว. ชุดพิเศษ 250 คน 2) ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นประโยชน์สนับสนุนระบอบประยุทธ์ ล้มกระดานประชาชน ใช้กลไกยุทธศาสตร์ชาติขวางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ในอนาคตหากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่แน่ว่าอาวุธนี้อาจจะถูกนำมาใช้

คำถามต่อมาคือ เราจะก้าวสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างไร อาจจะจำเป็นต้องอาศัยกลไกที่ต้องก้าวข้ามผ่านอุปสรรคเรื่องส.ว. ไป การจะมีสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ประชาชนอาจจะต้องเข้าคูหาถึงสี่ครั้ง ได้แก่

  1. ออกเสียงประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
  2. ออกเสียงประชามติรายละเอียดเกี่ยวกับสสร.
  3. ลงคะแนนเลือกตัวแทนที่จะเป็นสสร.
  4. ลงคะแนนว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญที่สสร. ร่างมา

พริษฐ์เสริมว่า กระบวนการสี่ขั้นตอนข้างต้น สามารถทำให้สำเร็จได้ก่อนการเลือกตั้งในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในปี 2570 เพื่อให้การเลือกตั้งปี 2566 เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายภายใต้กติการัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งนี่คือที่มาของแคมเปญ Reset Thailand ใช้กลไกตามพ.ร.บ.ประชามติ รวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อเพื่อเสนอให้ครม. ทำประชามติ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ การใช้กลไกนี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงของส.ว. และหากเป็นไปได้ มีการทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าจะมาจากพรรคใด ก็ต้องทำตามประชามติของประชาชน

ผศ.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม” ส่วนตัวตนคิดว่าไม่ไกลเกินเอื้อม ต่อให้มีผู้ทำรัฐประหาร ท้ายที่สุดยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจะต้องเลือกพรรคการเมืองที่ประกาศชัดว่าจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ