ประชุมสภา: กติกาเลือกตั้งใหม่ ใช้สูตร “หาร 500” ได้ระบบเลือกตั้ง MMA ฉบับดัดแปลง

6 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบ “มาตรา 23” ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว คือ เรื่อง “วิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.” ซึ่งเป็นมาตราสำคัญและจะส่งผลต่อที่นั่ง ส.ส. ในสภา

สำหรับผลการลงมติในมาตรา 23 ปรากฎว่า ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับ กมธ.วิสามัญ เสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียง 392 ต่อ 160 เสียง ต่อมา ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบกับคำแปรญัตติของ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล กมธ.เสียงข้างน้อย ด้วยคะแนนเสียง 354 ต่อ 162 เสียง ส่งผลให้วิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. เป็นแบบ “สูตรหาร 500” กล่าวคือ ให้นำคะแนนเสียงรวมของทุกพรรคการเมืองมาหารจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500 คน) แล้วถึงคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามสัดส่วนคะแนน ดังนี้

(1) คะแนนรวมทุกพรรค / จำนวน ส.ส.ทั้งหมด (500) = ‘คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน’

(2) คะแนนของแต่ละพรรค / คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน = จำนวน ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรค

(3) จำนวน ส.ส.พึงมี – จำนวน ส.ส.เขต = ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ทั้งนี้ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีจำนวน ส.ส.เขต มากกว่า ส.ส.พึงมี ให้พรรคการเมืองนั้นไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นให้จัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับในเบื้องต้น โดยให้จัดสรรตามจำนวนเต็มก่อน ถ้าหากไม่ครบตามจำนวน 100 คน ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งตามลำดับจนครบ

แม้ว่า สูตรคำนวณดังกล่าวจะมีความคล้ายกับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed Member Proportional: MMP) แต่สูตรดังกล่าวยังเปิดช่องให้จัดสรรที่นั่งแบบ ‘ปัดเศษ’ ได้ ทำให้พรรคเล็กยังมีโอกาสไปต่อ แต่ก็แลกมากับการเป็น ‘สภาสหพรรค’ แบบการเลือกตั้งปี 2562 ร่วมถึงลดโอกาสพรรคใหญ่แลนด์สไลด์ (ครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา) เหมือนเมื่อครั้งใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 ดังนั้น ระบบเลือกตั้งแบบที่เรียกว่า “สูตรหาร 500” จึงดูเป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment-MMA) ฉบับดัดแปลงเสียมากกว่า

ดูเปรียบเทียบการเขียนสูตรคำนวน หาร 100 vs หาร 500

ข้ความตามร่างฉบับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ หรือ “สูตรหาร 100”

มาตรา ๑๒๘ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วให้ดำเนินการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ และให้ดำเนินการคำนวณเพื่อหาผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ

(๒) ให้นำคะแนนรวมจาก (๑) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

(๓) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำ คะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ย ตาม (๒) เฉพาะส่วนที่เต็มคือจำนวนรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ

(๔) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็มและพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคำนวณตาม (๓) พรรคใด เป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีกหนึ่งคนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวนหนึ่งร้อยคน

(๕) ในการดำเนินการตาม (๔) ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันและจะทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เกินจำนวนหนึ่งร้อยคน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลาก ตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน

ให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองตามจำนวนที่ พรรคการเมืองนั้นได้รับตามผลการคำนวณตามวรรคหนึ่งได้รับเลือกตั้งเรียงตามลำดับหมายเลข ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นจนครบจำนวน แต่ต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จำนวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไป ตามมาตรา ๘๓ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อความตามร่างฉบับกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ขอแปรญัตติโดยนพ.ระวี มาศฉมาดล หรือ “สูตรหาร 500”

มาตรา ๑๒๘ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วให้ดำเนินการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ และให้ดำเนินการคำนวณเพื่อหาผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตำแหน่ง

(๑) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ

(๒) ให้นำคะแนนรวมจาก (๑) หารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมด ของสภาผู้แทนราษฎร ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีหนึ่งคน

(๓) นำผลลัพธ์ตาม (๒) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (๖) (๗) หรือ (๘) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

(๔) นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ ตาม (๓) ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น

(๕) ภายใต้บังคับ (๖) ให้จัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ ตาม (๔) เป็นจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยคน ในกรณีที่ มีเศษเท่ากันให้ดำเนินการตาม (๗)

(๖) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๓) ให้พรรคการเมืองนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจำนวนที่ได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับ การจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นำจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่ำกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๓) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มี ผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (๓)

(๗) ในการจัดสรรตาม (๖) แล้ว ปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรร จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยคน กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากัน จนทำให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อได้ครบจำนวนหนึ่งร้อยคน ให้นำค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจำนวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมือง ต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิ ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจำนวนค่าเฉลี่ย ดังกล่าวเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับสลาก

(๘) ในกรณีที่คำนวณตาม (๖) แล้ว ปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยคน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรร จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยคน โดยให้นำจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อย หารด้วยผลบวกของ หนึ่งร้อยกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวนหนึ่งร้อย และให้นำ (๕) มาใช้ ในการคำนวณด้วยโดยอนุโลม

(๙) เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรจนครบจำนวนแต่ต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชี รายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จำนวนที่ขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา ๘๓ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย