3 เหตุผล ที่ ส.ว. ควรหยุดอ้างว่า เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ตามเสียงข้างมากของ ส.ส.

7 กันยายน 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีนัดพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการร่างแกรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนและพรรคฝ่ายค้าน รวมสี่ฉบับหรือไม่ ทั้งนี้ หนึ่งในร่างที่มีการถกเถียงกันในสภาอย่างมาก คือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

โดยข้ออ้างอย่างหนึ่งของบรรดา ส.ว.แต่งตั้ง ที่มาจากคสช. ทั้ง 250 คน ที่ใช้ปกป้องอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการอ้างว่า เสียงของ ส.ว. ไม่ได้มีความสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะใครก็ตามที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องได้รับเสียงข้างมากในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เสียก่อน ส.ว. เพียงเลือกคนที่ได้รับเสียงข้างมากเท่านั้น เพราะหาก ส.ว. เลือกคนที่ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็ย่อมทำให้เกิดทางตันทางเมืองเพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่สามารถผ่านกฎหมายใด ๆ ได้ ดังนั้น ภายใต้ข้ออ้างเช่นนี้ การมีอยู่หรือไม่ของอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่อย่างใด

เหตุผลดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ส.ว. หลายคนหยิบยกมาใช้ในระหว่างการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตลอด อาทิ วันชัย สอนศิริ ส.ว. แต่งตั้งและผู้เสนอคำถามพ่วงให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ อภิปรายไว้ว่ามาตรา 272 นั้น “ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรเลย” เพราะถ้า ส.ส. สามารถรวบรวมเสียงได้ก็สามารถเอาชนะเสียง 250 ส.ว. ได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับเจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. แต่งตั้งอีกคนหนึ่งที่ให้เหตุผลว่าไม่ว่าอย่างไร ส.ว. ก็ต้องเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากของ ส.ส. อยู่แล้ว “เราไม่สามารถที่จะเลือกนายกที่มาจากเสียงข้างน้อยได้เลย เพราะการเสนอกฎหมายสำคัญถ้ามีรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็คว่ำ”

แต่ข้ออ้างของ ส.ว. เหล่านี้กลับมีข้อบกพร่องจนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้จริงใจ แต่กลับเป็นเพียงแค่ความพยายามในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้องในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

1. อำนาจเลือกนายกของ ส.ว. เป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองช่วยประยุทธ์รวมเสียงข้างมาก

จริงอยู่ว่า การมีอยู่ของมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มาจากคสช. มีอำนาจเลือกนายกฯ ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ หากแต่กลไกอย่าง มาตรา 272 เมื่อได้ผสมผสานกับระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา จึงทำให้อำนาจของ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มาจากคสช. กลายเป็นเสียงที่มากที่สุดในสภาไปโดยปริยาย และกลายเป็นเสียงที่มีอำนาจต่อรองมากที่สุด

ประกอบกับหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พยายามเล่นแร่แปรธาตุกับสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. จนเป็นผลให้พรรคการเมืองที่ประกาศไม่สนับสนุนคสช. มีที่นั่งน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ดังนั้น การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีความเป็นไปได้มาตั้งแต่มีการประกาศผลการเลือกตั้งในปี 2562 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐจะเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งรัฐบาล เพราะมั่นใจว่า สามารถต่อรองกับพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กอื่น ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ต้องย่อมทราบดีว่าการร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐจะสมกับผลประโยชน์ของตนเองมากที่สุด และมั่นใจว่ารัฐบาลที่มีประยุทธ์เป็นหัวหน้านั้นจะได้รับการสนับสนุนและปกป้องโดย ส.ว. แต่งตั้ง ในทางกลับกัน หากเลือกที่จะร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคที่ต่อต้านอำนาจ คสช. ก็ไม่มีอะไรมาการันตีว่า ส.ว. ที่มีที่มาจาก คสช. จะลงคะแนนให้แม้จะได้เสียงข้างมากในสภา ส.ส. และนายกฯ ก็ อาจจะยังเป็นทหารที่ชื่อประยุทธ์อยู่ดี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นผลให้พรรคซึ่งได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดในสภา อย่างพรรคเพื่อไทย ควรจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล กลับกลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่า อย่างพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล

กล่าวโดยสรุปคือ การที่มาตรา 272 ให้อำนาจในการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. แต่งตั้ง เป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจของพรรคขนาดกลางและเล็กที่ร่วมมือกับพลังประชารัฐ และกลายเป็นนั่งร้านให้ประยุทธ์ในการฟอกขาวตนเองผ่านการเลือกตั้งได้ในที่สุด

2. ตอน ส.ว. โหวตเลือกนายกไม่มีทางรู้ว่าใครจะได้รับเลือก แล้วจะโหวตตามเสียงข้างมาก ส.ส. ได้อย่างไร

ข้ออ้างว่าอำนาจในการเลือกนายกฯ ของ ส.ว. นั้นไม่สำคัญยังเป็นการให้เหตุผลแบบกลับหลังที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง หากข้ออ้างของ ส.ว. ถูกต้อง ย่อมต้องหมายความว่า ส.ว. แต่งตั้งนั้น “รู้ล่วงหน้า” ว่าใครจะได้เสียงข้างมากใน ส.ส. จนได้เป็นนายกฯ เมื่อทราบดังนี้ ส.ว. ทั้ง 250 คนจึงลงคะแนนตามนั้น แต่ในความเป็นจริง การลงมติเลือกนายกฯ ให้สมาชิกรัฐสภาขานชื่อแคนดิเดตนายกฯ โดยเรียงตามตัวอักษร ดังนั้นเรื่องน่าสงสัยคือ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คนทราบได้อย่างไรว่าใครจะได้เสียงข้างมากก่อนที่โหวตตามนั้น เพราะข้อเท็จจริงคือ ส.ว. ยกมือเลือกประยุทธ์ฯ อย่างไม่แตกแถวเลยตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย การลงคะแนนเสียงตามเสียงข้างมากของ ส.ส. จึงเป็นไปไม่ได้ เป็นเพียงการเล่นลิ้นสร้างความชอบธรรมกับการกระทำในอดีตของตัว ส.ว. เท่านั้น

มากไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงคือในช่วงเวลาระหว่างการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จนถึงวันที่รัฐสภาลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ ไม่มี ส.ว. คนใดเลยที่ให้เหตุผลว่าตนเองจะลงคะแนนเลือกหัวหน้ารัฐบาลจากผู้ที่รับเสียงข้างมากในสภา ส.ส. ยกตัวอย่างเช่น เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ที่ในอีกเกือบสี่ปีให้หลังบอกว่าตนเองโหวตเลือกนายกฯ ตาม ส.ส. นั้น ได้เขียนความเห็นของตนเองในวันที่ 3 มิถุนายน 2562 เพียงสองวันก่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ หัวข้อว่า “เหตุผลที่ผมจะเลือกบิ๊กตู่เป็นนายกฯ” โดยเจตน์เริ่มตั้งแต่การสาธยายว่าตนเองมีความชอบธรรมจากผลประชามติ และประกาศการตัดสินใจของตนเองว่าจะเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ เนื่องจาก “เป็นนายกฯ ที่ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศมาตลอดในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน”

แต่ในภายหลังเจตน์ก็กลับคำให้ความเห็นที่ย้อนแย้งกับคำประกาศของตนเองในอดีตกลางสภา โดยให้เหตุผลว่าการเลือกประยุทธ์นั้นก็เป็นเพราะ ส.ส. เสียงข้างมากเลือกอดีตหัวหน้า คสช.

3. ถ้า ส.ว. ไม่เป็นตัวแปรในการเลือกนายกก็ต้องตัดอำนาจตัวเอง จะได้ไม่เป็นที่ครหา

ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะด้วยอภินิหารใดก็ตามที่ทำให้ข้ออ้างของ ส.ว. แต่งตั้งเป็นความจริง ก็ยิ่งจะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ ส.ว. ยกมือตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตนเอง เพราะหากเสียงของ ส.ว. ไม่ได้เป็นตัวแปรในการเลือกนายกฯ ก็ไม่มีความจำเป็นที่คงไว้ซึ่งมาตรา 272 อีกต่อไป การให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ก็รังแต่จะให้ ส.ว. แต่งตั้งต้องเจอกับข้อครหาจากสังคมในฐานะเครื่องมือที่ คสช. ใช้ในการสืบทอดอำนาจเท่านั้น คำวิพากษ์วิจารณ์มากมายที่ ส.ว. ได้รับนับตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งมาก็อาจจะช่วยทุเลาลงไปบ้างจนไม่ต้องถึงกับออกมาแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจอีกต่อไป

ดังนั้น ข้อพิสูจน์ต่อความบริสุทธิ์ใจต่อเหตุผลที่ออกมาจากปากของ ส.ว. ที่ดีที่สุดจึงเป็นการตัดอำนาจในการเลือกนายกฯ ของตนเอง เพราะอะไรที่ไม่ได้มีความสำคัญ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้