เข้าถึงง่าย-สะดวกลูกหนี้ เปรียบเทียบข้อเสนอ “ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน” กับกลไกล้มละลาย

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ธุรกิจบางแห่งขาดทุนแต่ยังพอเอาตัวรอดได้ แต่ธุรกิจอีกหลายประเภทไปต่อไม่ไหวมีหนี้สินจำนวนมาก การปล่อยให้มีการฟ้องให้ธุรกิจเหล่านี้ “ล้มละลาย” ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศ เพราะเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายปกติก็จะต้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ซึ่งเจ้าหนี้ก็อาจได้เงินคืนไม่ครบด้วยเช่นกัน เท่ากับความเดือดร้อนเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย โอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวจึงเป็นไปได้ยาก

ส.ส. พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่างกฎหมายล้มละลายฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ประกอบกิจการ SMEs ให้สามารถ “ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน” ได้โดยไม่ต้องมีการฟ้องล้มละลายกันทุกกรณี การฟื้นฟูสภาวะทางการเงินเป็นกลไกที่เข้าถึงง่ายและสร้างภาระแก่ลูกหนี้น้อยกว่าการฟ้องล้มละลาย เปิดโอกาสให้ลูกหนี้บริหารจัดการทรัพย์สินของตนเพื่อชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ 

สามารถเปรียบเทียบกลไกการฟ้องละลายตามกฎหมายเดิม กับข้อเสนอระบบฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ ที่เสนอขึ้นใหม่ได้ดังนี้

ใครยื่นคำร้องได้บ้าง

ล้มละลาย: เจ้าหนี้ต้องเป็นฝ่ายริเริ่มกระบวนการล้มละลายโดยการฟ้องลูกหนี้ไปยังศาลล้มละลาย ส่วนฝ่ายลูกหนี้ที่รู้ตัวว่ามีหนี้สินมากจนไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วก็ยังไม่มีสิทธิเริ่มต้นกระบวนการล้มละลายได้เอง

ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน: ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถริเริ่มกระบวนการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้เองโดยยื่นคำร้องต่อพนักเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ส่วนฝ่ยาเจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องให้มีการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ได้เช่นกัน

จำนวนหนี้

ล้มละลาย: ลูกหนี้ที่จะถูกฟ้องล้มละลายนอกจากจะต้องมี “หนี้สินล้นพ้นตัว” หรือ มีทรัพย์สินไม่พอที่จะชำระหนี้แล้ว ยังต้องเป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทในกรณีบุคคลธรรมดา และไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทในกรณีนิติบุคคล

ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน: ไม่กำหนดว่าลูกหนี้จะต้องมีหนี้ขั้นต่ำเท่าใด ดังนั้น ไม่ว่าลูกหนี้จะมีหนี้สินมากน้อยเพียงใดก็สามารถฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้ทั้งสิ้น แต่จะต้องดูว่าลูกหนี้ “ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้” หรือไม่ เช่น ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในเวลากำหนด และเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้ว ก็ยังไม่ชำระภายใน 30 วัน ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้ร้องขอบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้

อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นว่า หากหนี้ของลูกหนี้เกิดจากการประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ลูกหนี้จะต้องอาศัยกลไก “การฟื้นฟูกิจการ SMEs” แทนตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และไม่สามารถใช้กลไกขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้

ยื่นต่อใคร

ล้มละลาย: เจ้าหนี้จะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้โดยการฟ้องคดีต่อศาลล้มละลายเท่านั้น ทำให้คดีล้มละลายทุกประเภทต้องเข้าสู่กระบวนการศาล ไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการผ่านเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้

ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน: การฟื้นฟูสภาวะทางการเงินเป็นกลไกที่เพิ่มช่องทางการเข้าถึงให้ง่ายและหลากหลาย โดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการศาล  เนื่องจากเจ้าหนี้หรือลูกหนี้มีหลายทางเลือกที่จะยื่นคำร้องกับพนักงานเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินและจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน
  2. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
  3. เจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินและจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน
  4. เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ หรือสมาคมหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา
  5. พนักงานเจ้าหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ใครจัดการทรัพย์สินลูกหนี้

ล้มละลาย: เมื่อเจ้าหนี้ยื่นฟ้องล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะยังไม่ตกเป็นผู้ล้มละลายทันที แต่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ออกมาก่อน เพื่อให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ถูก “แช่แข็ง” ไว้ก่อน ไม่ให้ลูกหนี้กระทำการใดๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน จะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินก็ไม่ได้ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดูแลบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เก็บรวบรวมทรัพย์สินที่ลูกหนี้จะต้องได้รับมา เช่น ถ้าลูกหนี้ได้เงินจากการค้าขาย หรือค่าตอบแทนการทำงาน ก็ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดูแลก่อน หลังจากนั้นจะมีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และแจ้งกำหนดเวลาให้บรรดาเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้เข้ามายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อจัดสรรทรัพย์สินทั้งหมดชำระหนี้ต่อไป

ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน: การฟื้นฟูสภาวะทางการเงินไม่มีขั้นตอนการ “พิทักษ์ทรัพย์” เหมือนกลไกล้มละลาย ลูกหนี้ยังมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเองให้เป็นไปตามแผนการฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน ไม่ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาช่วยดูแลจัดการทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ในช่วงฟื้นฟูสภาวะทางการเงินต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในหัวข้อ “ข้อจำกัดของลูกหนี้”

การเจรจาเคลียร์หนี้

ล้มละลาย: หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ยังสามารถทำคำขอประนอมหนี้ เพื่อขอชำระหนี้เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษากับบรรดาเจ้าหนี้ว่าควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ถ้าหากเจ้าหนี้เห็นด้วยกับข้อเสนอใหม่ก็จะทำความตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้กันใหม่ที่ทุกฝ่ายพอใจ โดยไม่ต้องให้ลูกหนี้กลายเป็นคนล้มละลาย ถ้าหากลูกหนี้ไม่ได้ขอประนอมหนี้หรือตกลงกันใหม่ไม่ได้ ศาลก็จะพิพากษาให้ลูกหนี้ “ล้มละลาย”

อย่างไรก็ดี แม้เจ้าหนี้จะตกลงยอมรับการประนอมหนี้ตามที่ลูกหนี้แล้ว การประนอมหนี้ยังขึ้นอยู่กับ “ศาล” โดยศาลมีอำนาจที่จะไม่เห็นชอบกับการประนอมหนี้ก็ได้ เช่น หากศาลเห็นว่าการประนอมหนี้จะไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป หรือทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน เป็นต้น

ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน: เมื่อเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ยื่นคำร้องแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาคำร้อง หากมีคำสั่งรับคำร้องก็จะนัดเจ้าหนี้กับลูกหนี้ให้มีการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมหรือตกลงกัน ถ้าเจ้าหนี้กับลูกหนี้สามารถหาทางออกในการจ่ายคืนหนี้ร่วมกันได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจัดทำแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงินให้เป็นไปตามข้อตกลง

เมื่อจัดทำแผนเสร็จแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเห็นชอบด้วยกับแผนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูสภาวะทางการเงินได้เองเลย แต่ถ้าหนี้ “รวมกัน” ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องส่งแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงินให้ศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบกับแผนหรือไม่ ถ้าหากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลเห็นชอบด้วยกับแผนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูสภาวะทางการเงินแล้ว คำสั่งนั้นและแผนฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน ก็จะถูกนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และคำสั่งนั้นก็จะผูกมัดเจ้าหนี้

ข้อจำกัดของลูกหนี้

ล้มละลาย: หลังจากศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้ามาจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่ให้เจ้าหนี้ การใช้ชีวิตของลูกหนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหลายๆ ด้าน เช่น ลูกหนี้มีสิทธิใช้เงินตามสมควรเท่าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดสรรให้ เพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้อนุญาต ถ้าได้รับทรัพย์สินใดมาก็ต้องรายงานให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทราบ

นอกจากนี้ ถ้าลูกหนี้จะเดินทางออกนอกประเทศไทย ก็ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และรอให้ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาต กรณีที่ย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งตำบลที่อยู่ใหม่เป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบด้วย

ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน: ลูกหนี้ยังคงมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเอง อย่างไรก็ดี นับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูสภาวะทางการเงินไปจนถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่แผนดำเนินการเป็นผลสำเร็จแล้ว ห้ามลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หากลูกหนี้ฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับการกระทำเพื่อการค้าตามปกติของลูกหนี้ยังสามารถทำได้ 

เล่นการเมืองได้ไหม

ล้มละลาย: การตกเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้ส่งผลแค่เพียงเรื่องการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลล้มละลาย ขาดคุณสมบัติไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้ด้วย โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (2) กำหนดลักษณะต้องห้ามไม่ให้บุคคลล้มละลายสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น จะเป็น ส.ว. ชุดปกติ 200 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ (มาตรา 108 ข. (1)) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ (มาตรา 202 (2)) เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ (มาตรา 160 (6)) และไม่สามารถเป็นผู้ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้

ฟื้นฟูสภาวะทางการเงิน: เนื่องจากข้อเสนอเรื่องการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินยังเป็นเพียงร่างกฎหมายเท่านั้น จึงยังไม่มีกฎหมายใดห้ามบุคคลที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสภาวะทางการเงินไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ปัจจุบันข้อเสนอนี้ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว เป็นการเสนอร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 

ช่วยกันบอกต่อ ส่งเสียง ให้รัฐสภาผ่านร่างนี้ และลงชื่อสนับสนุนให้เป็นจริงทาง change.org/personal-rehab