3 ผลลัพธ์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบรัฐบาล หากเสียงส่วนใหญ่ของสภาลงมติไม่ไว้วางใจก็สามารถทำให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจพ้นจากตำแหน่งได้ และถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับความไว้วางใจก็สามารถนำมาสู่การเปลี่ยนรัฐบาลได้เลย

ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งไหนเลยที่เสียงส่วนใหญ่สภาผู้แทนราษฎรจะเอารัฐมนตรีออกจากตำแหน่งหรือนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลได้ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในแต่ละครั้งก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลได้อย่างน้อย 3 ด้าน

1. เปิดแผลรัฐบาล ลดทอนคะแนนนิยม

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่ามีความยากลำบากกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดก่อนๆ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกของพล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกฯ ได้ ดังนั้น ต่อให้ ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบเป็นนายกฯ คนใหม่ ก็ต้องเอาชนะเสียงของ ส.ว.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ด้วยเช่นกัน และด้วยสาเหตุนี้ จึงทำให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลตกอยู่ในสภาวะจำยอมว่า หากต้องการเป็นรัฐบาลก็ต้องช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเมืองให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย มิเช่นนั้น ก็จะไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จของมัน แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นสนามรบสำคัญที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะได้ใช้พื้นที่ในการตีแผ่ความผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งท้ายที่สุด การอภิปรายเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญต่อประชาชนที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป พูดง่ายๆ ได้ว่า การอภิรายไม่ไว้วางใจในอีกมุมหนึ่งคือการเปิดแผลลดทอนความนิยมต่อรัฐบาล

ถ้าพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่พรรคฝ่ายค้านใช้กลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจในการกดดันรัฐบาลจนนำไปสู่การยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ และคะแนนนิยมในพรรครัฐบาลที่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ลดลงจนเกิดการสลับขั้วทางการเมือง

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงปลายปี 2537 ฝ่ายค้านนำโดยบรรหาร ศิลปอาชา กับคณะ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรฯ เรื่องการเอื้อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก. 4-01) จนทั้งสองคนต้องชิงลาออก

จนต่อมาในปี 2538 เมื่อพรรคฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็ทำให้รัฐบาลชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภา และผลของการเลือกตั้งครั้งนั้น ก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยชวน หลีกภัย แพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคชาติไทยของบรรหาร ศิลปอาชา ดังนั้น ผลลัพธ์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงไม่ได้จบแค่ในสภา แต่ส่งผลต่อการเลือกตั้งและผู้ที่จะตัดสินอนาคตทางการเมืองของพรรคการเมืองคือ ประชาชน

2. ปรับ ครม. เปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่

แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางโดยจะไม่สามารถทำให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งได้ แต่หลายครั้งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็นำมาสู่การปรับ ครม. และเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีใหม่ เพื่อลดแรงกดดันจากสภาหรือรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล รวมทั้งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้น

เช่น ย้อนกลับไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่นำโดยสมัคร สุนทรเวช ในปี 2551 มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัครและรัฐมนตรีอีก 7 คน แม้ผลการลงมติรัฐมนตรีทั้งหมดได้คะแนนไว้วางใจจากสภา แต่ก็ตามมาด้วยการลาออกของ นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ขณะนั้น ส่วนมาจากการได้คะแนนไว้วางใจน้อยกว่ารัฐมนตรีคนอื่น

หรือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 ที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจอภิสิทธิ์และรัฐมนตรีอีก 5 คน แน่นอนว่าผลการลงมติของรัฐมนตรีทุกคนได้รับความไว้วางใจจากสภา แต่หลังจากจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็นำมาสู่การปรับ ครม. โดยปรับรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อแผ่นดินออก เนื่องจาก ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ลงคะแนนไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลไว้

3. ปลดนายกฯ อาจได้นายกฯ ใหม่

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสี่ กำหนดว่า มติ “ไม่ไว้วางใจ” ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันส.ส. ในสภามีจำนวน 477 คน ดังนั้น ต้องมีเสียงไม่ไว้วางใจ 239 เสียงขึ้นไปลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” ก็สามารถทำให้นายกฯ หรือ รัฐมนตรีต้องพ่ายศึก พ้นจากตำแหน่งได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3)

แต่กรณีของนายกฯ นั้นมีความพิเศษกว่ากรณีของ รมต. ถ้าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง เพราะสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “ไม่ไว้วางใจ” จะส่งผลให้ รมต. “ทั้งคณะ” พ้นจากตำแหน่งด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) แต่รัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งเรื่องด้วยนายกฯ ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ ต้องปฏิบัติหน้าที่ “รักษาการ” ไปก่อนจนกว่าจะตั้งครม.ชุดใหม่เข้ามา

โดยขั้นแรกก่อนที่จะมี ครม. ชุดใหม่ ต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารก่อน แต่ทว่าในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากความเห็นชอบร่วมกันของรัฐสภา หรือหมายความว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. อีกทั้ง ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, สุดารัตน์ เกยุราพันธ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ชัยเกษม นิติศิริ, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ อนุทิน ชาญวีรกุล

นอกจากนี้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 272 เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือ ‘นายกฯ คนนอก’ ในช่วง 5 ปีที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยให้ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้ และถ้า ส.ส. และ ส.ว. มีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา ก็สามารถอนุมัติการเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชี เพื่อให้ใครมาเป็นนายกฯก็ได้ แต่ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. และ ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา